ครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน น่าจะเคยเจอปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน แย่งของกัน ร้ายแรงถึงลงไม้ลงมือใส่กัน และคุณพ่อคุณแม่ก็มักเลือกที่จะตัดปัญหาด้วยการสอนลูกว่า เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง
การปลูกฝังว่า เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง อาจสร้างความเจ็บช้ำทางใจให้กับลูกคนพี่ และส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องได้
ดังนั้น แทนที่จะสอนลูกว่าพี่ควรเป็นฝ่ายเสียสละ คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนความขัดแย้งระหว่างสองพี่น้องจอมแย่งให้กลายเป็นพี่น้องที่รู้จักแบ่งปันซึ่งกันและกัน และการสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปันแทนการเสียสละ จะมีประโยชน์กับลูกอย่างไร ชวนคุณพ่อคุณแม่มาลองทำความเข้าใจไปพร้อมกันนะคะ
1. ลูกจะมีพฤติกรรมเชิงบวก
เวลาที่ลูกคนพี่เล่นของเล่น เมื่อน้องมาร้องขออยากเล่นด้วย คุณพ่อคุณแม่มักจะเผลอสอนลูกคนพี่ให้ส่งของเล่นให้น้อง ด้วยการเตือนว่า เป็นพี่ต้องเสียสละ หรือเป็นพี่ต้องยอมให้น้องเสมอ พฤติกรรมเหล่านี้ของคุณพ่อคุณแม่ อาจสร้างความรู้สึกไม่พอใจ อึดอัด ต่อต้าน และทำให้ลูกคนพี่รู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบน้องเสมอ
แต่หากคุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนจากการสอนว่าพี่ต้องเสียสละ เป็นการสอนให้พี่น้องต้องแบ่งปันซึ่งกันและกัน เช่น ให้พี่ช่วยสอนน้องเล่นไปด้วย สลับกันเล่น สอนน้องให้ขอและรู้จักรอ หากพี่ยังอยากเล่นคนเดียวอยู่ ก็จะทำให้ลูกคนพี่รู้สึกถึงความเท่าเทียมของพี่กับน้อง และการมีเหตุผลของคุณพ่อคุณแม่ ทั้งยังช่วยส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกให้กับลูก เพราะหากลูกเป็นเด็กที่รู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือ และเห็นอกเห็นใจคนอื่น ก็มีโอกาสที่จะเป็นที่รักของคนรอบข้างได้ง่าย
2. ทำให้ลูกรู้จักการให้ด้วยความเต็มใจ
การสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างนิสัยเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้กับลูกได้ ดังนั้น แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะคอยย้ำเตือนว่าพี่ต้องเสียสละ ลองบอกเหตุผลที่พี่ควรแบ่งของเล่นกับน้องให้ลูกเข้าใจ เช่น ช่วยอธิบายว่าที่น้องงอแงเพราะน้องอยากเล่นกับลูก เราจะช่วยน้องยังไงดี… หรือแม้แต่การกล่าวชื่นชม เมื่อลูกยอมแบ่งของเล่นกับน้อง เพื่อให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจ และมีแรงบันดาลใจที่จะเป็นฝ่ายให้คนอื่นด้วยความเต็มใจต่อไป
3. ทำให้ลูกรู้จักเคารพสิทธิของตนเอง
สิ่งหนึ่งที่ทำให้การแบ่งปันกับเสียสละแตกต่างกันก็คือ การแบ่งปันมักเกิดจากความรู้สึกอยากให้ด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทั้งหมดที่ตัวเองมี หรือให้เพียงเล็กน้อย แต่การเสียสละ ลูกมักรู้สึกว่ากำลังถูกบังคับหรือฝืนใจให้ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เต็มใจ เช่น ยังอยากเล่นของเล่น แต่จำเป็นต้องส่งให้น้อง เพราะกลัวว่าจะถูกคุณพ่อคุณแม่ทำโทษ
ดังนั้น การสอนให้ลูกแบ่งปัน จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเข้าใจเรื่องสิทธิ์ของตัวเองมากกว่า โดยคุณพ่อคุณแม่อาจช่วยเสนอทางเลือกให้ลูกตัดสินใจเองได้ เช่น ลูกคิดว่าควรจะแบ่งให้น้องเล่น 10 นาทีได้ไหม หรือลูกคิดว่ามีของเล่นที่พอจะแบ่งกันเล่นกับน้องได้ไหม เพื่อให้ลูกได้มีส่วนในการคิดและตัดสินใจแก้ปัญหาในแนวทางของตัวเองได้
4. ทำให้ลูกมีสุขภาพจิตที่ดี
การเป็นฝ่ายให้นอกจากจะทำให้ผู้ที่ได้รับมีความสุขแล้ว ผู้ให้ก็จะรู้สึกมีความสุขและอิ่มเอมใจไม่แพ้กัน และเมื่อเรามีความสุข ก็จะทำให้ระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารเคมีแห่งความสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งเจ้าสารนี้จะช่วยทำให้อารมณ์ดี มีสมาธิ มีความจำดี มีความมั่นคงทางอารมณ์ และเมื่อพอเรามีอารมณ์ที่เป็นไปในทิศทางบวก ก็จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดการซึมเศร้าในเด็กได้ด้วยค่ะ
ดังนั้น แทนที่จะบังคับให้ลูกเสียสละ ลองเปลี่ยนมาเป็นสอนให้ลูกใจดีกับคนรอบข้างจะดีกว่านะคะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST