READING

สอนลูกให้ใจดี : แม้โลกจะใจร้ายไปบ้าง แต่ก็อยากให้ล...

สอนลูกให้ใจดี : แม้โลกจะใจร้ายไปบ้าง แต่ก็อยากให้ลูกใจดีกับคนอื่นให้เป็น

สอนลูกให้ใจดี

Angela C. Santomero ผู้เขียนหนังสือ Radical Kindness อธิบายสั้นๆ ว่า ความใจดี คือการมองเห็นด้วยหัวใจของเรา สำหรับเด็กเล็ก ความใจดีอาจแสดงออกด้วยการลูบหลังเพื่อนเมื่อรู้สึกเป็นห่วงหรืออยากปลอบใจ แบ่งคุกกี้ที่ชอบให้กับน้องชาย ส่วนเด็กโต อาจแสดงความใจดีในรูปแบบของการนั่งกินมื้อกลางวันกับเพื่อนที่นั่งกินอยู่ตามลำพัง ปลอบโยนเพื่อนที่กำลังเศร้า หรือการยื่นมือช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่กำลังของตัวเองจะสามารถทำได้

คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากมักจะกังวลว่าเมื่อลูกต้องออกไปเจอสังคมใหม่นอกบ้าน ลูกอาจจะต้องพบเจอกับคนใจร้าย ไม่มีน้ำใจ หรือกลั่นแกล้งรังแกลูกให้เจ็บช้ำน้ำใจ จึงต้องพยายามสอนให้ลูกระมัดระวังและปกป้องตัวเองจากคนใจร้ายเหล่านั้น จนอาจหลงลืมการ สอนลูกให้ใจดี กับคนอื่นไปพร้อมกันในวันที่โลกผลิตคนใจร้ายได้ง่ายดายคุณพ่อคุณแม่ยิ่งไม่ควรมองข้ามการ ปลูกฝังและส่งเสริมจิตใจที่ดีให้กับลูกน้อย ด้วยเทคนิค สอนลูกให้ใจดี ที่ทำได้ทุกวัน ดังต่อไปนี้

1. บอกลูกให้รู้ว่า ‘คนใจดี’ เป็นแบบนี้นี่เอง

NiceandKind_web_1

Tina Malti ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ระบุว่า คนใจดีมักจะแสดงความห่วงใยอย่างจริงใจ ลึกซึ้ง และเสียสละต่อผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และความใจดีนั้น จะประกอบด้วยอารมณ์ที่ดี มีความรู้ความเข้าใจที่ดี และมีพฤติกรรมที่ดี

#มีอารมณ์ที่ดี เช่น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความเคารพผู้อื่น และความภาคภูมิใจในตัวเองเมื่อได้ทำสิ่งที่ถูกต้องและดีต่อผู้อื่น

#มีความรู้ความเข้าใจที่ดี คือการช่วยเหลือคนอื่นในขอบเขตที่ไม่ทำให้ตัวเองหรือคนอื่นเดือดร้อน และสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะตามมาได้

#มีพฤติกรรมที่ดี คือการแสดงออกหรือการกระทำที่มาจากความตั้งใจที่ดี  เช่น การให้ความช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือ หรือปลอบโยนผู้อื่น

เมื่อองค์ประกอบทั้งสามนี้รวมกันอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีพลังในการเปลี่ยนแปลงและทำให้ลูกเป็นคนใจดีมากขึ้นเท่านั้น

Damon Korb จิตแพทย์และผู้เขียนหนังสือ The Rabbit Effect แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายให้ลูกฟังว่า คนใจดีเป็นอย่างไร ผ่านสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง รวมไปถึงความใจดีในรูปแบบอื่นๆ ที่ถูกต้องเหมาะสม และบอกกับลูกเสมอว่า หากเราไม่ต้องการให้คนอื่นปฏิบัติต่อเรายังไง เราก็ไม่ควรปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นนั้นเหมือนกัน

2. อ่านนิทาน เล่นบทบาทสมมติ กิจกรรมครอบจักรวาลที่ใช้กับลูกได้ดีเสมอ

NiceandKind_web_2

#เล่นบทบาทสมมติ Katherine Applegate ผู้เขียนหนังสือสำหรับเด็ก ระบุว่า เด็กจะไม่รู้ว่าความใจดีต้องแสดงออกอย่างไร จนกว่าเขาจะได้ลองเป็นคนใจดีเสียเอง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การเล่นบทบาทสมมติ และให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยสะท้อนความคิดให้ลูก เช่น สมมติว่าลูกเห็นเพื่อนถูกคนที่ตัวโตกว่ารังแก ลูกจะรู้สึกอย่างไร และจะทำอย่างไร…

#อ่านนิทานด้วยกัน คือวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะสอนหรือปลูกฝังแนวคิดต่างๆ ให้ลูก คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีเลือกนิทานที่มีตัวละครจิตใจดี  มีน้ำใจ และให้ความช่วยเหลือคนอื่น เพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีการแสดงของตัวละครในนิทานได้

3. ชวนลูกทำกิจกรรม ‘คนใจดีย่อส่วน’ (Micro Kindnesses)

NiceandKind_web_3

Micro Kindnesses คือกิจกรรมที่ให้ทุกคนในครอบครัวจะมาร่วมการเป็นคนใจดีแบบย่อส่วนไปพร้อมๆ กัน เริ่มด้วยการบอกตัวเองว่า “วันนี้ฉันจะเป็นคนใจดี!”

เมื่อปฏิบัติภารกิจไปแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่กลับมาบันทึกลงใน ‘สมุดคนใจดี’ และอย่าลืมระบุด้วยว่า การใจดีของลูกในวันนั้น ส่งผลต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างไร และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องกระตุ้นให้ลูกรู้จักรับผิดชอบต่อ ‘ความใจร้าย’ ของตัวเองด้วย

ยิ่งเด็กๆ ได้ลองทำภารกิจนี้เป็นประจำ จะส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงบวก เพราะความใจดีเป็นเหมือนกล้ามเนื้อ ยิ่งฝึกทำและพูดในสิ่งที่ดีๆ ก็จะเกิดการพัฒนา จนกลายนิสัยติดตัวลูกต่อไปนั่นเอง

ภารกิจนี้จะคล้ายคลึงกับการศึกษาจากทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ซึ่งระบุว่า เมื่อเด็กนักเรียนอายุ 9-11 ปี ที่ได้รับคำแนะนำให้แสดงความใจดีต่อคนอื่น 3ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อทำต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ เด็กกลุ่มนี้มีทักษะทางสังคมที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สังเกตได้จากการเป็นยอมรับของเพื่อนเพิ่มมากขึ้น

4. โลกใจร้ายแค่ไหน แต่ลูกจะต้องใจดีกับตัวเองเสมอ

NiceandKind_web_4

#จงใจดีกับตัวเอง Carla Naumburg ผู้เขียนหนังสือ How to Stop Losing Your Sh*t With Your Kids ระบุว่า นอกเหนือจากการปลูกฝังให้ลูกใจดีกับผู้อื่น แต่ก็อย่าละเลยการเป็นคนใจดีต่อตัวเอง สำหรับลูกวัยอนุบาล สามารถใจดีกับตัวเองได้ง่ายๆ เช่น รู้จักรักร่างกายของตัวเอง ดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน นอนหลับให้เต็มอิ่ม มีความสุขอย่างเต็มที่

หากการคิดดีและทำสิ่งที่ดีๆ ต่อตัวเองและคนอื่นจะเป็นรากฐานของการมีสังคมที่ดี การสร้างเด็กๆ ให้เติบโตเป็นคนใจดีจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สังคมของลูกเป็นสังคมที่น่าอยู่ต่อไปในอนาคต

 

อ่านบทความ: สอนลูกให้ใจดีกับตัวเอง (self-compassion) : 4 เทคนิค สอนให้ลูกมีความเห็นอกเห็นใจตัวเอง
อ้างอิง
whatsupmoms
journals.plos
parents

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST