จากข่าว จี้ สพฐ. ยกเลิก ‘ใส่คิวอาร์โค้ด’ ตำราเรียน เรามาสำรวจความเห็นผู้ใหญ่และผู้ปกครองว่า เห็นด้วยกับการมี QR Code ในหนังสือเรียนสำหรับเด็กหรือไม่
1.
ถ้ามี QR Code อยู่ในหนังสือเด็กมัธยมแล้วเหมาะ แต่ถ้าอยู่ในหนังสือเด็กประถมอาจจะยังไม่เหมาะสม
—คุณพ่อ ชวาลชัย, อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว
“ลูกเรียน อนุบาล 2 ในหนังสือเรียนยังไม่มี QR Code แต่คิดว่า ถ้าเป็นหนังสือสำหรับเด็กโตประมาณมัธยมแล้วก็เหมาะ เอาไว้สำหรับหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือเรียนได้ ทุกวันนี้เด็กควรเรียนรู้จากทั่วโลก ไม่ใช่ในหนังสือเรียนอย่างเดียว เด็กควรจะหาข้อมูลเพิ่มเติม ต่อยอด หรือข้อถกเถียงกับในหนังสือ ไม่ใช่เชื่อแต่สิ่งที่อ่านอย่างเดียว แต่ถ้าประถมก็อาจจะเด็กเกินไป”
2.
QR Code น่าจะทำให้การเรียนการสอนสนุกขึ้น
—คุณพ่อแอน ปรัชญา, อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว
“ลูกเรียน ป.1 แต่ในหนังสือเรียนลูกยังไม่มี QR Code คิดว่าถ้ามีก็คงสนุกดี คำตอบรวมๆ ก็คือ ไม่ได้เห็นว่าต้องเอาออก เพราะน่าสนุกดี แต่เนื้อหาก็ต้องพรูฟนั่นแหละว่าดูแลทั่วถึงรัดกุมรอบคอบแค่ไหน”
3.
ควรเอา QR Code ออก เพราะไม่สนับสนุนให้เด็กให้มือถือหรือแท็ปเล็ตเกินความจำเป็น
—คุณป้าของหนูมาลี (อายุ 1 ขวบ), อาชีพ ฟรีแลนซ์
“คิดว่าควรเอาออก เพราะส่วนตัวไม่ได้สนับสนุนให้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็ปเล็ตเกินความจำเป็น เอาไว้เพื่อความบันเทิงและผู้ปกครองควบคุมแบบกำหนดเวลาดีกว่า ส่งผลเสียต่อสายตาด้วย คือเอามือถือไว้เพื่อบันเทิง หนังสือเรียนก็มีเนื้อหาให้ครบ ถ้าครูให้ทำรายงานโดยมีการค้นคว้าเพิ่มเติม ตรงนี้ค่อยใช้อินเทอร์เน็ตก็ได้”
4.
QR Code ช่วยให้เด็กมองเห็นภาพและเข้าใจเนื้อหาชัดเจนขึ้น
—คุณเอิร์น ธนพร, อาชีพ นักเรียน
“ที่เรียนอยู่ตอนนี้ หนังสือเรียนไม่มี QR Code แต่ถ้ามีก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กรุ่นต่อไป จะได้มองเห็นภาพและเข้าใจเนื้อหาชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องมีกฎระเบียบ ในการใช้เทคโนโลยี เพื่อไม่ให้เด็กใช้เทคโนโลยีนอกเหนือจากการหาความรู้”
5.
มี QR Code แต่ไม่ได้ใช้ ก็ไม่มีประโยชน์
—ครูฝัน พิรานันท์, อาชีพ ครูสอนวิทยาศาสตร์
“หนังสือที่ใช้สอนบางเล่มก็มี QR Code บางเล่มก็ไม่มี แต่ทั้งครูและนักเรียนก็ไม่เคยได้ใช้เลย เพราะเราไม่อนุญาตให้เด็กเอาโทรศัพท์มาใช้ และส่วนใหญ่เด็กๆ ก็ไม่มีมือถือใช้ ทำให้แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก QR Code เลย”
6.
เด็กประถมตัวเล็กๆ ยังไม่พร้อมที่จะใช้ QR Code ในการเรียนรู้
—ครูคิม รวิณัท, อาชีพ ครูสอนภาษาไทยชั้นประถมปลาย
“มี QR Code ในหนังสือเรียนมันก็ดีนะ แต่เหมาะสำหรับเด็กที่โตแล้ว เช่น เด็กมหาวิทยาลัย ส่วนตัวไม่เห็นด้วยถ้าจะให้เด็กประถมใช้ QR Code เราคิดว่าเด็กประถมตัวเล็กๆ ยังไม่พร้อมที่จะใช้ เด็กยังไม่รู้จักการแยกแยะแบ่งเวลาที่ดีพอ ถ้าเอามาให้เด็กใช้ ก็ต้องวางแผน หาวิธีการควบคุมการใช้งานของเด็กว่าให้เขาใช้โทรศัพท์มือถือหาข้อมูลเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้อาจจะทำให้สายตาเด็กมีปัญหาได้ เรามองว่าปัญหาอาจจะเยอะกว่าประโยชน์”
7.
QR Code อาจเป็นการเปิดช่องทางให้เด็กเล่นเกมในเวลาเรียน
—คุณกานต์ กมลพรรณ, อาชีพ แม่ค้าขายกระเป๋าถักนิตติ้งออนไลน์
“ไม่เห็นด้วยนะที่จะมี QR Code ในหนังสือเรียน เพราะเราไม่สามารถห้ามการใช้งานสมาร์ตโฟนของเด็กๆ ได้ เด็กอาจจะเอามือถือขึ้นมาสแกน QR Code ตามคำสั่งคุณครูก็จริง แต่พวกเขาคงไม่หยุดอยู่แค่นั้น คงจะเอามือถือมาเปิดเล่นเกมต่อ”
8.
วิธีการเรียนรู้มีหลากหลายวิธี ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ QR Code เพียงอย่างเดียว
—คุณฟ้า ธนัทศร, อาชีพ เจ้าหน้าที่ตรวจอาวุธและวัตถุอันตรายประจำสนามบินลำปาง
“มองว่าไม่มี QR Code น่าจะดีกว่า เพราะจุดประสงค์ของการมี QR Code คือให้เด็กเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะเข้าถึงได้การเรียนรู้แบบนั้นได้ทุกคน ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะมีโทรศัพท์เพื่อมาสแกน เราอาจจะต้องมาทบทวนจุดประสงค์ที่แท้จริงว่ามี QR Code ไปเพื่ออะไร เรามีไว้เพื่อต้องการให้เด็กเรียนรู้ แต่วิธีการเรียนรู้มีหลากหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องใช้ QR Code เพื่อสแกนค้นคว้าหาความรู้อย่างเดียว”
9.
หนังสือเรียนหนักมาก การมี QR CODE ส่งเสริมให้เด็กอ่านได้ทุกที่
—คุณแนต อนัญญา, อาชีพ ดิจิทัลแอนด์คอนเทนต์มาร์เกตติ้ง
“รู้สึกว่าหนังสือเรียนควรมี เพราะหนังสือเรียนหนักมาก เด็กต้องแบกไปทุกที่ การมี QR Code จะทำให้สะดวกมากขึ้น คราวนี้จะอ่านที่ไหนก็อ่านได้ เหมาะกับคนในยุคสมัยนี้ แต่ก็ต้องระวังว่าเด็กจะติดมือถือ มองหน้าจอมากจนเกินไป พ่อแม่จึงต้องควบคุมในเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย”
10.
เทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าหนังสือเรียนมี QR Code อยากให้มีอยู่ในหนังสือเรียนของเด็กโตมากกว่า เพราะง่ายต่อการค้นหาข้อมูล เด็กเล็กควรเรียนรู้ไปตามวัย
—คุณจูน กานศ์ภัส, อาชีพ นักศึกษา
“อยากให้หนังสือเรียนมี QR Code เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีก่อให้เกิดความสะดวกสบาย แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การมี QR Code ในหนังสือจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่จะช่วยให้เกิดความสะดวกสบายในการหาความรู้มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นข้อดี แต่ถ้ามีในหนังสือทุกประเภทก็จะกลายเป็นข้อเสีย ก่อให้เกิดผลเสียต่อสายตา อยากให้มีอยู่ในหนังสือเรียนของเด็กโตมากกว่า เพราะง่ายต่อการค้นหาข้อมูล หากอยู่ในหนังสือของเด็กเล็กส่งผลให้เด็กติดหน้าจอจนเกินไป เด็กเล็กควรเรียนรู้ไปตามวัย”
COMMENTS ARE OFF THIS POST