เดินทางเข้าสู่ Episode ที่ 100 แม่นิดนกจะมาชวนคุยเกี่ยวกับอาหารการกินของลูก และความกังวลใจของพ่อแม่ ว่าเราจะบาลานซ์ระหว่างความชอบของลูกกับความสบายใจของพ่อแม่ที่จะต้องปล่อยให้ลูกกินอาหารในแบบของตัวเองได้อย่างไร
1. ของที่อร่อยมักจะไม่ดีต่อสุขภาพ
โลกนี้ช่างไม่ยุติธรรม เพราะของที่อร่อย เช่น ขนมนมเนย เบเกอรี ปิ้งย่าง ชาบู ที่เราชอบก็มักจะกลายเป็นของที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่พอเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ก็รู้สึกไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการกินเท่าไร
แต่ว่าพอมีลูก เราเชื่อว่าไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะมีพื้นฐานการกินมาแบบไหนก็น่าจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น เช่น ตอนท้องก็จะมีคำถามว่ากินกาแฟได้ไหม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไหม เพราะในบางประเทศคนท้องก็สามารถกินไวน์หรือแชมเปญในชีวิตประจำวันทั่วไปได้ แต่พอเป็นวัฒนธรรมแบบเอเซีย เราไม่คุ้นเคยก็คิดว่าไม่กินไปเลยดีกว่า หรือแม้คุณหมอจะบอกว่าคนท้องกินกาแฟได้นะ เราก็ยังคิดว่าไม่กินก็น่าจะดีกว่า กาแฟก็เลยถูกตัดไป
แล้วพอช่วงท้องไตรมาสที่สอง แม่จะความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวาน ก็ต้องควบคุมการกินอาหาร ลดของหวาน เพื่อไม่ให้มีน้ำตาลในเลือดสูง และพอคลอดลูก ก็ใช่ว่าจะกลับมากินตามปกติได้ เพราะต้องให้นมลูก ซึ่งคุณภาพของอาหารที่แม่กินเข้าไปก็มีผลต่อคุณภาพน้ำนมที่ส่งต่อไปให้ลูก
2. อาหารมื้อแรกของลูก
พอลูกเข้าสู่ช่วงวัยกินอาหารอื่นได้นอกจากนมแม่ ถ้าเป็นวิธีการแบบเดิมพอลูกอายุประมาณสี่เดือนก็เริ่มทดสอบได้ว่าลูกแพ้อาหารอะไรบ้าง เช่น เริ่มจากข้าวบด ผักบด เนื้อสัตว์บด ลองทีละชนิด และค่อยๆ ไล่ระดับไปเรื่อยๆ แต่ข้อมูลยุคใหม่ก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องทดสอบ เมื่อถึงเวลา ก็ให้ลูกกินไปเลย ถ้าลูกแพ้อะไรก็ค่อยถอยกลับมา เช่น คนที่ให้ลูกกินแบบ Baby-Led Weaning ก็จะปล่อยให้ลูกกินได้กินอาหารที่หลากหลาย และคอยสังเกตว่าถ้าลูกมีอาการแพ้ก็ค่อยกลับมาดูกันว่าเกิดจากอาหารอะไร
ชุดความรู้ต่อมาก็คือ อาหารของเด็กเล็กไม่ควรปรุงรสชาติอะไรทั้งสิ้น อย่างเราให้ลูกกินผักนึ่งหรือหมูสับปั้นก้อนก็ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงอะไรเลย เพราะเครื่องปรุงไม่ดีต่อระบบร่างกายและไตของเด็ก
นอกจากนั้น การทำอาหารด้วยรสธรรมชาติของวัตถุดิบ จะช่วยให้ลูกติดกินอาหารที่มีรสชาติ เช่น ชอบกินรสเปรี้ยว หวาน เค็ม ก็จะทำให้ลูกกินอาหารได้หลากหลายมากขึ้น
แต่ถ้าวันไหนที่ต้องพาลูกออกไปกินข้าวนอกบ้าน โดยส่วนตัวเราจะไม่ไปจุกจิกกับร้านอาหารมาก ก็จะพยายามสั่งอาหารที่ง่าย ทั้งต่อตัวเราเองและง่ายต่อร้านอาหาร เช่น ถ้าต้องสั่งบะหมี่น้ำให้ลูกกิน ก็จะไม่ถึงขั้นระบุว่า ห้ามใส่ผงชูรส ไม่เอากระเทียมเจียว หรืออะไรที่จุกจิกมากเกินไป ก็เลยถือเป็นประตูด่านแรกที่จะพาลูกไปรู้จักกับอาหารที่มีรสชาติจากเครื่องปรุงอื่นๆ ไม่เหมือนที่เคยกินมา
และก็เป็นด่านแรก ที่จะทดสอบว่าลูกจะยืนหยัดในการกินอาหารในแบบที่แม่ชอบหรือแม่เชื่อว่าดีเท่านั้นได้หรือไม่ เพราะเรารู้สึกว่าคนเป็นแม่ก็ไม่สามารถที่จะปิดกั้นลูกจากการกินอาหารที่เขาชอบไปได้ตลอด
วิธีการของบ้านเราก็คือ ในหนึ่งวันมีอาหารสามมื้อ ถ้ามีมื้อหนึ่งที่สั่งอาหารมาจากนอกบ้าน ก็ถือว่าเป็นการให้ลูกได้กินของอร่อยบ้าง ส่วนมื้ออื่นก็กลับมากินอาหารในแบบที่แม่ทำเหมือนเดิม
แต่เมื่อลูกโตขึ้น ความกังวลหรือจริงจังเรื่องการทำอาหารให้ลูก ก็จะค่อยๆ ผ่อนปรนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะลูกยังต้องออกไปใช้ชีวิตหรือไปกินข้าวนอกบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ
ลูกเราชอบกินขนมไทย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความหวานและน้ำตาลมาก นั่นก็ถือเป็นการทลายกำแพงเรื่องรสชาติอาหารที่เคยพยายามสร้างมาทั้งหมด แต่ก็ไม่เป็นไร
3. บาลานซ์ความชอบของลูกกับความชอบของแม่
เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าอะไรที่กินแล้วดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในความเป็นจริงคนเราอาจจะไม่สามารถยึดหรือทำตามที่ตำราบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือไม่สามารถทำตามตลอดเวลาได้ เราต้องเข้าใจเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่เรามี และปรับเปลี่ยนหลักการที่รู้มาให้เขากับตัวเองได้
ตอนลูกเราเล็กๆ ก็ได้กินแต่นมแม่ พอโตขึ้นมาถึงวัยที่เริ่มกินนมกล่อง ถึงแม้จะเป็นรสจืดธรรมดา แต่ลูกก็จะได้รู้ว่าความจริงแล้วนมกล่องรสจืดนี่อร่อยกว่านมแม่ตั้งเยอะ เขาก็จะเริ่มไม่อยากกินนมแม่ไปเองพอลูกเข้าโรงเรียน โรงเรียนก็จะให้เด็กๆ เตรียมนมกล่องของตัวเองไป เวลาไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตเขาก็เริ่มจำได้ว่า เพื่อนคนอื่นกินนมแบบไหน และบอกได้ว่าตัวเองอยากลองกินนมเหมือนของเพื่อนดูบ้าง ซึ่งอาจจะเป็นนมรสชาติอื่นๆ เช่น นมรสช็อกโกแลต รสสตรอว์เบอร์รี เราก็จะเปิดโอกาสให้ลูกลอง แต่ก็แอบกังวลว่าจะให้ลูกกินนมรสชาติอื่นๆ ดีไหม เพราะมันเป็นจุดวัดใจว่าถ้าให้ลูกกิน แล้วลูกชอบ เขาก็จะติดกินนมรสชาตินี้ไปเลยนะ แต่สุดท้ายเราคิดว่าจะปิดกั้นลูกไว้กับนมรสจืดอย่างเดียวคงไม่ได้ ก็ต้องให้เขาได้ลองอยู่ดี
นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้หลังจากที่ลูกค่อยๆ เติบโต คือการยอมรับว่าสังคมและโลกของเขากว้างขึ้น เขาจะเริ่มมีชีวิตที่มาจากการตัดสินใจของตัวเองมากขึ้นทุกวัน เราอาจจะยังไม่ต้องด่วนตัดสินหรือกลัวว่าถ้าลูกไปกินอาหารที่มีรสชาติอย่างนั้นแล้วจะไม่กลับมากินรสชาติที่เราอยากให้กินอีก เพราะบางทีเด็กก็มีชุดความคิดหลายอย่างที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เช่น ลูกรู้ว่าตัวเองชอบกินนมรสชาติแบบนี้ แต่ก็เข้าใจเวลาที่ต้องกินนมรสจืดที่บ้าน แบบนี้หรือเปล่าคือสิ่งที่เราอยากเห็นจากลูก
4. ไมโลเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี
วันก่อนพาลูกไปฉีดวัคซีน ซึ่งธรรมดาของเด็ก การฉีดวัคซีนคือความทุกข์ระทมของเขา แต่พอกลับออกมา เขาก็เปิดกระเป๋าหยิบไมโลออกมานั่งกิน เหมือนได้ไมโลที่ชอบกินเป็นรางวัลปลอบใจ ซึ่งพ่อแม่บางคนจะรู้สึกไม่สบายใจเวลาเห็นลูกกินเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ไมโลก็เลยพัฒนาจากสูตรเดิม มาเป็น ‘ไมโลสูตรน้ำตาลน้อยกว่า’ เพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่ทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจลง จนเหลือน้ำตาลทั้งหมดเพียง 12 กรัม ซึ่งเป็นน้ำตาลจากแลคโตสในนมธรรมชาติ 7 กรัม มอลโตสในมอลต์สกัดจากข้าวบาร์เล่ย์ 1 กรัม และเป็นน้ำตาลทรายเพียงแค่ 4 กรัม ทำให้ได้รสชาติหวานน้อย แต่ยังคงความอร่อยและได้สารอาหารตามแบบฉบับไมโล นี่คือการประนีประนอมระหว่างรสชาติที่ลูกชอบกับความสบายใจของพ่อแม่ที่ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะได้รับความหวานจากน้ำตาลทรายมากเกินไป
5. ส่งเสริมทักษะให้ลูกดีกว่า
เพราะพ่อแม่อย่างเราไม่สามารถปิดกั้นหรือกำกับลูกตลอดไปได้ วันหนึ่งเขาก็จะหลุดจากการควบคุมของเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือการทำให้ลูกมีความสามารถในการควบคุมและกำกับตัวเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะทาง EF หรือ Executive Functions ที่เด็กๆ ควรมี เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกสามารถรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีกับตัวเอง ทักษะนี้จะที่ไม่ได้ถูกใช้กับเรื่องอาหารอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต
COMMENTS ARE OFF THIS POST