READING

ลูกเป็นไข้ : กลางคืนตัวร้อนจี๋ กลางวันปกติดี เอ๊ะย...

ลูกเป็นไข้ : กลางคืนตัวร้อนจี๋ กลางวันปกติดี เอ๊ะยังไง?

ลูกเป็นไข้

คุณพ่อคุณแม่เคยเจอปัญหาลูกชอบมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ช่วงเย็น เช่น ไม่ยอมกินข้าว อ่อนเพลีย และงอแงมากกว่าปกติ

พอตกกลางคืน ก็พบว่า ลูกเป็นไข้ ตัวร้อนจี๋ ต้องคอยเช็กอาการตลอดทั้งคืน และต้องคอยลาป่วยกับคุณครูในตอนเช้า

แต่พอกลางวัน วัดไข้แล้วอุณหภูมิร่างกายก็กลับเป็นปกติ วิ่งเล่นซนเหมือนเดิมได้ คุณพ่อคุณแม่ก็เบาใจ จนกระทั่งช่วงเย็น ลูกก็มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ และไข้ขึ้นอีกครั้งตอนกลางคืน วนลูปแบบนี้ประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะลดและหายเป็นปกติได้เอง

เพื่อความสบายใจ เราชวนคุณพ่อคุณแม่มาไขข้อข้องใจว่า ลูกเป็นไข้ ตอนกลางคืน แต่ตอนกลางวันกลับหายเป็นปกติ และวิธีลดไข้ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการของลูกได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องกันค่ะ

1. สนามรบของร่างกายที่เรียกว่า ‘ไข้’

sicknight_web_1

เมื่อลูกไข้ขึ้นต่ำๆ ตั้งแต่ 37.5 – 38.4 องศาเซลเซียส หรือว่ามีไข้สูง 38.5 – 39.4 องศาเซลเซียส จนกระทั่งไข้ขึ้นสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส แสดงว่าร่างกายของลูกกำลังต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส และระบบภูมิคุ้มกันของลูกกำลังทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อฆ่าเชื้อโรคนั้น

2. สมรภูมิรบในร่างกาย มักต่อสู้กับเชื้อโรคในตอนกลางคืน

sicknight_web_2

Elizabeth Meade กุมารเวชศาสตร์ชาวสวีเดน ระบุว่า ไข้ขึ้นตอนกลางคืนคือ กลยุทธ์ของร่างกายที่สร้างขึ้นเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่กำลังมาโจมตีร่างกาย และระบบภูมิคุ้มกันของเด็กๆ ก็กำลังต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้อยู่ ซึ่งสัมพันธ์กับฮอร์โมนลดการอักเสบของร่างกายสองชนิด คือ คอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ที่จะลดลงตามธรรมชาติในขณะที่นอนหลับ ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่ในภาวะตื่นตัวสูง ไข้ขึ้นได้ง่ายในตอนกลางคืน อีกทั้งอุณหภูมิร่างกายเองที่ค่อยๆ สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงตอนเย็น เมื่อรวมกับระบบภูมิคุ้มของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้มีโอกาสไข้สูงขึ้นในตอนกลางคืนได้นั่นเอง

3. เสริมทัพให้ลูกเอาชนะไข้ขึ้นตอนกลางคืน

sicknight_web_3

เมื่อลูกเริ่มมีอาการเป็นไข้ตั้งแต่หัวค่ำ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดไข้ให้ลูกได้ในทันที เพื่อป้องกันภาวะชักจากไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี ด้วยวิธีการเบื้องต้น เช่น กินยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ทันที และให้ลูกดื่มน้ำมากๆ

– กินยาลดไข้ ที่ใช้บ่อยที่สุดคือ พาราเซตามอล ที่มีทั้งแบบหยด 10 มิลลิกรัม/0.1 มิลลิลิตร แบบน้ำที่มีตัวยาตั้งแต่ 120 มิลลิกรัม/ช้อนชา 160 มิลลิกรัม/ช้อนชา และ 250 มิลลิกรัม/ช้อนชา จำนวนและปริมาณที่ให้ลูกกินจะขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักตัวของลูก โดยให้กินยาลดไข้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรกินเกิน 4 โดสใน 24 ชั่วโมง และไม่ควรกินต่อเนื่องนานเกิน 5 วัน

– ห้ามกินแอสไพรินลดไข้ เพราะมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิด Reye’s syndrome แม้ว่าจะเป็นภาวะที่พบได้ยาก แต่ก็ส่งผลให้ตับและสมองบวม เกล็ดเลือดต่ำ เพิ่มภาวะเลือดออกมากขึ้น ถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหากเป็นไข้เลือดออก และที่สำคัญไม่ควรให้ลูกน้อยอายุต่ำกว่า 2 เดือน กินยาลดไข้โดยไม่ได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนนะคะ

– ยาลดไข้ขวดเก่ากินแล้วไข้ไม่ลด อาจเป็นเพราะการกินยาลดไข้ขวดเดิม ที่เปิดใช้แล้วนานเกิน 3-6 เดือน แนะนำว่าให้ลูกกินยาลดไข้ขวดใหม่ หรือไม่เก็บไว้นานเกิน 1 เดือนจะดีที่สุดค่ะ

– ปิดแอร์เช็ดตัวลูก ห้ามใช้น้ำเย็นหรือน้ำใส่น้ำแข็ง ใช้ผ้าขนหนูนุ่มๆ 3-4 ผืน ชุบน้ำอุณหภูมิห้องปกติ บิดหมาดๆ เช็ดตามตัวของลูก แล้วพักผ้าไว้ที่ข้อพับ คอ รักแร้ หรือจุดอับ เพราะเป็นจุดที่มีความร้อนเยอะ ควรชุบน้ำใหม่ทันทีที่ผ้าเริ่มอุ่น เปลี่ยนน้ำใหม่ทันทีที่น้ำเริ่มอุ่น เช็ดตัวลูกประมาณ 5 นาที ไข้จะเริ่มลด และภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังเช็ดตัว ไข้ก็จะลดลง

4. กลางคืนตัวร้อนจี๋ กลางวันกลับเป็นปกติดี

sicknight_web_4

Dr. Alana Biggers อายุรแพทย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแพทย์อิลลินอยส์ ในนครชิคาโก ระบุว่า เพราะปกติอุณหภูมิในร่างกายคนเราจะลดลงตอนกลางวัน ส่งผลให้ไข้ลดลงตามไปด้วย

อีกทั้งยังมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลให้ไข้ลดลงในตอนกลางวัน ส่วนหนึ่งเพราะหลังจากที่ตื่นขึ้นในตอนเช้า เด็กๆ มีกิจกรรมหรือกิจวัตรอื่นๆ มาเบี่ยงเบนความสนใจจากการเจ็บป่วย

การได้ออกมารับแสงแดดอ่อนๆ และสายลมเบาๆ ตามธรรมชาติ รวมทั้งการได้อาบน้ำอุณหภูมิปกติสักหน่อย นอกจากจะช่วยลดไข้ต่ำๆ ได้แล้ว ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกสดชื่นขึ้นในตอนกลางวันได้ดีขึ้น

อาการไข้ขึ้นตอนกลางคืน ลดลงในตอนกลางวัน โดยส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย และมักจะดีขึ้นใน 48-72 ชั่วโมงหรือ 3-5 วัน แต่หากไข้ขึ้นนานกว่านี้ ร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ซึมลง กินไม่ได้ อาเจียน ควรรีบพาไปโรงพยาบาลนะคะ

อ้างอิง
goodrx
healthline
gleneagles
blog.swedish.org

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST