แม้การเรียนออนไลน์จะเป็นทางออกให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือในช่วงเวลาที่มีโรคระบาดโควิด-19 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการนั่งเรียนผ่านหน้าจอ ไม่ได้พบปะคุณครู ไม่ได้วิ่งและคุยเล่นกับเพื่อน ก็ไม่ใช่วิธีที่เหมาะที่สุดสำหรับเด็กๆ อยู่ดี
จากการสำรวจสุขภาพจิตของเด็กๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2020 พบว่า เด็กที่เรียนออนไลน์ มีแนวโน้มสุขภาพจิตแย่ลงมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เด็กเรียนตัวต่อตัวกับครู สุขภาพจิตแย่ลง 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพอจะบอกได้ว่าเด็กๆ ต้องการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการเข้าสังคมพบเจอคุณครูและเพื่อนๆ ที่โรงเรียนมากกว่าการเรียนผ่านหน้าจออุปกรณ์ใดๆ
แต่ต้องยอมรับว่าในสถาaนการณ์เช่นนี้ เด็กๆ คงไม่สามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติได้ในเร็ววัน แล้วอย่างนี้ พ่อแม่อย่างเราจะช่วยลูกบรรเทาความเครียดจากการเรียนออนไลน์ได้อย่างไรบ้าง
วันนี้ M.O.M มีวิธีช่วยลูกลดความเครียดจากการเรียนผ่านหน้าจอมาฝากกันค่ะ
1. เปิดโอกาสให้ลูกได้พูด
คุณพ่อคุณแม่อาจเห็นว่า ลูกก็พูดจาโต้ตอบกับคุณครูทางหน้าจอได้ดี แต่อาจไม่รู้ว่าการที่เด็กๆ ไม่ได้รับการโอบกอด สัมผัส หรือปลอบโยนจากคุณครูที่เขารัก ไม่ได้เล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่เขาคิดถึง ก็ทำให้เกิดความเครียด และจะกลายเป็นความเครียดที่สะสมได้ หากลูกไม่ได้ระบายความในใจของตัวเองออกมา
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าเรื่องการเรียนออนไลน์ของตัวเองให้ฟังบ่อยๆ เช่น ถามว่าลูกรู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ ชอบหรือไม่ชอบ วันนี้คุณครูสอนยากเกินไปไหม มีตรงไหนที่ลูกไม่เข้าใจและไม่มีโอกาสได้ถามหรือเปล่า สำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังที่ดี ไม่ต่อว่าหรือตัดสินว่าเป็นความผิดของลูก และไม่ควรพยายามเปลี่ยนความคิดของลูก แต่รับฟังด้วยความเข้าใจ ปลอบใจ และให้กำลังใจลูกเสมอ
2. มีเวลาให้ลูกพัก
การนั่งเรียนอยู่หน้าจอไม่ใช่งานสบาย ผู้ใหญ่อย่างเรานั่งทำงานนานๆ ยังเหนื่อยและเมื่อยล้า ต้องหาเวลาออกมาเดินยืดเส้นยืดสาย เด็กๆ ก็เป็นอย่างนั้นค่ะ
วิธีที่จะช่วยให้ลูกหายเหนื่อยล้าจากการเรียนได้ก็คือให้เวลาลูกได้ผ่อนคลาย พักสมอง และพักสายตาจากการเรียนบ้าง เช่น ให้ลูกนอนเล่น วิ่งเล่นนอกบ้าน เล่นของเล่น หรือทำสิ่งประดิษฐ์ที่อยากทำได้ตามอัธยาศัย เพื่อให้ลูกมีพลังที่จะกลับมานั่งเรียนต่อไป
3. ไม่เพิ่มเนื้อหาการเรียนให้ลูก
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจเป็นห่วงว่าลูกจะเรียนไม่ทันเพื่อน หรือเนื้อหาที่คุณครูสอนออนไลน์จะน้อยเกินไป กลัวว่าลูกจะได้รับความรู้ไม่เพียงพอ หรือไม่อยากให้ลูกใช้เวลาว่างกับการเล่นมากเกินไป ก็เลยพยายามหาคอร์สเรียนให้ลูกเรียนเสริมนอกเวลาเรียนมากขึ้นไปอีก
หากเป็นไปได้คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนเป็นหากิจกรรมให้ลูกทำร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องจ้องหน้าจอ ไม่เครียด แต่ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแทนจะดีกว่า
4. ให้ลูกได้ติดต่อกับเพื่อนๆ บ้าง
การเล่นกับเพื่อน ไม่ได้เป็นแค่การเล่นสนุกของเด็กๆ แต่ยังมีความหมายต่อการสร้างทักษะ พัฒนาการ และการเรียนรู้ด้านต่างๆ
แต่สถานการณ์เช่นนี้ การได้ออกไปวิ่งเล่น พูดคุยกับเพื่อนก็เป็นเรื่องยาก แม้จะได้เห็นหน้ากันในเวลาเรียนออนไลน์ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดที่เด็กๆ ต้องการ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสให้ลูกได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในเวลาอื่นๆ ที่เหมาะสมนอกจากเวลาเรียนบ้าง อาจจะเป็นการพูดคุยผ่านวิดีโอคอล การนัดหมายเอาของขวัญไปให้หรือแลกเปลี่ยนของเล่นกันบ้างนานๆ ครั้ง เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว่าถูกตัดขาดจากเพื่อนและสังคมที่คุ้นเคย และพร้อมที่จะกลับมาเจอกันในวันที่สถานการณ์ดีขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST