READING

Recap: The Rookie Mom EP88: เปิดเทอมใหม่ พ่อแม่ว้า...

Recap: The Rookie Mom EP88: เปิดเทอมใหม่ พ่อแม่ว้าวุ่น กับโควิดระลอกใหม่ที่แสนวุ่นวาย

Recap: The Rookie Mom

สถานการณ์ของ COVID-19 ในประเทศไทยยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ถึงแม้โรงเรียนจะเปิดเทอมให้เด็กๆ ได้กลับมาเรียนหนังสือกันอีกครั้ง แม้หลายโรงเรียนจะใช้วิธีเรียนออนไลน์กับเด็กๆ แต่พ่อแม่ ก็ไม่สามารถสบายใจได้ เมื่อโรคระบาดดูเหมือนจะเข้ามาประชิดครอบครัวของเรามากขึ้นทุกที

The Rookie Mom Ep. นี้แม่นิดนก จึงชวน หมอหนึ่ง—นพ. ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และ หมอบอล—นพ. สุรภัทร อัศววิรุฬหการ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ จากสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาพูดคุยและตอบคำถามเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลเด็กๆ เมื่อถึงวันที่ต้องกลับไปโรงเรียนอีกครั้ง พ่อแม่จะเตรียมตัวตั้งรับสถานการณ์นั้นอย่างไร

สังเกตได้ว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา เด็กในโรงเรียนป่วยน้อยลงมาก ปกติจะมีเด็กป่วยเป็น RSV ไข้หวัดใหญ่ และมือเท้าปาก เลยเดาว่าเกิดจากการใส่หน้ากากอนามัย คุณครูจับล้างมือบ่อย และลดกิจกรรมที่ให้สัมผัสกัน อยากรู้ว่าถ้าเรายังปฏิบัติตามนี้อยู่ มันเพียงพอต่อการป้องกันโควิด-19 ให้เด็กหรือเปล่า

 

หมอบอล—สุรภัทร 

 

• การติดเชื้อสามารถแบ่งคร่าวๆ ออกเป็นติดเชื้อจากคนสู่คน และคนติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน ฟ้า อากาศ แมลง 

• โรงพยาบาลก็รู้สึกว่าคนไข้โรคติดเชื้อจากคนสู่คน เช่น โรคหวัด โรค RSV โรคมือเท้าปาก ที่มักจะติดจากการสัมผัสคนที่มีเชื้ออยู่แล้ว ละอองฝอย น้ำมูก และน้ำลาย มีจำนวนลดลง

• ตอนที่ยังไม่มีโรคโควิด-19 ทุกคนก็จะเล่นกัน ถูกเนื้อต้องตัวกัน ไม่ได้ปิดปากปิดจมูก ใช้สิ่งของร่วมกัน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อเกิดขึ้น แต่พอมีโควิด-19 ทุกคนต้องทำตามมาตรการสุขอนามัยอย่างจริงจัง ก็ทำให้โรคที่เคยเกิดขึ้นได้ง่ายลดลงไปด้วย

ร่างกายคนเรามีความอ่อนไหวต่อเชื้อโควิด-19 กับเชื้อโรคทั่วไปเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

 

หมอบอล—สุรภัทร

 

•  ปกติแล้วการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคแต่ละชนิดมีความยากง่ายแตกต่างกันไป อย่างโรคหัด เป็นโรคที่แพร่กระจายทางอากาศ แค่ผู้ป่วยหนึ่งคนหายใจออกมาก็สามารถแพร่เชื้อ และทำให้เกิดคนติดเชื้อได้ 10 คน แต่โรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อหนึ่งคน จะสามารถแพร่เชื้อถึงคนอื่นได้ประมาณ 2-3 คน ดังนั้นพอเรามีมาตรการป้องกันที่เข้มข้น ก็ทำให้โรคที่ติดต่อกันได้ง่ายปรับเปลี่ยนเป็นติดยากขึ้น ส่วนโรคที่ติดยากอยู่แล้วก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก

โรคโควิด-19 ถือว่าเป็นโรคที่ติดง่ายหรือยาก

 

หมอหนึ่ง—ศุภโชค

 

• การระบาดในระลอกแรกอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 2-3 คน ต่อหนึ่งผู้ติดเชื้อใหม่ แต่ปัจจุบันเชื่อกันว่าสายพันธุ์อังกฤษกับสายพันธุ์อินเดียสามารถแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น  ตัวเลขก็เลยขึ้นไปถึง 5-6 คนต่อหนึ่งการติดเชื้อ

• การติดเชื้อง่ายหรือยาก นอกจากปัจจัยทางไวรัส ยังมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การจัดกิจกรรมในห้องที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เพราะเชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองฝอย ถ้าระบบแอร์ถ่ายเทอากาศไม่ดี เชื้อก็จะลอยค้างในอากาศเป็นเวลานาน 

ถ้าเราไปกินข้าวในร้านอาหารห้องแอร์ ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาจามเอาไว้ก่อนหน้า มีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อเพราะกรณีนี้หรือเปล่า

 

หมอหนึ่ง—ศุภโชค

 

• อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับกลศาสตร์การไหลเวียนของอากาศด้วย ถ้าห้องอาหารนั้นอากาศถ่ายเทไม่ดี เชื้อก็จะลอยค้างอยู่นาน มันก็มีโอกาสที่คนจะรับเชื้อต่อไปได้ แต่ถ้าร้านมีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี อากาศไหลเวียน ต่อให้ผู้ป่วยไอจาม ถ้าเราอยู่ห่างจากผู้ป่วยก็มีโอกาสที่จะรับเชื้อได้น้อยมาก

การทำกิจกรรมกลางแจ้งที่อากาศถ่ายเทสะดวก จึงแทบไม่ต้องกังวลเลย เพราะว่าอากาศถ่ายเทตลอด เพียงแต่จะต้องรักษาระยะห่าง ไม่อยู่ใกล้ชิดกันเกินไป

คุณหมอบอกว่าถ้าอยู่กลางแจ้งความเสี่ยงจะน้อยมาก แต่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดก็มีการปิดสวนสาธารณะ หรือบางคนก็บอกว่าการวิ่งหรือออกกำลังกาย มันจะมีเหงื่อหรืออะไรที่ทำให้แพร่และรับเชื้อได้

 

หมอหนึ่ง—ศุภโชค

 

• มันก็เป็นไปได้ แต่ปกติคนเราก็ไม่ได้วิ่งในที่ที่แออัดอยู่แล้ว และไม่ได้ไปวิ่งแบบเป็นสิบๆ ร้อยๆ คน ส่วนตัวจึงไม่กังวลเท่าไร และมันยังไม่มีเคสว่าติดเชื้อจากการวิ่งในสวนสาธารณะขนาดนั้น ถ้าแค่วิ่งจ็อกกิ้ง หรือทำกิจกรรมครอบครัว คิดว่าไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร

แล้วกิจกรรมอย่างว่ายน้ำในสระ ส่วนตัวเคยพาลูกไปว่ายน้ำที่โรงแรม พอกลับมาก็เป็นไข้ แอดมิตเลยอยากรู้ว่าในสถานการณ์แบบนี้การเล่นน้ำในสระส่วนรวมหรือแม้แต่น้ำทะเลมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อหรือเปล่า

 

หมอบอล—สุรภัทร

 

• ขึ้นอยู่กับลักษณะของสระว่ายน้ำด้วย ถ้าเป็นสระว่ายน้ำที่ใส่คลอรีน หรือน้ำเกลือตามมาตรฐานที่กำหนดมันจะจัดการเชื้อโรคได้ดีในระดับหนึ่ง

ถ้าเราไม่สบาย แล้วระหว่างเล่นน้ำอาจจะมีน้ำมูกหรือน้ำลายมลงไปในสระว่ายน้ำ เชื้อจะถูกกำจัดทันทีหรือไม่

 

หมอบอล—สุรภัทร

 

• อาจจะไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น ต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่ง แต่ก็บอกยาก เพราะเวลาเล่นน้ำ โดยเฉพาะเด็กๆ มักจะไม่ได้มีการว่ายน้ำอย่างเดียว แต่จะมีการเล่นกัน พูดคุยกัน โอกาสที่จะติดเชื้อก็เลยมีมากพอสมควร 

• น้ำมูกน้ำลายที่ลงไปในน้ำก็จะถูกเจือจางอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือพื้นที่ส่วนกลางที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ หรือบางที่ก็จะมีโซนนั่งกินอาหาร ดื่มเครื่องดื่มได้ ซึ่งถ้าอยู่กันเป็นหมู่คณะก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้

สมมติเราต้องไปซื้อของในห้างฯ  บางทีอาจต้องกินข้าวในร้านอาหารด้วย ถ้าเราฉีดแอลกอฮอล์บนโต๊ะหรือพื้นผิวต่างๆ ก่อนสัมผัสเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อน จะช่วยได้ไหม

 

หมอหนึ่ง—ศุภโชค

 

• แค่เราหมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ว่าจะสบู่ หรือแอลกอฮอล์หลังจากจับสิ่งของ ก็ช่วยได้แล้ว แต่ในความเห็นส่วนตัว การนั่งกินที่ร้านอาหาร ก็มีความเสี่ยงพอสมควร คือยังไงเราก็ต้องถอดหน้ากากอนามัย ซึ่งก็วนกลับมาที่เรื่องเดิมว่าร้านมีระบบถ่ายเทอากาศดีหรือเปล่า หรือถ้ามีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อมันก็โอกาสที่จะเกิดเป็นคลัสเตอร์ในร้านอาหารได้เหมือนกัน

การเลือกร้านที่คนน้อยที่สุด นั่งให้ห่างไกลผู้คนมากที่สุดช่วยได้ไหม

 

หมอหนึ่ง—ศุภโชค

 

• อยู่ที่วิธีการจัดโต๊ะด้วย หลายร้านก็สามารถทำได้ดี อาจจะจำกัดโต๊ะ หรือร้านที่เป็นบุฟเฟ่ต์ก็เปลี่ยนวิธีจากตักเองเป็นพนักงานมาเสิร์ฟให้ ก็สามารถช่วยควบคุมการแพร่กระจายเชื้อได้ แต่สำคัญว่าร้านจะต้องควบคุมปัจจัยอื่นๆ เช่น พ่อครัว แม่ครัว พนักงานเสิร์ฟ ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีด้วย 

• บางคนใส่หน้ากากอนามัยไม่ถูก ที่ถูกคือจริงๆ ต้องให้ด้านที่เคลือบสารกันน้ำอยู่ด้านนอก เพื่อไม่ให้ละอองฝอยซึมเข้ามา ขณะที่ด้านในของหน้ากากอนามัยก็จะมีแผ่นสำหรับกรองเชื้อโรคต่างๆ 

• เวลาถอดหน้ากากอนามัย ด้านนอกให้ถือว่ามีการปนเปื้อนหลังถอดก็ควรล้างมือเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขเลยบอกว่า ไม่ว่าหยิบจับอะไรก็แล้วแต่ ให้ล้างมืออีกครั้ง ก็จะยิ่งช่วยป้องกันได้

โควิด-19

สมมติว่าถ้าเด็กๆ ได้ไปโรงเรียนจริงๆ สิ่งที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

 

หมอบอล—สุรภัทร

 

• จริงๆ การแพร่เชื้อในโรงเรียนก็เหมือนกับที่เราคุยกัน มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย จำนวนคน การระบายอากาศ และกิจกรรมที่ทำ เหมือนการไปกินอาหารในร้านอาหาร เหมือนการไปเดินห้างฯ

• ดังนั้น ถ้าถามว่าจะเกิดคลัสเตอร์โรงเรียนได้ไหม มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เพราะแต่ละที่ก็มีความสามารถและข้อจำกัดต่างกัน แต่สิ่งที่ทำได้ คือเราจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมที่สุดที่จะลดความเสี่ยงการติดเชื้อทั้งเด็ก คุณครู และบุคคลากร แล้วมีแผนว่าถ้าเกิดการติดเชื้อขึ้นมาจริงๆ แล้วจะทำยังไงให้การติดเชื้ออยู่ในวงจำกัด

• แต่ถ้าถามว่าเราจะไม่เปิดโรงเรียนเลยได้ไหม คือถ้าเรารู้ว่าการระบาดจะจบลงเมื่อไหร่ ก็อาจจะทำได้ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมันทำให้คาดเดาได้ยาก

• ส่วนตัวจึงคิดว่าไม่ควรปิดโรงเรียน เพราะข้อมูลของหลายๆ ประเทศพบว่าการเปิดเรียนคุ้มค่ากว่า 

• การปิดโรงเรียนส่งผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อย่างบางประเทศก็พบว่าเด็กเกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้น เพราะเขาไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในวัยเดียวกัน ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการ โดยเฉพาะเด็กในวัยอนุบาล ที่ต้องเรียนผ่านการเล่น และต้องเป็นการเล่นกับคนไม่ใช่การเล่นผ่านหน้าจอ เด็กบางคนพอโรงเรียนเปิดก็ไม่ได้กลับเข้าไปเรียนอีก เพราะข้อจำกัดหลายอย่าง

• การปิดโรงเรียนไม่ได้มีผลกระทบแค่ด้านการศึกษา แต่มันยังมีผลกระทบต่อสังคมด้านอื่น อีกมากมาย

The Rookie Mom

ก่อนหน้านี้มักจะได้ยินในข่าวว่าถ้าเด็กติดเชื้อ จะไม่ค่อยมีอาการ แต่ที่พ่อแม่กลัวก็คือเด็กจะเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่ปู่ย่าตายายที่บ้านมากกว่า แต่ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นเด็กที่ได้รับเชื้อแล้วมีอาการมากขึ้น เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอย่างไร

 

หมอบอล—สุรภัทร

 

• เด็กจะมีอาการน้อยกว่าจริงๆ และก็มีข้อมูลที่บอกว่าว่าเด็กมีโอกาสแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ สมมติเด็กติดเชื้อ 100 คน อาจจะมีอาการหนึ่งคน ดังนั้นถ้ามีเด็กติดเชื้อ 80 คน เราอาจจะไม่เห็นเด็กที่มีอาการหนักเลยก็ได้ ตอนนี้ที่เราเห็นว่าเด็กมีอาการมากขึ้น ก็เพราะมีการระบาดมากขึ้นและมีเด็กที่ได้รับเชื้อมากขึ้น

 

หมอหนึ่ง—ศุภโชค

 

• ข้อมูลจากต่างประเทศบอกว่ามีเด็กได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่มากกว่าผู้ใหญ่ได้รับจากเด็ก ก็อาจจะบอกได้ว่าเพราะเด็กมีอาการน้อย จึงไม่ค่อยแพร่เชื้อ ส่วนผู้ใหญ่มักมีอาการไอจามมากกว่า ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ดีกว่า 

 

หมอหนึ่ง—ศุภโชค

เคยเจอเคสลูกติดเชื้อจากแม่ แม่อาการหนัก เชื้อลงปอดต้องให้ออกซิเจน แต่ลูกยังวิ่งเล่นอยู่ในห้องได้  สุดท้ายต้องให้พ่อจากโรงพยาบาลสนามมาช่วยดูแลลูก ความยากของการดูแลคนไข้โควิด ก็คือส่วนใหญ่จะต้องดูแลเป็นครอบครัว

อีกหนึ่งอย่างที่ไม่แน่ใจ คือถ้าเปิดเทอมรอบนี้มันจะเป็นช่วงหน้าฝน จะมีผลต่อการติดเชื้อง่ายขึ้นหรือไม่

 

หมอหนึ่ง—ศุภโชค

 

• คิดว่าไม่น่าเกี่ยว เมื่อก่อนก็เคยคิดว่าฤดูจะมีผลต่อการระบาด แต่รอบนี้ทำให้เห็นแล้วว่าอากาศจะเป็นยังไงก็เชื้อก็แพร่กระจายอยู่ดี เลยคิดว่าฤดูกาลกับการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันมากนัก  ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ยังเห็นได้ชัดว่าโรคมักจะแพร่กระจายในช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่โควิด-19 ไม่ว่าอากาศจะเป็นยังไงก็ยังแพร่เชื้อและติดโรคได้

ในสายตาแพทย์ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร 

 

หมอหนึ่ง—ศุภโชค

 

• ยอดผู้ติดเชื้อไม่ลด และไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังเจออยู่ถือว่าพีกที่สุดหรือยัง 

• นอกจากตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลด มันมีปัจจัยที่ทำให้เห็นว่ายอดที่ได้ไม่ตรงตามความเป็นจริง ส่วนหนึ่งเพราะกำลังในการตรวจ PCR  ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ นักเทคนิคการแพทย์ที่ถูกฝึกอบรม รวมถึงแล็บที่มีเครื่องมือครบครัน ซึ่งการทำครั้งหนึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เร็วสุดคือ 4 ชั่วโมง นานสุด 8 ชั่วโมง 

• สมมติมีการปูพรมตรวจหนึ่งพันเคสต่อวัน ผลตรวจก็ไม่สามารถทำได้ครบภายในวันเดียว ด้วยศักยภาพในการตรวจที่ไม่มากพอ ก็เลยควบคุมการระบาดได้ยาก 

• เราเชื่อว่ามีคนในชุมชนติดเชื้อและไม่มีอาการอีกมาก ซึ่งกลุ่มคนที่ไม่แสดงอาการก็จะไม่เข้ารับการตรวจ จึงสามารถแพร่กระจายเชื้อต่อได้อีกเรื่อยๆ 

พูดถึงความหวังที่เรามีอยู่หนึ่งเดียวอย่างวัคซีนกันบ้าง เข้าใจว่าตอนนี้คุณครูได้ทยอยฉีดวัคซีนกันบ้างแล้ว แต่ที่ได้รับข่าวมาคือวัคซีนมันไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อ มันแค่ช่วยลดการเสียชีวิต แบบนี้เด็กที่ไปโรงเรียนก็มีโอกาสติดเชื้อเหมือนเดิม แล้วควรทำอย่างไร

 

หมอบอล—สุรภัทร

 

• อย่างที่รู้กันว่าผลลัพธ์ของวัคซีนแต่ละชนิดไม่เท่ากัน แต่ทุกวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกตอนนี้มีหนึ่งอย่างที่คล้ายกันคือป้องกันไม่ให้มีอาการหนัก และไม่ให้เกิดการเสียชีวิต ซึ่งผลลัพธ์ที่เราคาดหวังก็มีหลายระดับ เช่น เราต้องการป้องกันการติดเชื้อ เราต้องการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการหนัก เราต้องการป้องกันการเสียชีวิตจากโรค หรือเราต้องการภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ ถ้าเราจะป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดเลย ก็จำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง และต้องฉีดให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด

• ผมว่าวัคซีนมันเป็นปราการด่านหนึ่ง แต่การที่เราจะป้องกันการติดเชื้อในโรงเรียน เราต้องสร้างปราการอีกหลายๆ ด่านขึ้นมา เช่น โรงเรียนอาจจะต้องใช้วิธีสกรีนคนที่จะเข้ามาในพื้นที่ รณรงค์เรื่องใส่หน้ากากอนามัย มีการจัดตารางสอนและกิจกรรมให้ใช้คนน้อยลง

• อยากให้มองว่าสถานการณ์ปัจจุบันตอนนี้วัคซีนอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะลดการระบาดในประเทศไทย เรายังต้องมีมาตรการอื่นๆ เสริม เพราพประสิทธิภาพวัคซีนที่เรามี จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มข้นอยู่

เปิดเทอม

แล้วถ้ามีคนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนตรวจพบว่าติดเชื้อ จำเป็นที่ต้องปิดทั้งโรงเรียนหรือแค่แยกคนที่ติดเชื้อออกมา

 

หมอบอล—สุรภัทร

 

• ก็แล้วแต่มาตรการของแต่ละโรงเรียนด้วย ถ้าโรงเรียนสามารถจัดการให้สามารถติดตามได้ว่าใครทำอะไรเมื่อไหร่ การสอบสวนโรคก็จะแคบลง ไยิ่งถ้าโรงเรียนมีข้อมูลที่ชัดเจน ก็จะยิ่งระบุคนที่มีความเสี่ยงสูงได้แม่นยำ ไม่จำเป็นต้องตรวจหว่านหรือปิดทั้งโรงเรียน 

• เราต้องยอมรับก่อนว่า ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ไม่มีทางที่ผู้ติดเชื้อจะเป็นศูนย์ เราควรจะมีเป้าหมายว่าเราจะเปิดโรงเรียนให้ได้ และมีเป้าหมายว่าจะควบคุมความเสียหายให้น้อยที่สุดมากกว่า

ในมุมผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ และคุณครู ถ้าวันหนึ่งเด็กๆ จะต้องเปิดเทอมและกลับไปโรงเรียนอีกครั้งเราจะช่วยอะไรได้บ้าง

 

หมอหนึ่ง—ศุภโชค

 

• ต้องปรับ mind set ก่อนว่าการระบาดมันคงไม่จบในเร็วๆ นี้ เราจะต้องอยู่แบบนี้ไปอีกสักระยะ ดังนั้นพ่อแม่ ลูก หรือแม้แต่สถานศึกษา ต้องพร้อมที่จะลื่นไหลและปรับเปลี่ยนได้เสมอ

• วัคซีนไม่ได้เป็นทุกคำตอบ วัคซีนมีประโยชน์คือกันอาการหนัก กันตาย และถ้าฉีดมากพอมันก็จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ปัญหาคือวัคซีนทุกชนิดไม่ได้ทำให้เกิดผลได้ทั้งสามข้อ เพราะฉะนั้นมันอาจจะไม่ได้ควบคุมการระบาดได้ตอนนี้ แต่จนกว่ามันจะไปถึงเป้าหมาย การทำแต่ละจิ๊กซอว์ให้ดีมันก็ช่วยลดความเสี่ยงลงได้

• เราต้องอยู่กันแบบจดจ้องและระมัดระวัง จนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง อีกหน่อยมันอาจจะเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่เรามีวัคซีนให้ฉีดกระตุ้นทุกปี เรามียาที่ดีมากพอเพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิต แต่ตอนนี้คงต้องใช้เวลาและเราคงต้องอยู่กันแบบนี้ไปช่วงระยะหนึ่ง 


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST