ความวิตกกังวลต่อการแยกจาก เป็นสิ่งที่ปกติในเด็กเล็ก และเป็นพัฒนาการปรับตัวก้าวสำคัญ เฉลี่ยช่วงอายุที่เด็กจะเผชิญความกังวลนี้จะอยู่ที่อายุ 7-18 เดือน เด็กบางคนอาจมีอาการมากกว่าและนานกว่าคนอื่น
การพัฒนาในความกังวลต่อการแยกจากนั้น แสดงให้เห็นว่าคุณกับลูกของคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีและแน่นแฟ้น ลูกคุณมีความสุขและรู้สึกปลอดภัยที่ได้อยู่ใกล้คุณ คุณเป็นที่พึ่งทั้งทางกายทางใจ และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของลูก
เพราะฉะนั้น มันไม่แปลกเลยที่ลูกจะยึดติดกับคุณ หรือที่คนส่วนใหญ่ชอบเรียกกันว่าอาการติดแม่ (ที่จริง เด็กสามารถติดใครก็ได้ที่เป็นคนเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่แรกเกิด)
แต่คุณก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะอาการนี้สามารถหายได้เอง ไม่ช้าก็เร็ว ลูกคุณจะเรียนรู้ที่จะแยกกับคุณ และเรียนรู้ว่าคุณจะกลับมาเมื่อถึงเวลา และทุกอย่างจะโอเคในช่วงเวลาที่คุณไม่อยู่
การเรียนรู้นี้มีพื้นฐานอยู่บนความไว้ใจ ซึ่งไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็ต้องใช้เวลาในการสร้างเหมือนกัน
อาการที่แสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลต่อการแยกจาก
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตความวิตกกังวลของลูก ได้จากอาการและพฤติกรรมดังต่อไปนี้
• ตามติดคุณทุกย่างก้าว (แม้กระทั่งคุณเข้าห้องน้ำ!)
• ร้องไห้เมื่อไม่เห็นคุณ
• กลัวคนแปลกหน้า
• สงบลงทันทีเมื่ออยู่กับคุณ
แล้วคุณจะช่วยลูกอย่างไรดีล่ะ?
1. ให้เด็กได้เป็นเด็ก

มันเป็นเรื่องธรรมดามากที่ลูกคุณจะมีความวิตกกังวลนี้ มันไม่ใช่โรคหรือสิ่งผิดปกติ จริงๆ แล้วการที่ลูกติดแม่ก็ถือเป็นเรื่องที่สวยงาม เพราะมันแสดงว่าคุณได้สร้างความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับลูกแล้ว เวลาที่คุณใช้กับลูกไปได้ออกผลงอกงาม
เพราะฉะนั้น ถ้าใครบอกคุณว่าลูกติดคุณมากเกินไป คุณจะเพิกเฉยบ้างก็ได้ เพราะเด็กทั่วไปก็เป็นแบบนี้
2. ไม่ต้องกังวลว่าคุณจะให้ความรักลูกมากเกินไป

ยิ่งคุณให้ความรักแก่ลูกมากเท่าไร เมื่อโตขึ้นเขาจะเป็นคนที่มีความมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยมากเท่านั้น
3. พยายามแยกจากกับลูกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อคุณต้องออกไปทำธุระหรือไปไหนก็ตาม เรารู้ว่าการพยายามพาลูกออกไปด้วยมันค่อนข้างลำบาก และไม่สะดวกที่ต้องกระเตงลูกไปนู่นไปนี่ แต่ไม่ช้าก็เร็วลูกคุณจะผ่านช่วงเวลานี้ไปสู่พัฒนาการก้าวสำคัญ เพราะฉะนั้น แยกจากกันให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ดีกว่า
4. สอนให้ลูกเรียนรู้ถึงการมีอยู่ของวัตถุ

เมื่อลูกคุณเรียนรู้ที่จะรู้ว่าของชิ้นนั้นยังอยู่ แม้เขาจะมองไม่เห็นก็ตาม เช่น รู้ว่าตุ๊กตาตัวโปรดถูกเก็บไว้อีกห้อง มันจะช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้นว่า คุณกำลังอยู่ที่ไหนสักที่ แม้เวลาที่เขามองไม่เห็นคุณ
การฝึกเล่นปิดตาแล้วจ๊ะเอ๋ จะช่วยให้ลูกเข้าใจสิ่งนี้ได้ง่ายขึ้น
5. ฝึกด้วยการแยกจากกันช่วงสั้นๆ

ในระหว่างวันที่คุณอยู่กับลูก คุณอาจลองไปอยู่อีกห้องหนึ่งที่ลูกไม่สามารถเห็นคุณ แล้วคุณก็ฮัมเพลงหรือผิวปากหรือคุยกับลูกคุณ เพื่อให้ลูกรู้ว่าคุณยังอยู่ ถึงแม้ลูกจะมองไม่เห็นคุณก็ตาม
6. อย่าแอบหนีลูกออกไปเฉยๆ และพูดความจริงกับลูกเสมอ

หากคุณต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน และไม่สามารถพาลูกไปด้วยได้ ให้บอกความจริงกับเขา ว่าคุณจะออกไปไหน ทำอะไร และจะกลับมาประมาณกี่โมง ถึงแม้ว่ามันจะลงเอยด้วยการที่ลูกร้องไห้งอแงไม่อยากให้คุณไปก็ตาม
แต่มันก็ดีกว่าการที่คุณแอบหนีออกไปเฉยๆ เพราะมันจะทำให้ลูกกังวลว่าคุณหายไปไหน แล้วคุณจะกลับมาหรือไม่ ผลลัพธ์ก็คือลูกจะตามติดคุณเป็นตังเมมากกว่าเดิม เพราะไม่ค่อยวางใจ กลัวว่าคุณจะหายไปอีก
7. ใช้เวลาในการบอกลาให้สั้นและกระชับ

ก่อนออกไปทำธุระนอกบ้าน ให้คุณเผื่อเวลาที่ต้องบอกลาลูก แต่ก็อย่าให้ยืดเยื้อจนเกินไป
8. บอกลาลูกด้วยท่าทีในแง่บวก

ถ้าคุณต้องออกไปข้างนอก ให้คุณบอกลาลูกและยิ้มให้กับเขา ลูกจะรู้สึกมั่นใจ เพราะลูกจะรู้สึกถึงอารมณ์ของคุณได้ ถ้าคุณออกจากบ้านด้วยความกระวนกระวาย ลูกก็จะกระวนกระวายเช่นกัน ความมั่นใจและท่าทีเชิงบวกของคุณจะช่วยให้ความกลัวของลูกลดลง
9. ฝากลูกไว้กับคนที่ลูกคุ้นเคย

ถ้าคุณจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับคนอื่น ขอให้เขาได้มาใช้เวลาร่วมกันกับคุณและลูกก่อนสัก 2-3 ครั้ง เพื่อสร้างสายสัมพันธ์และความคุ้นเคย ก่อนที่คุณจะปล่อยให้ลูกอยู่กับคนอื่นตามลำพัง
10. สร้างสิ่งล่อใจ

ถ้าคุณจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับคนอื่น ให้เขาหากิจกรรมมาเล่นกับลูกคุณ เพื่อดึงความสนใจขณะที่คุณจะออกจากบ้าน สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่บอกลาด้วยความรวดเร็ว และรีบออกจากบ้านมาเท่านั้น
11. ให้ลูกได้แยกออกจากคุณเองบ้าง

ถ้าลูกกำลังคลานหรือเดินไปห้องอื่น คุณไม่จำเป็นต้องรีบตามเข้าไปห้าม แต่ให้แอบดูอยู่ห่างๆ แค่เฝ้าดูว่าลูกกำลังจะทำอะไรและปลอดภัยไหม เพื่อให้ลูกรู้ว่ามันโอเคที่จะออกไปสำรวจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองบ้าง
12. สนับสนุนให้ลูกมีของชิ้นพิเศษ

ของชิ้นพิเศษในที่นี้อาจเป็นตุ๊กตาตัวโปรด หรือผ้าผืนเน่าที่ลูกไม่สามารถขาดได้ จะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อต้องแยกจากกับคุณ ลูกจะใช้ของสิ่งนี้เป็นตัวแทนของคุณ เพราะฉะนั้น คุณไม่ควรทิ้งของสำคัญของลูก ก่อนถึงเวลาอันสมควร
NO COMMENT