READING

คุยเรื่องโรงเรียนอนุบาลใน ประเทศญี่ปุ่น กับแม่มายเ...

คุยเรื่องโรงเรียนอนุบาลใน ประเทศญี่ปุ่น กับแม่มายเซนเซจากเพจ I Love Japan

โรงเรียนอนุบาลญี่ปุ่น

ภาพเด็กนักเรียนญี่ปุ่นเดินต่อแถว หรือโดยสารรถประจำทางไปโรงเรียนเองอย่างมีระเบียบ มักถูกแชร์และพูดถึงด้วยความชื่นชมว่าประเทศญี่ปุ่นนับเป็นหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังค่านิยมที่ดี และมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเหมาะสมกับการเติบโตของเด็กในประเทศ

เราอาจจะเคยพูดคุยกับคุณแม่คนไทยในประเทศญี่ปุ่นมาบ้างแล้ว แต่ด้วยความที่ลูกยังไม่ถึงวัยเรียน เราก็เลยยังไม่ค่อยได้พูดถึง โรงเรียนอนุบาล ที่นั่นเท่าไรนัก จนกระทั่งมีโอกาสได้ชวน มายเซนเซ—นีรชา ฟิลาทอฟ คุณครูสอนภาษาญี่ปุ่น เจ้าของเพจ I Love Japan คุณแม่น้องเอริค เด็กชายลูกครึ่งไทย-รัสเซีย วัย 3 ขวบ ที่เพิ่งเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลของประเทศญี่ปุ่น ว่าจะน่ารักและน่าเรียนอย่างที่เราเคยเห็นหรือเปล่า ให้คุณแม่มายช่วยตอบดีกว่าค่ะ

I Love Japan TH

ทำไมถึงเลือกย้ายไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น 

ต้องเล่าก่อนว่ามายกับอเล็กซ์ (สามี) เคยอยู่ที่ญี่ปุ่นกันมาแล้วเกือบสิบปี เราทำงานที่นี่ แต่งงานที่นี่ ก่อนย้ายกลับไปเมืองไทย แล้วก็มีน้องเอริค จนกระทั่งโควิดเริ่มระบาด สถานการณ์ที่เมืองไทยมันดูไม่ค่อยดีเท่าไร ก็เลยคุยกันว่าไปญี่ปุ่นกันดีไหม เพราะอเล็กซ์ต้องบินไปทำงานที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว เขาก็เลยบินไปก่อนตอนเดือนมกราคม (2563) พอเดือนกุมภาพันธ์ที่เราตั้งใจว่าจะบินตามไปก็ติดปัญหาโควิดพอดี

มายกับเอริคก็เลยติดอยู่ที่ไทย ตอนแรกคิดว่าโควิดคงไม่นาน แต่ก็กลายเป็นล่วงเลยมาถึงสิ้นปี เลยเริ่มคุยกันใหม่ว่าจะเอายังไงกันดี อเล็กซ์ก็บอกว่าไม่อยากอยู่ห่างกันนาน เพราะลูกเพิ่งอายุ 2-3 ขวบ มันควรเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกัน ก็เลยตัดสินใจว่าจะย้ายมาอยู่ด้วยกันที่ญี่ปุ่นเลย

ตั้งใจว่าจะไปอยู่ถาวรหรือเปล่า

ตอนแรกคิดว่าคงจะแค่ 3-4 เดือน เราก็ไม่อยากทิ้งออฟฟิศนาน คิดด้วยซ้ำว่าจะให้เอริคเข้าโรงเรียนที่เมืองไทย

แต่พอย้ายมาปุ๊บ ความรู้สึกของการได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากันมันผ่านไปเร็วมาก แป๊บเดียวก็ผ่านไปสามเดือนแล้ว บวกกับสภาพแวดล้อมที่นี่ดีกับเด็กมากๆ อากาศดีไม่มี PM 2.5 รถก็ไม่ติด มีสวนสาธารณะ มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เด็ก คือเด็กสามารถเดินไปโรงเรียนได้ ทำกิจกรรมได้ แม้จะเป็นช่วงโควิด-19 ก็ตาม อาจจะมีพิพิธภัณฑ์และสถานที่ท่องเที่ยวปิดไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วเด็กก็ยังไปโรงเรียนกันเหมือนเดิม

มายคิดว่า อยู่ที่นี่ถ้าไม่นั่งรถไฟฟ้าโอกาสติดเชื้อมันน้อยนะ เพราะส่วนใหญ่แล้วจะติดกันจากรถไฟฟ้ามากกว่า อย่างโรงเรียนที่มายเลือกให้เอริคก็ใกล้บ้านมาก เดินไปห้านาทีก็ถึงแล้ว และคนก็ไม่แออัด

ตอนนี้เลยตัดสินใจว่าจะอยู่ไปก่อน ยังไม่มีกำหนดกลับ เพราะกลับเมืองไทยไปตอนนี้ก็ไม่รู้จะได้มาเจอกันอีกเมื่อไหร่ เลยคิดว่าจะอยู่จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะหมด ซึ่งเท่าที่ดูสถานการณ์คงอย่างน้อย 1-2 ปีอย่างน้อย หรือตอนที่สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยแล้วจริงๆ

อีกอย่างคือ สถานการณ์ตอนนี้ถ้าอยู่เมืองไทยลูกก็อาจจะต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเด็กอนุบาลยังไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์เลย ไม่งั้นก็ไม่ต้องเรียนเลยดีกว่า เพราะวัยนี้เขาควรจะเล่นมากกว่ามานั่งเรียนมานั่งท่องจำ เขาควรจะมีโอกาสได้ไปวิ่งเล่น ได้ไปทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ มากกว่า

ตอนมาญี่ปุ่นแรกๆ เราให้เขาเข้าเนอร์เซอรี ปรากฏว่าเขามีพัฒนาการที่ดีมาก เขาได้เล่นกับเพื่อน ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่น มีกิจกรรม Sensory Play เยอะ รอบบ้านยังมีสวนสาธารณะอีก 6-7 ที่ แต่ละที่ก็มีบ่อทราย มีสไลเดอร์ มีหลายอย่างที่ช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กได้ มันเป็นอะไรที่เราคงหาไม่ได้ถ้าอยู่กรุงเทพฯ

แม่มายเซนเซ

เนอร์เซอรีที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้าง

พอดีเขตที่เราอยู่มันมี Kids center ที่เอาไว้จัดกิจกรรม หรือให้เด็กได้เล่นของเล่นฟรี มีงานสัมมนาสำหรับพ่อแม่และ ให้คำปรึกษาฟรี เด็กๆ ที่จะเข้ามาที่นี่ส่วนมากอายุก็จะอยู่ระหว่างเด็กเล็กไปจนถึงสี่ขวบ และที่นั่นมีเนอร์เซอรีที่สามารถฝากลูกเป็นรายวันได้ แค่ต้องจองก่อนล่วงหน้า ก็เลยลองสมัครดู

ถือว่าเป็นช่วงระหว่างรอเข้าโรงเรียน เราอยากให้ลูกได้ทำกิจกรรม ได้ร้องเพลงเล่นกับเพื่อนๆ พอจบวันคุณครูก็จะมีกระดาษที่บันทึกว่าเอริคทำอะไรบ้าง

เราเคยคุยกับทั้งคุณแม่คนไทยที่มีสามีเป็นคนญี่ปุ่น และคุณพ่อคนไทยที่แต่งงานมีภรรยาเป็นคนญี่ปุ่น แต่ในกรณีที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นทั้งคู่ การปรับตัวให้เข้ากับประเทศนี้เป็นอย่างไรบ้าง

จริงๆ รู้สึกว่าไม่ยากเลย ด้วยความที่มายกับอเล็กซ์ทำงานอยู่ญี่ปุ่นกันมาก่อน เลยคุ้นชินกับวัฒนธรรม รู้กฎระเบียบ รู้มารยาท ของที่นี่อยู่แล้ว บวกกับระบบเขาค่อนข้างเฟรนด์ลี่กับคนต่างชาติมาก คือเราได้สิทธิ์ทุกอย่างเหมือนกับพลเมืองที่นี่ ต่อให้เราเป็นคนต่างชาติก็ได้เท่าเทียมกันทุกอย่าง ยกเว้นแค่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งเท่านั้นเอง

อย่างคลอดลูก แม้ว่าจะคลอดที่ไทย แต่อเล็กซ์ทำงานที่นี่ก็เสียภาษีที่ญี่ปุ่นตลอด เราก็เลยได้เงินค่าสนับสนุนคลอดบุตร ประมาณสี่แสนเยน ก็ประมาณหนึ่งแสนกว่าบาทไทย แล้วก็ได้ค่าเลี้ยงดูบุตรรายเดือนด้วย

พอเอริคมาที่ญี่ปุ่น ก็ทำวีซ่าผู้อยู่อาศัย เอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านทุกอย่างหมด พอเข้าโรงเรียน รัฐก็ออกค่าแรกเข้าให้ จ่ายเองจริงๆ แค่ประมาณหมื่นเยน ส่วนค่ารักษาพยาบาลฟรีหมด ทำฟันฟรี ไปฉีดวัคซีนก็ฟรี เงินที่ใช้กับเอริคมีแต่ค่ากิน ค่าของเล่น กับค่าไปเที่ยว จนรู้สึกว่าตอนอยู่เมืองไทยใช้เงินมากกว่าเยอะเลย เวลาลูกป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลก็หลายตังค์ ค่าเทอม เท่าที่เช็กมาก็แพง

ที่เมืองไทย บางโรงเรียนพ่อแม่ต้องจองล่วงหน้าเป็นปีหรือก่อนลูกคลอดด้วยซ้ำ ที่ญี่ปุ่น การหาโรงเรียนให้ลูกต้องทำอย่างนั้นไหม

ไม่ค่ะ ไม่เป็นแบบนั้นเลย เพราะโรงเรียนที่ญี่ปุ่นจะคล้ายกันหมด อาจจะแตกต่างกันที่ขนาดของโรงเรียนเฉยๆ

อย่างโรงเรียนที่เอริคเรียนอยู่ ก็เลือกเพราะว่าใกล้บ้าน ซึ่งจริงๆ มันก็มีโรงเรียนที่ใหญ่กว่าโรงเรียนนี้นะ แต่ก็ไม่ได้จำเป็นถึงขั้นจะต้องยอมนั่งรถไฟฟ้าไปอีกสองสามสถานีเพื่อเรียนโรงเรียนนี้

จริงๆ โรงเรียนเอริคก็มีรถนักเรียนคอยรับส่งเด็กๆ ในละแวกนั้น เหมือนเขาเน้นให้เด็กได้เรียนใกล้บ้านมากที่สุด เพราะพอเรียนชั้นประถมเด็กๆ จะได้เดินกลับบ้านเองได้เกณฑ์การเลือกโรงเรียนของมายคือ หนึ่งเลือกที่ใกล้บ้าน เพราะแต่ละโรงเรียนก็ดีเหมือนกันหมด มีสิ่งแวดล้อมมันเหมือนกันหมด ครูก็ได้มาตรฐานเหมือนกัน สองคือโรงเรียนมีอาหารกลางวันให้ อันนี้แล้วแต่คนเลย บางคนอาจจะชอบทำเบนโตะให้ลูกไปกินที่โรงเรียน ก็อาจจะไม่เลือกโรงเรียนนี้ แต่มายอยากให้ลูกได้หัดกินเหมือนกับคนอื่นบ้าง และอีกข้อหนึ่งที่เลือกโรงเรียนนี้ คือสามารถฝากลูกไว้หลังเลิกเรียนได้ถึงถึงสี่โมงเย็น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างบางโรงเรียนอาจจะได้แค่สามโมงและถ้าจะฝากต่อก็ต้องเสียเงิน

คือบางทีเอริคกลับมาบ้านก็ไม่ได้ทำอะไรมาก นั่งเล่นของเล่นคนเดียว มายรู้สึกอยากให้เขาได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ ได้เล่น ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่น การฝากลูกต่อถึงสี่โมงเย็นเลยช่วยได้มาก

ช่วงโควิดระบาดหนักๆ โรงเรียนไหนที่ปิดเขาก็คืนค่าเทอมให้ผู้ปกครองเลย เราเข้าใจว่าโรงเรียนก็มีค่าใช้จ่าย แต่พอรัฐช่วยโรงเรียนแล้ว โรงเรียนก็ไม่ต้องมาเก็บเงินกับผู้ปกครองอีก ซึ่งมันดีตรงนี้

ช่วงโควิดระบาดหนักๆ โรงเรียนไหนที่ปิดเขาก็คืนค่าเทอมให้ผู้ปกครองเลย เราเข้าใจว่าโรงเรียนก็มีค่าใช้จ่าย แต่พอรัฐช่วยโรงเรียนแล้ว โรงเรียนก็ไม่ต้องมาเก็บเงินกับผู้ปกครองอีก ซึ่งมันดีตรงนี้

โรงเรียนที่ญี่ปุ่นมีแบ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนเหมือนเมืองไทยไหม 

มีค่ะ โรงเรียนที่เอริคเรียนก็เป็นโรงเรียนเอกชน เพราะเขตที่มายอยู่ไม่มีโรงเรียนรัฐบาลเลยแต่โรงเรียนเอกชนรัฐก็ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเหมือนกัน

จุดที่แตกต่างเท่าที่เห็นคือโรงเรียนรัฐบาลอาจจะมีชุดยูนิฟอร์มและโรงเรียนอาจจะพื้นที่มากกว่า เพราะโรงเรียนของเอริคเล็กมาก แต่เราไม่ต้องเสียเงินแพงเพื่อให้ลูกได้การศึกษาที่ดี เพื่อนที่นี่ของมายมีลูกสามคน เงินเดือนอาจจะไม่สูงมาก แต่สิ่งที่เขามีหรือโรงเรียนของลูกก็ไม่ต่างจากระดับผู้จัดการที่มีเงินเดือนสูงๆ

 เห็นเขาแฮปปี้กับการไปโรงเรียนมันช่วยได้มากเลยนะ เราก็สุขภาพจิตดีที่ไม่ต้องเห็นเขาร้องไห้ ได้เห็นลูกตื่นไปโรงเรียนเอง ถามเราว่าวันนี้มีเบนโตะอะไร 

แล้วมีการแบ่งประเภทโรงเรียนตามแนวการสอนไหม เช่น โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนนานาชาติ หรือแนววิชาการ

มันก็มีบ้าง แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมขนาดนั้น โดยเฉพาะในระดับอนุบาลการเรียนการสอนที่นี่คือเน้นให้เด็กได้เล่นเหมือนกันอยู่แล้ว

  แต่หลังๆ ก็มีเริ่มนิยมโรงเรียนนานาชาติบ้าง แต่โรงเรียนนานาชาติจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากรัฐบาล เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายก็จะสูงกว่า ต้องเป็นคนที่มีเงินนิดนึง แต่เท่าที่ลองไปส่องดู ก็ถูกกว่าที่ไทยเยอะนะ บางที่แพงก็จริง แต่ไม่ได้แพงถึงขั้นค่าเทอมปีละล้าน และมันสมดุลกับเงินเดือนที่นี่ หมายความว่าถ้าเราทำงานเป็นระดับผู้จัดการ อยากส่งลูกเรียนอินเตอร์ก็ส่งได้ ไม่ใช่แบบเอื้อมไม่ถึงเลย

ส่วนแนวมอนเตสเซอรีก็มี แต่มันก็คือสไตล์ทั่วไปของโรงเรียนอนุบาลอยู่แล้ว คือเน้นให้เด็กทำกิจกรรม เน้นกีฬา ไม่ค่อยมานั่งท่องอ่านเขียน แต่บางโรงเรียนก็อาจจะมีเป็นคลาสพิเศษหลังเลิกเรียน เช่น ใครอยากให้ลูกได้ภาษาอังกฤษ อยากให้เริ่มฝึกอ่านเขียนก็เรียนได้ ไม่ได้บังคับ

มายเลยรู้สึกว่าอยู่ที่นี่ ไม่จำเป็นต้องเลือกเรียนแนวทางเฉพาะว่าต้องมอนเตสเซอรีเลยก็ได้ เพราะตอนนี้ลูกก็ได้เล่นปั้นดินน้ำมัน เล่นทราย ระบายสี ทาสีอยู่แล้ว เด็กๆ ก็แฮปปี้ เอริคก็ชอบไปโรงเรียนมาก อยากไปทุกวันเลย ถามตลอดว่าวันนี้ไปโรงเรียนไหม หรือวันนี้ไม่ไปเหรอ (หัวเราะ)

ตอนอยู่ที่ไทยเรายังเครียดอยู่เลยว่าลูกจะยอมไปโรงเรียนไหม เพราะเคยลองพาเขาไปเนอร์เซอรี แล้วร้องไห้ทั้งวัน อาจจะด้วยความไม่พร้อมตอนนั้น เราก็เลยหยุด แต่ปรากฏว่าไปโรงเรียนที่ญี่ปุ่นวันแรก โบกมือบ๊ายบายคุณแม่เลย เห็นเขาแฮปปี้กับการไปโรงเรียนมันช่วยได้มากเลยนะ เราก็สุขภาพจิตดีที่ไม่ต้องเห็นเขาร้องไห้ ได้เห็นลูกตื่นไปโรงเรียนเอง ถามเราว่าวันนี้มีเบนโตะอะไร

ตอนอยู่เมืองไทยเขามีพี่เลี้ยงก็จะไม่ค่อยทำอะไรเอง แต่มาที่นี่ต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง โรงเรียนที่นี่จะสอนให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งมันดีมากเลยนะ ตอนแรกเรายังห่วงว่าเขาจะทำได้หรือเปล่า แต่คุณครูก็บอกว่าเราต้องเชื่อว่าเขาทำได้ เดี๋ยวเขาก็ทำได้เอง ซึ่งตอนนี้เขาก็ทำได้เองแล้วจริงๆ กินข้าวเอง เก็บจานเอง ใส่ถุงเท้าเอง ใส่รองเท้าเอง ตอนไปโรงเรียนแรกๆ เราก็ช่วยถือกระเป๋า กลัวเขาจะหนักเนอะ พอครูเห็นก็รีบบอกเลยว่าไม่ต้องให้ลูกถือเอง พอไปถึงโรงเรียนก็ต้องเปลี่ยนเป็นรองเท้าที่ใส่ในโรงเรียนเท่านั้น เพื่อความสะอาด แรกๆ เอริคก็ไม่ยอมเปลี่ยน พอเขานั่งนิ่งๆ เราก็จะเข้าไปช่วย คุณครูก็เข้ามาบอกว่าไม่ต้องเลยคุณแม่ คุณแม่กลับไปเลย เพราะถ้าคุณแม่อยู่เขาจะไม่เปลี่ยน แต่ถ้าเขารู้ว่าไม่มีใครช่วยเดี๋ยวเขาก็จะเปลี่ยนเอง ซึ่งตอนนี้เอริคก็ทำได้แล้ว

และที่โรงเรียนก็จะไม่มีภารโรง เขาจะให้เด็กๆ ได้ลองกวาด ลองเช็ด ทำความสะอาดด้วยตัวเองหมดเลย มันไม่สะอาดหรอก แต่มันทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ พอเขาได้ลองทำเอง ก็จะรู้แล้วว่าถ้าเหยียบทรายเข้ามามันจะเลอะแล้วเขาต้องทำความสะอาดเอง เขาก็จะเรียนรู้ที่จะไม่เหยียบทรายเข้ามา ซึ่งทักษะตรงนี้มันช่วยได้มากเวลาที่เขากลับมาบ้าน เขาช่วยเหลือตัวเองได้ บอกให้เก็บของเล่นก็เก็บไม่งอแง คือสิ่งแวดล้อมที่ดีมันก็ช่วยหล่อหลอมให้เขาเรียนรู้และทำตามได้ดี แม่ก็สบายมาก (หัวเราะ)

โรงเรียนอนุบาล

สิ่งแวดล้อมที่ดีมันก็ช่วยหล่อหลอมให้เขาเรียนรู้และทำตามได้ดี แม่ก็สบายมาก

การที่เอริคไม่ได้เกิดที่ญี่ปุ่นทำให้มีปัญหาเรื่องการปรับตัวยากหรือไม่

ไม่ยากเลยนะ อาจเพราะว่าเขายังเด็กอยู่ เด็กน่าจะปรับตัวได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่เอริคต้องปรับตัวเลยคือความมีระเบียบ ซึ่งมายคิดว่าการให้เขาเข้าเนอร์เซอรีก่อนเพื่อปรับตัวมันดีมาก เพราะพอเข้าอนุบาลเขาก็เริ่มรู้ว่าต้องทำอะไรยังไงบ้าง อย่างตอนไปเนอร์เซอรีแรกๆ ครูก็บ่นเหมือนกันว่าเอริคไม่ยอมใช้ช้อนส้อมใช้แต่มือจนเลอะไปหมด ก็ต้องค่อยๆ ปรับกันไป

พอเข้าอนุบาล ก็จะมีชั่วโมงเล่านิทาน เด็กๆ ทุกคนก็จะพากันมานั่งรอคุณครู ปรากฏว่าเอริควิ่งขึ้นไปชั้นสองคนเดียว ครูก็มาบอกแม่ เราก็เลยบอกครูไปว่าถ้าเอริคทำผิดครั้งหน้าอีกดุได้เลยทันที เพราะถ้าไม่ดุตอนนั้น กลับบ้านไปเขาก็ลืมแล้ว ครูก็เลยใช้วิธีบอกว่าถ้าเอริคดื้อ เขาจะไม่ได้ไปเล่น ตอนที่เพื่อนคนอื่นเล่นกัน หลังจากนั้นก็ดีขึ้นเลย

คือครูที่นี่จะไม่กล้าลงโทษเด็ก จนกว่าผู้ปกครองจะอนุญาตและทุกอย่างจะรายงานผู้ปกครองหมด เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จะบอกหมดเลย อย่างเอริคเคยล้มแล้วเป็นแผลที่ปาก คุณครูก็จะมาบอกเลยว่าวันนี้น้องมีแผลที่ปากเพราะหกล้ม แต่ไม่ได้ทะเลาะกับใคร แล้วก็ขอโทษที่ดูแลไม่ดีนะคะ เขาจะละเอียดเรื่องแบบนี้มากๆ

หรือการที่ทุกอย่างที่นี่จะต้องต่อคิว อย่างของเล่นในสวนสาธารณะ ก็จะไม่มีเด็กคนไหนแซงคิวกันเลย เพราะคุณแม่เขาจะคอยบอกลูกว่าต้องต่อคิวก่อน หรือถ้าเล่นนานมากแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนให้คนอื่นเล่นบ้าง แรกๆ เอริคก็งอแง เล่นแล้วไม่ยอมเลิก เราก็บอกเขาเหมือนที่ได้ยินแม่ญี่ปุ่นคนอื่นบอกลูกว่ามันคือของส่วนรวม เป็นของทุกคน ต้องแบ่งให้คนอื่นด้วย ซึ่งพอนานไป เขาก็เข้าใจง่ายขึ้น บางทีแค่พูดว่าพอแล้วนะ เข้าก็หยุดเล่นเลย

ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากความละเอียดและใส่ใจของคุณครูแล้ว ข้อดีของโรงเรียนอนุบาลที่ญี่ปุ่นมีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง

กิจกรรมต่างๆ ค่ะ อย่างที่บอกว่าโรงเรียนจะไม่ได้เน้นให้เด็กหัดเขียนหรือท่องจำมาก จะมีสอนตัวอักษรบ้างในระดับชั้นอนุบาลสามขึ้นไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการให้ทำกิจกรรมมากกว่า มีทั้งดนตรีและกีฬา อย่างเวลาเด็กๆ ร้องเพลงครูก็จะเป็นคนเล่นเปียโนให้ ไม่ได้บอกว่าการเปิดเพลงไม่ดีนะ แต่การที่เด็กได้ยินเสียงดนตรีสดๆ จากคุณครู แล้วเขาก็ร้องเพลงตาม มันน่ารักมากจริงๆ

และโรงเรียนก็ยังพยายามเน้นให้เด็ก ได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งเยอะๆ มีพาออกไปเรียนรู้กฎจราจร สอนให้รู้จักป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ พาไปทัศนศึกษาที่สวนสาธารณะ ซึ่งเด็กๆ ว้าวมาก เพราะมีทั้งบ่อทราย บ่อน้ำ ที่ปีนป่าย อีกอย่างหนึ่งที่ชอบคือรัฐบาลที่นี่ให้การสนับสนุนโรงเรียนดีมากๆ คือพูดได้เลยว่าโรงเรียนอนุบาลที่ญี่ปุ่นไม่มีทางขาดทุนหรือล้มละลาย เพราะไม่ว่ายังไงรัฐก็จะซัปพอร์ตอยู่ดี หรือพิพิธภัณฑ์ ต่อให้ขาดทุน ไม่มีนักท่องเที่ยว เขาก็ยังเปิดต่อไปได้อยู่ดีเพราะมีรัฐที่ให้ความสำคัญกับสถานที่เหล่านี้

ที่ญี่ปุ่นพิพิธภัณฑ์เยอะมาก แล้วมันก็ได้รับการดูแลอย่างดี ที่สำคัญคือค่าเข้ามันถูกมาก มันทำให้พาเด็กๆ ไปได้บ่อยๆ คือเป็นประเทศที่เหมาะกับเด็กจริงๆ ของอย่างอื่นอาจจะแพง แต่พอเป็นอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาของเด็กจะถูกมาก เพราะการที่ประชากรจะมีคุณภาพมันก็ต้องเริ่มจากการศึกษาก่อน

เรามักได้เห็นภาพเด็กญี่ปุ่นเดินหรือขึ้นรถไฟไปโรงเรียนด้วยตัวเอง เขามีการสอนและการดูแลความปลอดภัยให้เด็กๆ อย่างไร

อนุบาลสามก็จะมีเริ่มๆ บ้างแล้วค่ะ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่โรงเรียนด้วย อย่างของเอริควันก่อนก็มีพาไปสวนสาธารณะที่มีแบบจำลองต่างๆ แบบมีป้ายจำลอง มีทางม้าลายจำลอง มีป้ายหยุด ที่นี่เขาจะให้รุ่นพี่ช่วยดูแลน้องๆ คือเด็กอนุบาลสามจะช่วยดูแลอนุบาลสอง ส่วนอนุบาลสองก็ช่วยดูแลอนุบาลหนึ่ง ค่อยๆ จูงกันไป

น้องเอริคน่าจะเป็นเด็กที่เติบโตท่ามกลางความหลากหลายทางภาษา อยากให้ช่วยเล่าประสบการณ์การใช้และสอนภาษาต่างๆ ให้น้องเอริค

คนรอบข้างก็ถามว่าทำไมไม่พูดภาษาญี่ปุ่นกับเอริค แรกๆ ก็สับสนนะว่าจะใช้ภาษาอะไร เพราะเราใช้ภาษาอังกฤษกับอเล็กซ์ ภาษากลางในบ้านก็ควรจะเป็นภาษาอังกฤษหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจพูดภาษาไทยกับลูก แต่ถ้าโตขึ้นแล้วเขาพูดภาษาอื่น แน่นอนว่าเราจะเถียงสู้เขาไม่ได้ (หัวเราะ)

อีกอย่างคือภาษาไทยเป็นภาษาที่ยาก มายเคยสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติมาก่อน เราเป็นคนไทยอาจจะไม่รู้สึก แต่เวลาสอนเรื่องสำเนียง เรื่องการเขียนทุกอย่างมันยากหมดเลย เราเลยอยากให้เอริคเริ่มภาษาไทยไปก่อน พอเอริคพูดภาษาไทยได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว ก็ค่อยเริ่มสอนภาษาญี่ปุ่น แต่ไม่ได้พูดภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด จะสอนแค่วันละชั่วโมงด้วยอ่านหนังสือนิทานก่อนนอน

ส่วนภาษาอื่นก็ยังไม่เอามาปนเลย เพราะภาษาอังกฤษเราก็ไม่ใช่ Native speaker ก็ไม่อยากให้ลูกจดจำสำเนียงผิดๆ ไป เพราะมันจะแก้ยากเหมือนเราเรียนภาษาอังกฤษตอนเด็ก พอติดสำเนียงไหนไปแล้วก็จะติดแบบนั้นไปตลอด

ส่วนพ่อเขาเป็นคนรัสเซีย ก็ให้ใช้ภาษารัสเซียไปเลย แม่ก็ใช้ภาษาไทย เวลาอยู่บ้านเอริคจะพูดไทยกับแม่ พูดรัสเซียกับพ่อ ไปโรงเรียนก็พูดญี่ปุ่น ส่วนภาษาอังกฤษคือยังไม่สอนเลย แต่คิดว่าเขาน่าจะซึมซับอยู่นะเพราะพ่อแม่ใช้ภาษาอังกฤษคุยกัน

แต่นี่เอริคไปโรงเรียนไม่ทันไร เริ่มกลับมาพูดภาษาญี่ปุ่นกับมายแล้ว เหมือนรู้ว่ามายฟังรู้เรื่อง แต่ถ้าคุยกับคุณตาเขาก็จะเปลี่ยนเป็นภาษาไทยอัตโนมัติเลย ตอนนี้เลยใช้วิธีถ้าเขาพูดญี่ปุ่นมาเราก็ตอบกลับเป็นภาษาไทย ด้วยความที่ตอนนี้คลังคำศัพท์ญี่ปุ่นของเขาเริ่มเยอะกว่าภาษาไทยแล้ว เขาเลยเลือกใช้ภาษาญี่ปุ่นมากกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกดีคืออย่างน้อยเอริคยังพูดสำเนียงไทยชัด คำศัพท์น้อยไม่เป็นไรเรื่องนี้มันยังแก้ได้ในอนาคต

โรงเรียนอนุบาลญี่ปุ่น

โรงเรียนที่ญี่ปุ่นมีการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 อย่างไร

เมื่อปีที่แล้วญี่ปุ่นก็ให้เด็กหยุดเรียนเหมือนกัน ซึ่งผลที่ได้คือคนด่ากันเต็มเลย เพราะถ้าพ่อแม่ต้องดูแลลูกแล้วจะไปทำงานยังไง เพราะที่ญี่ปุ่นไม่มีพี่เลี้ยง จะเอาไปฝากเนอร์เซอรีก็เต็ม ขนาดไม่มีโควิดยังเต็มเลย คือมันลำบากไปหมด ผลสุดท้ายทำได้แค่สองสามเดือนก็กลับมาให้เด็กๆ ไปโรงเรียนเหมือนเดิมยกเว้นชั้นมัธยมที่อาจจะมีเรียนออนไลน์บ้าง แต่ถ้าเป็นเด็กอนุบาลก็ยังไปโรงเรียนได้อยู่ อาศัยวัดอุณหภูมิทุกเช้า ล้างมือ แต่ปกติเด็กๆ ที่ไปถึงโรงเรียนเขาจะให้ล้างมือก่อนเลย อันนี้คือทำก่อนโควิดอีกนะ เขาก็จะมีสอนวิธีการล้างมือของเขาด้วย เด็กๆ ก็จะล้างมือแบบนี้กันทุกคน แล้วก็ต้องบ้วนปากด้วย เพราะไวรัสจะลงปากได้ง่าย สิ่งที่เพิ่มมาในตอนนี้คือเด็กๆ ทุกคนจะต้องใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเมื่อก่อนตอนไม่ใส่หน้ากากก็จะติดหวัดกันง่ายมาก แต่พอใส่แล้วกลายเป็นแทบไม่มีเด็กติดหวัดกันเท่าไหร่เลย

ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นอาจจะมีร้านต่างๆ ปิดเร็วขึ้น ต้องล้างมือ ต้องใส่หน้ากากอนามัย  แต่ถามว่าผู้ติดเชื้อเยอะไหม ก็เยอะนะ


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST