READING

คุยกับ เมริษา ยอดมณฑป จากเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ผู้ร...

คุยกับ เมริษา ยอดมณฑป จากเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ผู้รับฟังและที่ปรึกษาที่แสนดีของครอบครัว

ตามใจนักจิตวิทยา

หนึ่งในปัญหาหนักใจคุณพ่อคุณแม่ (น่าจะ) ทุกยุคทุกสมัยก็คือความไม่เข้าใจในตัวลูก ทำไมลูกถึงเป็นอย่างนั้นหรือทำอย่างนี้ ถึงแม้หลายคนจะคิดว่าพ่อแม่ควรจะเป็นคนที่รู้จักลูกของตัวเองดีที่สุด แต่ความจริงแล้วคุณพ่อคุณแม่เองนี่แหละ ที่มักจะมีคำถามเกิดขึ้นระหว่างการเลี้ยงดูลูกเสมอ

และก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบัน จิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้เข้ามามีบทบาทในการเลี้ยงดูลูกของครอบครัวยุคใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเด็กและครอบครัว จึงเป็นบุคคลแรกๆ ที่คุณพ่อคุณแม่นึกถึง เมื่อต้องการที่ปรึกษาและหาคำตอบเกี่ยวกับพฤติกรรม พัฒนาการ และอารมณ์ของลูก

เม—เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว ที่คุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ เรียกเธอว่า ‘ครูเม’ เจ้าของเพจที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและครอบครัว ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’ ห้องเรียนสำหรับครอบครัวที่จะเข้ามาเรียนรู้เพื่อเติบโตไปด้วยกัน โดยพุ่งเป้าไปที่การป้องกันแทรกแซงก่อนเกิดโรค (Early Intervention) ผ่านกระบวนการบำบัดต่างๆ ดังนี้ การกระตุ้นพัฒนาการ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กิจกรรมบำบัด การเล่นบำบัด และกลุ่มบำบัด รวมทั้งมีการให้คำปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ อีกด้วย ทั้งนี้ระหว่างที่เด็กๆ มาเรียนรู้ พ่อแม่จำเป็นต้องมาเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ด้วย เพราะที่นี่เชื่อว่า ‘พ่อแม่เปลี่ยน ลูกจึงเปลี่ยน’

ในฐานะที่ M.O.M เคยชวนครูเมมาช่วยเป็นสปีกเกอร์ตอบคำถามคุณพ่อคุณแม่ทาง clubhouse หลายต่อหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้พูดคุยเกี่ยวกับการทำงานครูเมอย่างจริงจังมาก่อน

เราเลยต้องหาโอกาสเหมาะๆ ชวนครูเมพูดคุยเรื่องอาชีพการงาน ก่อนจะมาเป็นนักจิตวิทยา บทบาทและขอบเขตที่นักจิตวิทยามีต่อเด็กและครอบครัวเป็นอย่างไร การพูดคุยวันนี้มีคำตอบค่ะ

ตามใจนักจิตวิทยา
ขอบคุณภาพจากคุณเมริษา ยอดมณฑป

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักจิตวิทยา

ในความเป็นจริงตอนแรกไม่ได้ตั้งใจเรียนจิตวิทยา แต่มีความสนใจอยากทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนและสารคดี ทำให้มีความสนใจจะเลือกเรียนในคณะแพทยศาสตร์ ไม่ก็นิเทศศาสตร์

โชคดีที่ได้มีโอกาสรู้จักกับ คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ซึ่งเป็นคุณพ่อของเพื่อน ตอนนั้นเราเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้เด็กๆ ไปฝึกงานช่วงปิดเทอม คุณหมอโกมาตรได้แนะนำและพาไปที่โรงพยาบาลเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เพื่อให้ไปเรียนรู้และสังเกตการณ์ การทำงานของคุณหมอที่นั้นเป็นเวลาสองสัปดาห์

  ต้องพักที่โรงพยาบาลและได้ตามติดชีวิตคุณหมอที่เป็น Extern ที่นั่น ทำให้เราได้เห็นว่าคุณหมอท่านหนึ่งต้องทำอะไรหลายอย่าง เพราะโรงพยาบาลเสาไห้เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก

มีวันหนึ่งที่ได้เห็นคุณหมอปั๊มหัวใจช่วยเด็กที่จมน้ำมา ตอนนั้นเรารู้สึกกลัวว่า ถ้าเราเป็นคุณหมอแล้วเราช่วยเด็กคนนั้นไม่ได้ เราจะรู้สึกผิดไหม เรารู้สึกได้ถึงความกดดันและความคาดหวังจากญาติคนไข้ที่มีมหาศาล และการตัดสินใจ ลงมือทำของเรามีผลต่อชีวิตคน วันนั้นก็เริ่มเกิดความลังเลขึ้นมานิดหนึ่งแล้ว เพราะตัวเองไม่ใช่คนที่ปล่อยวางได้ง่าย อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เริ่มรู้ตัวว่าคงไม่เหมาะกับอาชีพแพทย์ คือวันที่มีเด็กที่เป็นฝึที่หูขนาดใหญ่ คุณหมอต้องลงมือผ่าและควักฝีออกมา ตอนนั้นเราทำหน้าที่เป็นลูกมือ ช่วยจับตัวคนไข้ที่เป็นเด็กไว้ ระหว่างทำการรักษาเด็กทำท่าจะอาเจียน แม้เราจะไม่กลัวเลือด แต่กลับกลัวคนอาเจียน และกลัวกลิ่นหนองที่คละคลุ้งมาก จำได้แม่นว่า หลังจากคุณหมอทำการรักษาเด็กคนนั้นเสร็จ เราเดินออกมา ก็รู้สึกตาลาย หูอื้อ เหมือนจะเป็นลม

หลังฝึกงาน เลยเริ่มคิดแผนสำรองแล้วว่าจะเลือกเรียนจิตวิทยา

อีกอย่างคือช่วงชีวิตมัธยม เราเรียนโรงเรียนทางเลือก ทำให้ได้เจอเด็กที่มีความต้องการพิเศษ แต่เราไม่รู้ว่าเขามีความต้องการพิเศษ เพราะเราขาดความเข้าใจ และไม่รู้ว่าจะช่วยเพื่อนอย่างไร รวมทั้งเพื่อนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ก็ทำให้เรารู้สึกอยากช่วย แต่เรากลับทำได้เพียงเป็นที่ปรึกษาและรับฟังเท่านั้น

เราเริ่มมองเห็นความสำคัญของอาชีพนักจิตวิทยามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีความสำคัญ แต่กลับไม่มีอยู่ในโรงเรียนในสมัยนั้น หรือถึงมีเราก็ไม่สามารถเข้าถึงได้เลย

ตามใจนักจิตวิทยา
ขอบคุณภาพจากคุณเมริษา ยอดมณฑป

โรคจิตเวชบางทีเราคิดว่าเป็นแล้วมันหายได้ ซึ่งใช่ค่ะ มันหายได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตใจของเราอ่อนแอ หรือเจอกับสภาวะที่ไม่โอเค มันก็สามารถกลับมาได้อีก 

สนใจเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและครอบครัวแต่แรก หรือมีอะไรทำให้สนใจด้านนี้

กว่าจะรู้ตัวว่าเราอยากทำงานด้านจิตวิทยาเด็กและครอบครัว ก็ตอนจบปริญญาโทแล้ว เพราะตอนเรียนปริญญาตรีที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้มีแยกสาขา เราต้องเรียนจิตวิทยาสาขาหลักๆ ได้แก่ จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร และจิตวิทยาการปรึกษา แต่ตอนปี 3-4 เราสามารถเลือกลงเรียนวิชาที่เป็นสาขาที่เราสนใจได้มากขึ้น ซึ่งเราเลือกเรียน สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาการปรึกษา เป็นสองสาขาหลัก

พอเรียนจบปริญญาตรี เราก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย King’s College London (KCL) เราปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านก็แนะนำให้เรียนจิตวิทยาคลินิก เพราะ จะค่อนข้างตรงสาย แต่การเป็นนักจิตวิทยาคลินิกในต่างประเทศ จำเป็นต้องเรียนถึงปริญญาเอก เราจึงเลือกเรียนสาขา Early Intervention in Psychosis หรือ การป้องกันแทรกแซงก่อนเกิดจิตเวช ซึ่ง นำไปสู่การเรียนจิตวิทยาคลินิกในปริญญาเอก

นิยามสั้นๆ ของสาขานี้ คือก่อนที่คนไข้จะเป็นโรคจิตเวช เราจะเข้าไปป้องกันหรือบำบัด เพื่อให้อาการไม่ถลำลึกหรือพัฒนาไปสู่การเป็นโรคจิตเวช คือโรคจิตเวชบางทีเราคิดว่าเป็นแล้วมันหายได้ ซึ่งใช่ค่ะ มันหายได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตใจของเราอ่อนแอ หรือเจอกับสภาวะที่ไม่โอเค มันก็สามารถกลับมาได้อีก

การเรียนในสาขานี้จะเรียน 4 แกนวิชาหลักๆ ได้แก่ การเรียนเกี่ยวกับโรคจิตเวชต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อม ร่างกาย กลไกการทำงานของสมอง และสมองที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดพยาธิสภาพในเชิงจิตเวชอย่างไร การเรียนรู้เกี่ยวกับยาที่ใช้ในการรักษา แม้นักจิตวิทยาจะไม่สามารถจ่ายยา แต่จำเป็นต้องรู้ถึง side effect หรือผลกระทบของยาที่มีต่อคนไข้ การเรียนเกี่ยวกับวิธีการบำบัดต่างๆ ที่สำคัญ การให้คำปรึกษา การปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ไฟฟ้าและอื่นๆ สุดท้ายคือการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันแทรกแซงก่อนเกิดโรคจิตเวช

ระหว่างเรียนก็มีการฝึกงาน ที่ฝึกงานที่นั่นจะไม่ค่อยอยากรับคนที่เป็น non-native อาจจะเพราะกำแพงทางวัฒนธรรมและภาษา ตอนนั้นที่เดียวที่เราเข้าไปสัมภาษณ์แล้วเขารับจะเป็นที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากมาฝึก เพราะต้องทำงานกับคนไข้เด็ก วัยรุ่น และพ่อแม่ แต่การฝึกงานที่นั่นเราได้อยู่ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกที่มีความเชี่ยวชาญด้าน family intervention ซึ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้านครอบครัวเป็นหลัก

ถือว่าตอนนั้นได้สัมผัสการทำงานกับคนไข้เด็กและวัยรุ่นครั้งแรก และเรารู้สึกถูกชะตาและชอบกับการทำงานรูปแบบนี้

พอเรียนจบ งานแรกเลือกทำคือเป็นนักบำบัดของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ได้ทำงานกับเด็กที่มีภาวะออทิสติกที่มีความรุนแรงมากไปถึงน้อย เด็กที่มีภาวะสมองพิการ เด็กที่มีอาการสมาธิสั้น และเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม

ถ้าเรารู้ว่าธรรมชาติของเด็กในช่วงวัยนี้เป็นยังไง เราก็จะรู้ว่าอะไรจำเป็นสำหรับเขา เช่น ถ้าในเด็กเล็ก สิ่งจำเป็นที่สุดของเขาคือพ่อแม่ ดังนั้นถ้ารู้คีย์เวิร์ด เด็กก็จะได้รับการเติมเต็ม

ดูเหมือนการทำงานช่วงแรกจะเริ่มที่ตัวเด็กมากกว่า แล้วอะไรทำให้คิดว่านักจิตวิทยาจำเป็นต้องทำงานกับพ่อแม่เด็กด้วย

สิ่งที่ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาระหว่างทำงานที่นี่ คือ เด็กที่มาหาเรา เขามาที่นี่แล้วมีพฤติกรรมและพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่เมื่อกลับบ้านเขากลับมีพฤติกรรมแบบเดิม ในกรณีที่ที่บ้านไม่ได้ทำตามแนวทางที่เราทำ เด็กจะเปลี่ยนได้น้อยมาก เพราะพ่อแม่ไม่ยอมเปลี่ยน เราจึงอยากทำงานกับพ่อแม่ เพื่อช่วยเปลี่ยนลูกไปด้วยกัน

ปัจจุบันพ่อแม่ให้ความสำคัญกับจิตวิทยาการเลี้ยงดูมากน้อยแค่ไหน

ปัจจุบันพ่อแม่ค่อนข้างตื่นตัวมากขึ้น เนื่องด้วยการเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่ง่ายขึ้น ส่งผลให้พ่อแม่สามารถเข้าไปอ่านและศึกษาสิ่งที่ไม่เข้าใจได้ง่ายดาย ผนวกกับพ่อแม่ยุคนี้เริ่มแยกแยะแล้วว่า บางอย่างที่ตนเองได้รับมาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม เพราะตนเองเกิดความรู้สึกแย่เกี่ยวกับสิ่งนั้น ทำให้อยากเปลี่ยนวิธีการใหม่ๆ เพื่อใช้กับลูก เพราะพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเกิดบาดแผลแบบเดียวกับที่ตนเองเคยได้รับมา

จริงๆ วิธีการเลี้ยงลูกมันมีเยอะแยะมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ‘พัฒนาการตามวัยของเด็กคนหนึ่ง’ เพราะถ้าเรารู้ว่าธรรมชาติของเด็กในช่วงวัยนี้เป็นยังไง เราก็จะรู้ว่าอะไรจำเป็นสำหรับเขา เช่น ถ้าในเด็กเล็ก สิ่งจำเป็นที่สุดของเขาคือพ่อแม่ ดังนั้นถ้ารู้คีย์เวิร์ด เด็กก็จะได้รับการเติมเต็ม ไม่เกิดการติดขัดในช่วงวัยนั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น เด็กปฐมวัย (0-6 ปี) เขาควรได้รับการพัฒนาเรื่องกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กเป็นสำคัญก่อนการอ่านออกเขียนได้ แต่ถ้าผู้ใหญ่มองว่า เรื่องการเขียนได้ เป็นเรื่องสำคัญกว่า เราอาจจะทำให้เด็กคนหนึ่งขาดโอกาสเติบโตตามวัยของเขา คือ การเล่น การปีนป่าย การช่วยเหลือตัวเอง เพื่อมานั่งลงบนเก้าอี้ มือจับดินสอเพื่อเขียนไปเรื่อยๆ ทั้งที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกล้ามเนื้อมัดเล็กยังไม่พร้อมแต่ขณะเดียวกันเด็กบางคนอาจจะมีพัฒนาการที่ไวกว่าเพื่อน พ่อแม่อาจจะพุ่งเป้าไปที่เรื่องที่เขาทำได้ดี จนลืมที่จะพัฒนาในสิ่งที่จำเป็นกับวัยของเขาด้วย เช่น เด็กอนุบาลบางคนบวกลบเลขได้คล่อง แต่ยังกินข้าวเองไม่เป็น เป็นต้น

การคาดหวังเหมาะสมกับวัยไปทีละขั้นอย่างมั่นคง และการให้เราได้ทำสิ่งที่สำคัญในช่วงชีวิตของเขา จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมา โดยมีราฐานที่แข็งแรง เมื่อเขาพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วมีวันหนึ่งที่เขาพลาดตกลงมา เขาจะรู้วิธีที่จะปีนกลับขึ้นไป

สิ่งสำคัญของการบำบัด อาจจะไม่ใช่การไปหานักบำบัด แต่คือ การนำสิ่งที่คุณหมอและนักบำบัดบอกมาใช้และทำที่บ้านอย่างจริงจัง เพราะระยะเวลาที่เด็กใช้ที่บ้านนั้นมีมากกว่ากว่ามาพบคุณหมอและนักบำบัดมากนัก

แต่บางทีพ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าจะเข้าถึงนักจิตวิทยาเด็กได้ยังไง ต้องไปที่ไหน

ข้อแนะนำในเบื้องต้น คือ การไปพบคุณหมอก่อน ซึ่งในเด็กเล็กจะเริ่มต้นจาก คุณหมอด้านพัฒนาการ (แพทย์พัฒนาการ) หรือกุมารแพทย์ถ้าเด็กโตที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต หรือมีความต้องการพิเศษบางอย่าง ก็ควรพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่มีหมอเฉพาะทางจะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลที่มีโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่

เมื่อพบคุณหมอแล้ว อาจจะมีการวินิจฉัยหรือการติดตามอาการ โดยคุณหมอจะชี้แจงว่า อาการของน้องหรือปัญหาที่พบคืออะไร และควรได้รับการบำบัดหรือกระตุ้นแบบไหน บางโรงพยาบาลที่มีสหวิชาชีพอยู่ เช่น นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาพัฒนาการ นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด (แก้ไขการพูด) นักกายภาพบำบัด และอื่นๆ คุณหมอก็อาจจะส่งต่อน้องไปยังแผนกเหล่านั้นเพื่อได้รับการบำบัดและรักษาต่อไป แต่ถ้าโรงพยาบาลไม่มี คุณหมออาจจะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ไปหานักบำบัดข้างนอกตามความจำเป็นของน้อง ซึ่งคลินิกของนักบำบัดวิชาชีพต่างๆ เช่น คลินิกกระตุ้นพัฒนาการ คลินิกกิจกรรมบำบัด การเล่น-ศิลปะบำบัด เป็นต้น สามารถค้นหาได้ทางอินเทอร์เน็ต

สิ่งสำคัญของการบำบัด อาจจะไม่ใช่การไปหานักบำบัด แต่คือ การนำสิ่งที่คุณหมอและนักบำบัดบอกมาใช้และทำที่บ้านอย่างจริงจัง เพราะระยะเวลาที่เด็กใช้ที่บ้านนั้นมีมากกว่ากว่ามาพบคุณหมอและนักบำบัดมากนัก

ในส่วนของค่าใช้จ่าย หากเป็นโรงพยาบาลรัฐ สามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมหรือบัตรทองได้ แต่ความถี่ในการพบนักบำบัดอาจจะเพียงเดือนละครั้ง ซึ่งค่อนข้างน้อย หากเทียบกับการไปบำบัดที่เอกชนหรือคลินิก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องนำ home program ที่นักบำบัดแนะนำไปทำอย่างจริงจังที่บ้าน จึงจะได้ผลดี

แสดงว่า ก่อนจะเลือกไปหานักจิตวิทยา ควรเริ่มต้นจากพบจิตแพทย์ก่อน 

โดยปกตินักจิตวิทยาไม่สามารถวินิจฉัยโรคหรือจ่ายยาได้ ดังนั้นหากเราไม่แน่ใจว่าลูกเป็นอะไร ควรเริ่มต้นที่คุณหมอก่อน เมื่อคุณหมอวินิจฉัยหรือชี้แจงปัญหาที่ต้องบำบัดแล้ว เราสามารถไปพบนักจิตวิทยาและนักบำบัดในด้านต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม

บางโรคคุณหมอยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันที เพราะเด็กอาจจะยังไม่ถึงวัยที่จะวินิจฉัยได้หรืออาการยังไม่ชัดเจน และสามารถกระตุ้นเพื่อป้องกันแทรกแซงก่อนเป็นโรคได้ คุณหมอจะให้โอกาสในการไปบำบัดและกระตุ้นพัฒนาการก่อน แล้วติดตามการรักษาเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น เด็กในวัยต่ำกว่า 6 ปี ที่มีอาการคล้ายสมาธิสั้น หรือมีอาการคล้ายบกพร่องด้านการเรียนรู้ คุณหมออาจจะยังไม่ได้วินิจฉัยทันที แต่ให้ไปฝึกและบำบัดดูก่อน ถ้าเด็กมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็อาจจะไม่ได้รับคำวินิจฉัยนี้

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักรู้ คือการไปพบนักบำบัดหลายที่อาจจะทำให้เด็กเกิดความสับสนได้ หากเราเลือกกระตุ้นพัฒนาการหรือบำบัดที่ใด ควรยึดแนวทางที่นั้นเป็นหลัก เพราะนักบำบัดแต่ละที่อาจจะใช้เทคนิคหรือแนวทางการบำบัดไม่เหมือนกัน ส่งผลให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้ต่อเนื่อง เช่น บางที่เชื่อว่า เมื่อเด็กพร้อมเด็กจะสามารถทำได้ด้วยตนเอง เพียงแค่ผู้บำบัดต้องให้โอกาสและเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็ก แต่บางที่เชื่อว่า ถ้าเรารอต่อไป เด็กจะลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ดังนั้นการสอนพฤติกรรมใหม่ไปเลย จะทำให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่เหมาะสมได้ทันที

ตามใจนักจิตวิทยา
ขอบคุณภาพจากคุณเมริษา ยอดมณฑป

พ่อแม่จะทราบได้อย่างไรว่าควรเลือกแนวทางไหนให้กับลูก

ขั้นแรกปรึกษาคุณหมอว่า ลูกจำเป็นต้องได้รับการบำบัดเรื่องอะไรเป็นสำคัญ ก็เริ่มแก้ที่สิ่งนั้นก่อน แล้วเลือกแนวทางที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ และเหมาะสมกับครอบครัว แต่ที่สำคัญที่สุดคือเด็กเกิดการตอบสนองที่ดีกับแนวทางนั้น

คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ว่าเราสามารถเลือกคุณหมอและนักบำบัดได้เสมอ ไม่มีที่ไหนที่ดีที่สุด มีแต่ที่ไหนที่เหมาะกับเราและลูกมากกว่า

พ่อแม่ที่รับมือกับลูกไม่ได้ก็จะเครียดแล้วก็ลงกับลูก ลูกก็เครียดแล้ววนกลับไปลงที่พ่อแม่ สุดท้ายสุขภาพจิตก็เสียทั้งพ่อแม่และลูก 

แต่บางครั้งพ่อแม่ก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ลูกเป็น อยู่ในขั้นที่ควรไปหาหมอหรือเป็นเรื่องธรรมดากันแน่

แค่สงสัยแล้วรู้สึกว่ารับมือไม่ได้ ก็ไปพบคุณหมอได้แล้ว เช่น ลูกมีพฤติกรรมที่เราเอาเขาไม่ลง หรือมีหลายอย่างที่รู้สึกว่ารับมือไม่ได้ ก็ควรจะเข้าไปปรึกษาทันที เพราะถ้าปล่อยไว้ สุดท้ายก็เหมือนงูกินหาง พ่อแม่ที่รับมือกับลูกไม่ได้ก็จะเครียดแล้วก็ลงกับลูก ลูกก็เครียดแล้ววนกลับไปลงที่พ่อแม่ สุดท้ายสุขภาพจิตก็เสียทั้งพ่อแม่และลูก

เพราะบางทีมันไม่ใช่แค่เรื่องของพัฒนาการ ต้องถามก่อนว่าลูกเกิดพฤติกรรมนี้เป็นเพราะร่างกายหรือที่การเลี้ยงดู เด็กบางคนซนมาก ก็ต้องดูว่าเขามีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นหรือมีปัญหาจิตใจบางอย่างหรือเปล่า เพราะอาการซนมากของเด็กบางคนก็เป็นสัญญาณของออทิสซึมหรือสมาธิสั้นเหมือนกัน

ถ้าไม่ใช่เรื่องพวกนี้ แต่เป็นเรื่องการเลียนแบบพฤติกรรมบางอย่างมา แล้วพ่อแม่ไม่สามารถเอาพฤติกรรมเหล่านั้นลงได้ ก็แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็ก หรือหาคลินิกที่ให้คำปรึกษาเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ หรือคุณพ่อคุณแม่อาจต้องศึกษาจากเพจคุณหมอต่างๆ เพราะประเทศไทยยังค่อนข้างขาดเรื่องของการปรับพฤติกรรมส่วนใหญ่ แต่ถ้ารับมือไม่ได้จริงๆ ก็ให้พบจิตแพทย์ค่ะ

ถ้าให้ครูเมเล่าถึงเคสที่เรียกว่างานหินหรือเคสที่รับมือยาก

เราเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาและเติบโตได้ ความหินของเด็กถึงไม่ค่อยมี แต่ความหินของเคสมักจะมาจากคุณพ่อคุณแม่ หรือสภาพแวดล้อมของเด็กคนนั้นว่าจะไปในแนวทางเดียวกันได้ไหมมากกว่า

เพราะถ้าหากคุณพ่อคุณแม่มองไม่เห็นปัญหาแบบเดียวกับที่เรามอง ก็เป็นการยากที่เราจะปรับเปลี่ยนเด็กไปด้วยกัน ไม่มีอะไรผิดไม่มีอะไรถูก มีแค่ว่าปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการจะแก้ไข ตรงกับนักบำบัดหรือไม่ และแนวทางที่นักบำบัดใช้ ตรงกับความต้องการของคุณพ่อคุณแม่หรือเปล่า

ถ้าเป็นลักษณะนี้เราจะไม่สู้ เพราะว่าจะมีแต่เจ็บกับเจ็บ คือพ่อแม่ก็จะรู้สึกว่าเราเป็นใคร เข้ามาก้าวก่ายชีวิตเขากับลูก ดังนั้นแล้วนักจิตวิทยาและจิตแพทย์จะย้ำกันเลยว่าถ้าคนไข้ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา ต่อให้มีคนลากมาแล้วบอกว่าเขามีปัญหา ก็คงแก้ไขไม่ได้

ถ้าลูกอยู่ในช่วงวัย 0-8 ปี เด็กจะยังไม่มองว่าตัวเองเป็นปัญหา อันนี้เขาจะค่อนข้างให้ความร่วมมือ ทำตาม แต่ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่น เราก็ต้องมาแยกปัญหาให้ชัดเจนก่อนว่ามันถึงขั้นทำลายคุณภาพชีวิตไหม เช่น ไม่กินไม่นอน และไม่ทำอะไรที่เป็นชีวิตปกติสุข อันนี้อาจจะต้องเป็นจิตแพทย์เข้าไปช่วย แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมลูกขี้เกียจ ลูกไม่กระตือรือร้น เราไม่แก้ โดยเฉพาะหากตัวเด็กไม่ได้อยากแก้ เพราะมันเป็นเรื่องความต้องการของเขา อันนี้คือสิ่งที่ต้องคุยกับพ่อแม่ให้ชัดเจน

ถ้าเด็กเกิน 6 ขวบขึ้นไป ครูเมมักจะไม่ใช้คำว่าปรับพฤติกรรม แต่จะเรียกเป็นการปรับความคิดของเขามากกว่า เพราะว่าเด็กเกิน 6 ขวบ เขาจะเริ่มเข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไร อย่างลูกถนัดซ้ายมาตลอด แต่พอ 10 ขวบ พ่อแม่บอกว่าไม่ได้นะ ต้องกลับมาถนัดขวา เขาก็คงฝืนใจ อึดอัด และคิดว่าจะทำอะไรก็ยุ่งยากไปหมด ขนาดร่างกายยังเห็นได้ชัด แต่จิตใจมันยากกว่าด้วยซ้ำ

แสดงว่าถ้าต้องมีการปรับพฤติกรรม ควรเริ่มทำก่อนลูกอายุ 6 ขวบ

ถ้าหากอ้างอิงตามพัฒนาการของสมองและการสร้างตัวตนหรืออุปนิสัยของเด็ก จะเริ่มเสถียรตอนอายุ 6 ปี ดังนั้นบางอย่างที่กลายเป็นความเคยชินหรือเป็นส่วนหนึ่งของเขาแล้ว จะปรับเปลี่ยนได้ยาก ในเด็กวัย 6 ปีขึ้นไป กระบวนการบำบัดจะไม่ใช่การปรับพฤติกรรม แต่เป็นการปรับเปลี่ยนความคิด

เพราะในเด็กโตเราจะมาจับมือเขาทำ หรือบอกให้เขาเปลี่ยนแปลงอะไรนั้นเป็นเรื่องยาก เราต้องใช้ทั้งความสัมพันธ์ ความเชื่อใจ และเวลา

  แต่ในเด็กเล็ก เขามีแนวโน้มที่จะเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่มากกว่า ร่างกายเขายังพร้อมปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับวิถีชีวิตที่สามารถปรับแก้ให้เหมาะสมกับวัยของเขาได้อยู่

  อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช่พฤติกรรมหรือการกระตุ้นพัฒนาการ นักบำบัดจะไม่เข้าไปแก้ไขตัวตนของเด็ก เช่น การเลือกเพศสภาพ การเป็นคนใจร้อนหรือใจเย็น ความชอบ หรือความสามารถพิเศษอื่นๆ

  แต่การฝึกหรือการบำบัด สามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการตรงตามวัย

แม้เขาจะเป็นคนใจร้อน แต่นักบำบัดสามารถช่วยให้เขาทำสิ่งต่างๆ ให้ช้าลงและรอบคอบขึ้นได้ แต่การทำอะไรช้าลงและรอบคอบ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นคนใจเย็น เด็กอาจจะใจร้อนเหมือนเดิม แต่รู้วิธีที่จะทำสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสมมากขึ้น

ตามใจนักจิตวิทยา
ขอบคุณภาพจากคุณเมริษา ยอดมณฑป

และตอนนี้ครูเม กำลังมีหนังสือ My Little Seed ผลงานเขียนที่รวบรวมเอาหลักวิชาพัฒนาการเด็ก ความรู้ความเข้าใจด้านจิตวิทยา และประสบการณ์ที่สั่งสมมา มาร้อยเรียงเป็นตัวอักษร ถ่ายทอดทั้งเรื่องพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัย ปัญหาสารพันที่พ่อแม่ต่างพบเจอ เสนอแนะแนวทางการจัดการที่หนักแน่นแต่อ่อนโยน เปี่ยมไปด้วยความรัก ทั้งยังมีเรื่องราวจากงานวิจัยอ่านสนุกที่สอดแทรกเป็นระยะ สามารถสั่งซื้อ (Pre-Order) ได้ ที่นี่


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST