READING

คุยกับ ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ (เจ้าของเพจ เลี้ย...

คุยกับ ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ (เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ): ค่าน้ำนมแม่นี้ มีแต่ลูกแม่เท่านั้นที่เหมาะสม

จากประเด็นถกเถียงเรื่องการบริจาคน้ำนม มาสู่ข้อสงสัยว่า ทำไมเราถึงไม่ควรให้ลูกกินน้ำนมคนอื่น แล้วมีน้ำนมเยอะจะให้ทิ้งหรืออย่างไร ถ้าคุณแม่ไม่มีน้ำนม ให้ลูกกินน้ำนมคนอื่นไม่ได้เหรอ ต้องจำเป็นแค่ไหนถึงให้ลูกกินนมที่มาจากการรับบริจาค และธนาคารนมแม่ทำงานกันอย่างไร…

 

M.O.M จึงมาขอความรู้จาก คุณหมอวิน—ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา และมะเร็งในเด็ก (เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ) เพื่อคลายข้อสงสัย และทำความเข้าใจใหม่ว่า นมแม่ดีที่สุด… กับลูกตัวเองเท่านั้น

ทำไมเราถึงไม่ควรให้ลูกกินน้ำนมของคนอื่น

ต้องบอกว่านมแม่นี่ดีที่สุดอยู่แล้ว แต่จะดีที่สุดก็ต่อเมื่อแม่แท้ๆ ให้ลูกแท้ๆ เพราะนมแม่ก็เป็นสารคัดหลั่งของร่างกาย เหมือนเลือด เหมือนน้ำเหลือง เพราะฉะนั้น แน่นอนว่าหนึ่งคือความเสี่ยงที่เราจะเอาโรคจากเจ้าของน้ำนมมาให้ลูกเรา สองคือการติดเชื้ออื่นๆ จากการเก็บรักษาน้ำนมได้ไม่ดีพอ และไม่ได้มาตรฐาน

ต้องเท้าความหน่อยว่า การติดเชื้อเป็นอย่างไรบ้าง การติดเชื้อที่เราเจอจากนมแม่ได้ คือเชื้อโรคกลุ่มไวรัส ตัวแรกคือพวก HIV เพราะขนาดคุณแม่ที่ติดเชื้อ HIV เอง ก็ต้องหลีกเลี่ยงการให้นมลูกตัวเองอยู่แล้ว ต่อมาคือพวกไวรัส CMV (Cytomegalovirus), EBV (Epstein-Barr Virus), ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี หรือตัวที่อาจไม่คุ้นชื่อเท่าไร เช่น HTLV1 (Human T-Lymphotropic Virus)

ที่ต้องพูดถึงตัว HTLV1 เพราะว่ามันเป็นไวรัสที่ติดแล้วไม่แสดงอาการทันที แต่จะไปแสดงอาการตอนแก่ ก็จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้คือความเสี่ยง

แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่พูดมา ถ้าเราทำภายใต้การดูแลของธนาคารนมแม่ ก็จะมีการคัดกรองมาอย่างดีครับ

มีกรณีอะไรบ้างที่แม่ไม่สามารถให้นมลูกเองได้

สองอย่างนะครับ หนึ่งคือโรคของคุณแม่เอง ที่ทำให้มีผลกระทบกับน้ำนม เช่น HIV สองก็คือคุณแม่เป็นโรคที่ต้องกินยาบางอย่าง เช่น ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะบางตัวสามารถขับออกมาทางน้ำนมได้ แต่ในกรณีนี้ หลังจากคุณแม่กินยาครบกำหนดแล้ว ก็สามารถกลับไปให้นมตามปกติได้

หรือคุณแม่เป็นโรคประจำตัวที่อาจทำให้ให้นมลูกไม่ได้ เช่น ความดันโลหิตสูงมาก หรือมีโรคประจำตัวที่วิกฤต ก็อาจจะให้นมไม่ได้ในช่วงแรก ทั้งนี้ขึ้นกับคุณหมอที่ดูแลจะพิจารณาว่าเมื่อไรถึงจะปลอดภัยและให้ลูกเข้าเต้าได้ บางคนต้องเว้นช่วงตรงนี้นาน ก็ทำให้ลูกไม่ได้เข้าเต้า และไม่ได้เริ่มปั๊มนม ทำให้น้ำนมมาไม่ดี ก็เลยกลายเป็นกลุ่มคุณแม่ที่ให้นมลูกเองไม่ได้ ส่วนอีกกลุ่มก็คือคุณแม่ที่ดูแลการให้นมไม่ดี น้ำนมเลยแห้ง

น้ำนมแห้งหมายถึงแม่ที่ไม่มีน้ำนมตามธรรมชาติหรือเปล่า

คำว่าไม่มีน้ำนมตามธรรมชาตินี่ จริงๆ เขามีการเก็บข้อมูลนะครับ ว่าพบน้อยมาก แทบจะเป็นจุดทศนิยมเลยที่คุณแม่จะไม่มีน้ำนมตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการดูแลเต้านมและการให้นมที่ผิด ก็เลยทำให้น้ำนมแห้งมากกว่า

อีกประเด็นคือนมผง หมายความว่า ลูกคลอดออกมาแล้ว แทนที่คุณแม่จะได้รับการกระตุ้นน้ำนมที่ดี ซึ่งสำหรับหมอ การกระตุ้นน้ำนมที่ดีต้องใช้หลัก 3 ด.—หนึ่งคือ ‘ดูดเร็ว’ หมายถึงแรกเกิดแล้วเอาลูกเข้าเต้าให้เร็ว สองคือ ‘ดูดถูก’ หมายถึงให้ลูกดูดถูกวิธี และสามคือ ‘ดูดสม่ำเสมอ’ บางทีเด็กคลอดออกมาแล้วปล่อยเวลาไว้นาน กว่าจะได้มาเข้าเต้าคุณแม่ พอไม่ได้เอามาเข้าเต้าแล้วไปชงนมผงให้เด็กกินก่อน เด็กอิ่มแล้วเขาก็ไม่ดูดเต้า พอลูกไม่ดูดก็จบแล้ว เพราะไม่มีอะไรกระตุ้นนมแม่เท่ากับให้ลูกดูดเต้าอีกแล้ว แบบนี้แหละที่จะทำให้นมแม่แพ้นมผง เพราะเราไปรีบใช้นมผงและใช้เยอะเกินความจำเป็น

แต่มันก็มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ที่บอกว่าเด็กคนไหนจำเป็นต้องได้รับนมผง กรณีนั้นก็ควรจะให้เด็กได้กิน แต่ส่วนใหญ่ตรงกันข้าม คือเรารีบใช้นมผงกันมากเกินไป

เด็กแรกเกิดบางคนไม่ได้ต้องการน้ำนมขนาดนั้น กระเพาะเขานิดเดียวเอง นมแม่แค่ไม่กี่หยดก็เพียงพอแล้วในช่วงหนึ่งสัปดาห์แรก แม่บางคนบอกว่าสงสารลูก รีบชงนมผงให้กินก่อน คราวนี้น้ำนมแม่ก็ยิ่งแห้ง สองคือคุณแม่ยอมแพ้ไปก่อน น้ำนมยังไม่ทันมา แต่แม่ชิงถอดใจไปก่อน สุดท้ายน้ำนมก็แห้งเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น หนึ่งเดือนแรกของลูก หมอเรียกว่าเป็นจุดวัดใจคุณแม่เลย

หมายความว่า ถ้าลูกคลอดแล้วยังไม่มีน้ำนมให้ลูก ก็ไม่ต้องตกใจ…

ใช่ครับ ในช่วงหนึ่งสัปดาห์แรก ถ้ายังไม่มีน้ำนมก็ยังไม่ต้องตกใจ มันอยู่ในสายพานการผลิตแน่นอน และลูกจะเป็นคนที่รันสายพานนั้นเอง เพราะฉะนั้น ให้ลูกเข้าเต้าสม่ำเสมอ แล้วคุณหมอจะช่วยบอกเองว่า ตอนไหนยังรอได้ หรือตอนไหนที่… โอเค ไม่ไหวแล้ว เช่น ลูกน้ำหนักลดเกินสิบเปอร์เซ็นต์ หรือลูกตัวเหลืองมาก

และคำว่าไม่มีนมแม่ ต้องขยายความอย่างนี้ว่า ปกติแล้วตามธรรมชาติ ช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะผลิตน้ำนมเหลือง (Colostrum) อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อลูกคลอด อย่างน้อยลูกจะมีน้ำนมเหลืองให้กินอยู่แล้ว อาจจะ 1-2 หยด บางคนได้น้อยกว่านั้น แต่ก็ถือว่าเพียงพอในช่วง 1-2 วันแรก เพราะเด็กที่คลอดมาอย่างปกติ เขาไม่ได้ต้องการอะไรเยอะ

กรณีไหนที่เด็กจำเป็นต้องกินนมที่มาจากการบริจาค

จริงๆ ไม่มีข้อบ่งชี้ที่เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่า เด็กคนไหนจำเป็นต้องกินนมแม่ที่รับบริจาคมา เพราะการรับน้ำนมจากคนอื่นถือว่าเป็นความเสี่ยง เพราะฉะนั้น โดยทั่วไป เด็กที่อาจจะต้องได้รับน้ำนมคนอื่น แต่ย้ำว่าต้องมาจากธนาคารนมแม่เท่านั้นนะครับ จะต้องมีการชั่งน้ำหนักข้อดีกับข้อเสีย คือต้องจำเป็นมากจริงๆ เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด เพราะนมแม่ ถึงแม้จะเป็นของคนอื่น แต่ถ้ามาจากธนาคารนมแม่ ก็จะช่วยเขาได้เรื่องภูมิคุ้มกัน ลดการเกิดลำไส้เน่า ลำไส้อักเสบ และก็ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้

ซึ่งจะไม่ได้ให้กินนานมาก…

ใช่ครับ แค่ช่วงแรกที่จำเป็น

“สมมติว่ามันไม่ได้จริงๆ
ต้องเลือกว่าระหว่างจะรักษาตัวเองหรือให้นมลูก
หมอแนะนำว่ารักษาตัวเองก่อน
เพราะถ้าแม่ไม่โอเค ลูกไม่มีทางที่จะโอเค”

ยุคนี้มีคุณแม่ที่กำลังรักษาโรคซึมเศร้าและต้องกินยาไปด้วย

ต้องปรึกษาคุณหมอจิตเวชที่จ่ายยาเลยครับ บอกคุณหมอว่าเราต้องการให้นมลูก อยากจะเป็นระยะเวลาเท่าไร คุณหมอจะช่วยเรื่องยาได้ แต่ทีนี้สมมติว่ามันไม่ได้จริงๆ ต้องเลือกว่าระหว่างจะรักษาตัวเองหรือให้นมลูก หมอแนะนำว่ารักษาตัวเองก่อน เพราะถ้าแม่ไม่โอเค ลูกไม่มีทางที่จะโอเค เพราะว่าบางคน ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า พอมีลูก ตัวเองก็หยุดยารักษาโรคซึมเศร้า เพราะอยากให้นมลูก สุดท้ายก็ไม่ไหวทั้งคู่ก็มี หมอคิดว่ายังไงตัวคุณแม่ก็ต้องดูแลตัวเองให้โอเคก่อน

นมแม่เป็นสิ่งที่ดีก็จริงครับ แต่อย่าเอามาเป็นสรณะ เพราะการเลี้ยงลูกไม่ได้มีแค่นมแม่นะ มันไม่ใช่ให้ลูกกินนมแม่ ปั๊มนมให้ลูกทุกวัน แต่ไม่ดูแลเลี้ยงดูด้านอื่น มันก็ไม่ใช่

แต่สมัยก่อนเราเคยมียุคที่เลี้ยงลูกด้วยแม่นมหรือนมคนอื่นมาแล้ว

(หัวเราะ) ใช่ๆ แต่สมัยนั้นเราไม่รู้ไง ว่ามันจะมีผลเสียอะไรบ้าง เรายังไม่รู้จักเชื้อไวรัสกันเลย แต่สมัยนี้เรารู้จักเชื้อโรคมากขึ้น เพราะวิทยาการทางการแพทย์มันดีขึ้น คนยุคนั้นอาจตายเพราะสาเหตุอะไรแบบนี้ก็ได้ แต่เรายังบอกไม่ได้ ว่ามันเกิดเพราะอะไร เกี่ยวกับการเลี้ยงด้วยแม่นมหรือเปล่า แต่ตอนนี้เรารู้แล้ว เรารู้แล้วว่ามันมีข้อเสีย เราก็ไม่ควรเอาลูกไปเสี่ยง

ค่านิยมกินนมแม่เท่านั้น

หมอกำลังคิดว่ามันเป็นการหลงประเด็น หมอเชื่อว่าแม่ทุกคนอยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก แต่เพราะเราพูดกันว่านมแม่ดีที่สุด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วโลก แต่พอเราพูดกันว่านมแม่ดีที่สุด แล้วโยนให้นมผงกลายเป็นผู้ร้าย ซึ่งจริงๆ นมผงก็ไม่ใช่ผู้ร้าย แต่พอพูดแบบนี้ก็กลายเป็นว่า เด็กต้องกินนมแม่ จะเป็นนมแม่ที่ไหนก็ได้ ซึ่งจริงๆ ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ถ้าแม่ให้ลูกกินนมตัวเองไม่ได้ ระหว่างการให้ลูกกินนมผงกับกินนมคนอื่น นมผงก็ยังเป็นอาหารที่ให้ลูกกินได้อย่างมั่นใจ ว่าลูกจะไม่ติดเชื้อโรคจากคนอื่น

อย่างไรก็ตาม มันเกิดจากการหลงประเด็น ถ้าไม่จำเป็น ทำไมเราต้องไปให้นมแม่คนอื่น ทำไมไม่หาวิธีเพิ่มน้ำนมให้ตัวเอง เพราะยิ่งให้ลูกกินน้ำนมคนอื่น คุณแม่เองก็จะยิ่งผลิตน้ำนมไม่ได้ หมอก็เลยบอกว่า อย่าไปพึ่งนมคนอื่นเลย พึ่งลูกเรา พึ่งเต้านมตัวเองให้เต็มที่

หมอว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่ ถ้าพยายามหรือมีวินัยกับการให้นม คุณแม่จะทำสำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ที่ทำไม่ได้เป็นคนไม่มีวินัยนะ แต่อยากให้พยายามก่อน พยายามเถอะ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนแรก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่แม่ไม่ตึงเกินไป ไม่หมกมุ่นมาก ก็จะผลิตน้ำนมได้ดีกว่าคุณแม่ที่เครียดหรือกดดันตัวเองเกินไป

คุณแม่ที่น้ำนมมากเกินไปเกิดจากอะไร

ก็ถือว่าเป็นคุณแม่กลุ่มพิเศษ อย่างบางคนที่น้ำนมเยอะเองตามธรรมชาติ ก็เหมือนแม่วัวพันธุ์ดี (หัวเราะ) แต่คุณแม่บางกลุ่มก็น้ำนมเยอะ เพราะพยายามเร่งจะทำสต๊อกน้ำนมมากเกินไป เช่น ลูกดูดนมจากเต้าอิ่มแล้ว คุณแม่ก็พยายามปั๊มน้ำนมต่อ ปั๊มตลอดเวลา เป็นคุณแม่ที่ติดการปั๊ม ร่างกายก็จะคิดว่ายังผลิตน้ำนมไม่พอให้ลูก ร่างกายก็พยายามผลิตน้ำนมมากขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้วันนึงจะหยุดปั๊มก็หยุดไม่ได้แล้ว เพราะร่างกายมันผลิตน้ำนมออกมาไม่หยุด จนมันมากเกินพอ มากเกินที่ลูกจะกิน สุดท้ายก็ต้องปั๊มทิ้ง เพราะถ้าไม่ปั๊มก็จะอักเสบบ้าง ท่อน้ำนมตันบ้าง

สำหรับคุณแม่ที่หมอดูแลเอง จะบอกเขาเสมอว่า เดือนแรกเอาแค่ลูกพอกินก่อน ไม่ต้องไปซีเรียสเรื่องจะต้องปั๊มนมเก็บไว้ ไม่ต้องไปโหมร่างกายตัวเองเยอะ เพราะเราต้องการแค่ให้ลูกอิ่มท้อง แต่พอเดือนที่สอง คุณแม่บางคนต้องกลับไปทำงานแล้ว ค่อยเริ่มปั๊มตอนช่วงเดือนที่สองที่สามก็ได้ แม่บางคนกลับบ้านไปสัปดาห์แรกก็เร่งปั๊มเลย แล้วก็กลายเป็นน้ำนมล้นตู้ นมที่ปั๊มไว้ก็ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะลูกกินจากเต้า สุดท้ายก็ต้องทิ้ง พอทิ้งแล้วก็เสียดาย ก็เลยเกิดความคิดว่าหรือเอาไปให้คนอื่นดี อันนี้หมอไม่แน่ใจว่ามันทำบุญหรือทำบาปกันแน่ เพราะมันดีกับลูกเรา แต่มันอาจไม่ดีกับลูกคนอื่นก็ได้

“ต้องคิดว่าสิ่งที่เราจะให้ เรากำลังให้กับเด็กแรกเกิด
และส่วนมากเป็นเด็กป่วยและไม่แข็งแรงด้วย
เรายิ่งต้องแน่ใจเรื่องความปลอดภัยและได้มาตรฐาน”

โดยทั่วไป คุณแม่ที่มีน้ำนมมาก สามารถตั้งตัวเองเป็นธนาคารนมแม่ได้หรือไม่

ไม่ได้เลย ต้องบอกว่ามาตรฐานของธนาคารนมแม่นี่เหมือนธนาคารเลือดเลยครับ

เหมือนที่เราไม่สามารถเปิดสภากาชาดเองได้…

ใช่ครับ (หัวเราะ) และต้องคิดว่าสมมติคุณแม่น้ำนมเยอะ ที่เราเห็นกันก็คือไปไหนก็ต้องปั๊มนม ไปเที่ยวก็ปั๊ม ไปทำงานก็ปั๊ม ปั๊มเสร็จก็ใส่ถุง เราจะมั่นใจความสะอาดได้อย่างไร เขาไม่สามารถเอาน้ำนมเข้าตู้เย็นที่คุมอุณหภูมิและได้คุณภาพได้ทันที มันก็มีโอกาสปนเปื้อนได้

ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นที่ธนาคารนมแม่จะเป็นคนละเรื่องเลย คือคนจะบริจาคต้องไปปั๊มที่โรงพยาบาล ปั๊มเสร็จเก็บลงภาชนะจำเพาะ แล้วนำไปเก็บทันที หรือถ้าเป็นต่างประเทศ เขาจะมีหน่วยงานออกไปรับบริจาคที่บ้าน ซึ่งมีภาชนะและอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บที่ได้มาตรฐาน

ที่เมืองไทยมีหน่วยงานรับบริจาคน้ำนมนอกสถานที่อย่างนั้นไหม

ที่เมืองไทยยังไม่มีหน่วยงานรุกขนาดนี้ ถ้าอยากบริจาคต้องไปสองที่คือ ธนาคารนมแม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิริราช

 

ทีนี้ก่อนได้น้ำนมก็ต้องมีการคัดกรองผู้บริจาค ไม่ใช่แค่บอกว่า เป็นคุณแม่ที่ฝากท้องแล้ว ผลเลือดตอนฝากท้องออกมาปกติ ไม่พอนะครับ จะต้องมีการสกรีนประวัติ ไม่ใช่เฉพาะตัวคุณแม่นะ ต้องสกรีนคุณพ่อด้วย เพราะการติดเชื้อนี่มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ต้องมีการดูประวัติการใช้ยา ใช้สมุนไพร โรคประจำตัว พฤติกรรมเสี่ยงมีไหม แล้วค่อยไปตรวจเลือดตรวจเชื้อไวรัสต่างๆ และถ้าเป็นผู้บริจาคต่อเนื่อง ก็จะต้องมีการตรวจใหม่ทุกสามเดือน เพราะว่าคนเราวันนี้กับสามเดือนข้างหน้าก็ไม่เหมือนกันแล้ว ผลเลือดมันเปลี่ยนแปลงไป

ส่วนใหญ่คุณแม่ที่ไปบริจาคกันก็จะแพ้ขั้นตอนพวกนี้แหละ แต่ธนาคารก็จะมีการชี้แจงว่า น้ำนมคุณแม่จะไปเพิ่มความเสี่ยงอะไรกับลูกคนอื่นได้บ้าง ที่ต้องบอกเพราะคุณแม่จะได้ดูแลตัวเอง ไปบอกคุณพ่อว่าห้ามมีพฤติกรรมที่มันเสี่ยงนะ

ถ้าผ่านทุกขั้นตอนแล้ว ถึงจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้บริจาค แล้วเข้าสู่กระบวนการเก็บน้ำนม ทีนี้พอได้น้ำนมมาแล้ว ก่อนนำไปใช้กับเด็ก ก็ต้องมีขั้นตอนการพาสเจอไรซ์ ซึ่งวิธีการพาสเจอไรซ์ก็ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนะ เช่น ถ้านมที่มีเชื้อ HIV ปนมา การพาสเจอไรซ์ก็แค่ช่วยลดจำนวนเชื้อ แต่ไม่ได้ปลอดเชื้อ เพราะฉะนั้น ขั้นตอนการสกรีนตั้งแต่แรกจึงสำคัญมาก เพราะการพาสเจอไรซ์เองก็ไม่ได้ฆ่าเชื้อได้หมด และหลังจากพาสเจอไรซ์แล้วก็ต้องนำไปให้เด็กทันที เพราะฉะนั้น กระบวนการขนส่งก็ต้องมีมาตรฐาน ว่าจากธนาคารนมจะต้องไปถึงโรงพยาบาลของผู้รับบริจาคภายในเวลาเท่าไร ทุกอย่างจะต้องมีการดูแล และมีการสุ่มตรวจ เอาน้ำนมไปเพาะเชื้อตรวจเสมอ ว่าไม่มีการติดเชื้อใดๆ มันก็คือระบบธนาคารเลือดดีๆ นี่เอง

เอาง่ายๆ ถ้าเราตั้งธนาคารนมแม่กันง่ายขนาดนั้น ทำไมประเทศไทยถึงมีแค่สองที่ล่ะ มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ และยิ่งต้องคิดว่า สิ่งที่เราจะให้ เรากำลังให้กับเด็กแรกเกิด และส่วนมากเป็นเด็กป่วยและไม่แข็งแรงด้วย เรายิ่งต้องแน่ใจเรื่องความปลอดภัยและได้มาตรฐาน

“คุณแม่ลองถามตัวเองว่า
ตั้งแต่มีลูกเนี่ย หลับเต็มที่ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
กินอาหารดีๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
มีเวลาดีๆ ให้ตัวเองครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
ถ้าตอบไม่ได้ ยังไม่เรียกตัวเองว่าเป็นคุณแม่ที่ดีอีกเหรอ
ทุ่มเทหลายอย่างให้ลูกขนาดนี้ ยังไม่ดีอีกเหรอ”

ทำไมคุณหมอถึงพยายามให้ความรู้เรื่องการให้ลูกกินนมแม่หรือนมผงมาตลอด

ตอนที่เริ่มตั้งเพจ เป็นเพราะประสบการณ์ตัวเองล้วนๆ เพราะภรรยาหมอเอง ตอนที่คลอดลูกใหม่ๆ เขามีปัญหาเรื่องการเอาลูกเข้าเต้าพอสมควร ทีนี้ภรรยาหมอเองก็เสพโซเชียลฯ นี่แหละ ยิ่งอ่านก็ยิ่งเครียด ทำให้แทนที่เรามีลูกแล้วจะชื่นมื่นใช่ไหม กลายเป็นเครียด หม่นหมอง บ้านมันอึมครึมมากเลย ลูกก็ร้อง ภรรยาก็เครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งไม่มีน้ำนม จนสุดท้ายหมอต้องพาภรรยาไปให้คลินิกนมแม่เขาปลดล็อกความคิดให้ คือหมอเอง เวลาอยู่ในฐานะสามี พูดอะไรภรรยาก็ไม่ค่อยฟัง (หัวเราะ)

เขาก็บอกคุณแม่ทุกคนว่า การให้นมลูกมันไม่ใช่เรื่องยากนะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่าน 1-2 เดือนแรกที่เป็นจุดเทิร์นโปรฯ ไปให้ได้ก่อน เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าเครียด ก็ต้องหาวิธีผ่อนคลายและตั้งเป้าหมายให้ถูกต้อง การตั้งเป้าที่ถูกไม่ใช่ว่าต้องมีน้ำนมทะลักทลายให้ลูก ไม่ต้องมีเป็นสิบตู้แช่ ขอแค่ลูกอิ่มท้องและเติบโตได้ก็พอแล้ว

ตอนนั้นกอดกันร้องไห้ทั้งบ้านเลยนะ เพราะรู้สึกซัฟเฟอร์กับการมีลูกจังเลย ทั้งที่เราก็เป็นหมอนะ แต่ซัฟเฟอร์ในที่นี้คือเราสงสารภรรยา ที่เขาต้องมาซัฟเฟอร์กับเรื่องนี้ แล้วเราก็มาคิดว่า จะมีอีกกี่ครอบครัวที่เป็นแบบนี้ เพราะเขาตั้งเป้าผิด คือไปมองว่า แม่คนอื่นเขายังมีน้ำนมสต๊อกไว้เยอะมาก เราต้องทำให้ได้อย่างนั้น ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็เป็นแม่ที่ไม่ดี ซึ่งมันไม่ใช่

คุณแม่ลองถามตัวเองว่า ตั้งแต่มีลูกเนี่ย หลับเต็มที่ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ กินอาหารดีๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มีเวลาดีๆ ให้ตัวเองครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ถ้าตอบไม่ได้ ยังไม่เรียกตัวเองว่าเป็นคุณแม่ที่ดีอีกเหรอ ทุ่มเทหลายอย่างให้ลูกขนาดนี้ ยังไม่ดีอีกเหรอ

หมอคิดว่าถ้าปลดล็อกตรงนี้ได้ เราก็จะมองว่า การให้นมลูกก็คือการเลี้ยงลูกอย่างหนึ่ง ลูกอิ่ม เราก็แฮปปี้ ไม่ต้องไปซีเรียสว่าจะต้องมีน้ำนมมากมายขนาดนั้น ซึ่งพอปลดล็อกความกังวลพวกนี้ได้แล้ว น้ำนมมันจะมาเอง ลูกแฮปปี้ แม่แฮปปี้ พ่อก็แฮปปี้ แฮปปี้กันทั้งบ้าน

หมอก็เลยคิดว่า สำหรับบางบ้าน นมผงไม่ใช่ยาพิษครับ ถ้ามันจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ แต่อย่าใช้ไปเรื่อย โดยที่ไม่คิดเลยว่าจะหยุดให้นมผงเมื่อไหร่ แต่ถ้าจะให้ดี ก็ไม่ต้องไปเริ่มให้นมผง แต่ถ้ามันจำเป็นหรือมีข้อบ่งชี้ก็ให้ไป ไม่ต้องรู้สึกผิด แต่ต้องรู้ว่าจะถอนตัวจากนมผงเมื่อไหร่ แล้วการเลี้ยงลูกจะแฮปปี้ขึ้นเยอะครับ

สัมภาษณ์วันที่ 16 ตุลาคม 2561

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST