การมีลูกคือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิตพ่อแม่ทุกคน โดยเฉพาะคุณแม่ที่เคยทำงานประจำ หลายคนอาจต้องเลือกว่าจะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการดูแลลูก หรือพยายามรับผิดชอบทั้งหน้าที่การงานและบทบาทความเป็นแม่เอาไว้ให้ดีที่สุด
และหากคุณแม่ต้องรับบทบาทหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ลูกก็อยากดูแลให้ดีที่สุด งานก็ไม่อยากให้ขาดตกบกพร่อง แต่เงื่อนไขเวลาและความสามารถของร่างกายก็มีอย่างจำกัด
การเป็น working mom ในรูปแบบพนักงานประจำ สายอีเวนต์เอเจนซีของ คุณแม่เฟิร์น—ธนธรณ์ แซ่อึ้ง หรือหม่ามี้มือใหม่ของน้องพาดาวัย 7 เดือน จะจัดการและรับมือกับทั้งสองหน้าที่นี้อย่างไร เราแอบขอเวลาคุณแม่เฟิร์นมาพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ให้คุณแม่ที่กำลังคิดหรือตัดสินใจเลือกเส้นทางสายคุณแม่ทำงานว่าอาจต้องเตรียมรับมือกับอะไรบ้าง
หนึ่งในปัญหาของคุณแม่ที่ทำงานประจำก็คือหลังจากลาคลอดแล้วต้องกลับไปทำงาน
ยอมรับว่าช่วงแรกที่ได้กลับมาทำงาน เรารู้สึกรีแลกซ์มากขึ้นนะ เพราะเราเป็นคนชอบทำงาน จากตอนแรกที่ต้องหยุดงานเลี้ยงลูกตลอด 24 ชั่วโมง ก็มีความเหงาๆ เบื่อๆ บ้าง พอกลับมาทำงานก็รู้สึกว่าโอเคนะ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าสะสม เพราะตอนที่ลูกยังเล็ก เราก็ต้องตื่นมาให้นมกลางดึกทุกคืน มันเลยทำให้มีความเพลียบ้าง ดราม่ากับตัวเองบ้าง
ชีวิตที่เปลี่ยนจาก working woman เป็น working mom เป็นอย่างไรบ้าง
เราทำงานเอเจนซี่ แต่ละวันก็มีเรื่องที่ต้องจัดการเยอะมาก แต่ก่อนทำงานอย่างเดียว ก็โฟกัสแค่ตัวเองกับงานที่ทำ แต่พอเป็นแม่ด้วย สิ่งที่ต้องโฟกัสมากขึ้นก็คือลูก ถ้าถามว่าชีวิตเปลี่ยนไหม ก็คือเปลี่ยนไปมาก
ตอนนี้ลูกยังเล็ก สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างแรกเลยคือการวางแผนชีวิตแต่ละวัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ รู้แค่ตื่นมาต้องเคลียร์งาน แต่ทุกวันนี้เราต้องวางแผนตั้งแต่ก่อนนอนว่าพรุ่งนี้ต้องทำอะไรบ้าง ตอนเช้ามีอะไรที่ต้องทำเกี่ยวกับลูกบ้าง เพื่อที่จะให้ทุกอย่างเรียบร้อยก่อนที่พ่อของลูกหรือคุณย่าจะมารับช่วงต่อตอนกลางวันที่เราไม่อยู่ แล้วค่อยวางแผนจัดการในส่วนของตัวเองว่าต้องทำอะไรตอนไหน ต้องออกไปทำงานกี่โมง ด้วยความที่งานเราเป็นอีเวนต์เอเจนซี เวลาการทำงานก็เลยไม่แน่นอน บางวันก็งานเช้ามาก แต่บางวันก็งานเย็น มันเลยต้องวางแผนไปเรื่อยๆ แล้วแต่วัน
ในบรรดาแผนแต่ละวันทั้งหมด เรื่องไหนจัดการยากที่สุด
เราเป็นแม่แบบที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางทีก็ตลกตัวเอง เวลาไปทำงานอีเวนต์ที่ไหน ก็คอยแต่จะคิดว่าที่นั่นจะมีตู้เย็นให้เราแช่นมไหม จะมีห้องน้ำให้เราปั๊มนมไหม (หัวเราะ) แต่รวมๆ ก็คือการที่เราต้องเตรียมความพร้อมหลายอย่างในชีวิตมากขึ้น
“ก่อนมีลูกเรามีหน้าที่การงานอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ เราก็ไม่อยากทิ้งงานของตัวเอง เพราะเรารู้สึกว่ามันทำให้เปลี่ยนบรรยากาศ และเป็นการเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นคุณแม่ฟูลไทม์จะไม่โอเคนะ แต่ส่วนตัวเราเอง การที่ได้เปลี่ยนบรรยากาศ ได้ออกไปทำงาน ได้เจอผู้คนไม่ต้องเลี้ยงลูกตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกดีกว่า”
แต่ก็คิดว่ารับมือกับการเป็น working mom ต่อไปได้ใช่ไหม
ใช่ ก่อนมีลูกเรามีหน้าที่การงานอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ เราก็ไม่อยากทิ้งงานของตัวเอง เพราะเรารู้สึกว่ามันทำให้เปลี่ยนบรรยากาศ และเป็นการเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นคุณแม่ฟูลไทม์จะไม่โอเคนะ แต่ส่วนตัวเราเอง การที่ได้เปลี่ยนบรรยากาศ ได้ออกไปทำงาน ได้เจอผู้คนไม่ต้องเลี้ยงลูกตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกดีกว่า
แล้วอีกอย่าง เราก็คิดว่าวันหนึ่งพอลูกเข้าโรงเรียน ตอนนั้นลูกก็ต้องไปใช้ชีวิตในสังคมของเขา เราเองก็ต้องมีหน้าที่การงานของตัวเองเหมือนกัน ถ้าเราหยุดทำงานไปตอนนี้ อนาคตอาจจะกลับมาได้ยากก็เลยโอเค สู้ไปก่อนแล้วกัน
ระหว่างนี้ก็ต้องพยายามบาลานซ์เวลาระหว่างการทำงานกับเลี้ยงลูกไปก่อน
ใช่ แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นที่สภาวะอารมณ์ด้วยหรือเปล่า มีช่วงหนึ่งเรารู้สึกว่ามันเหนื่อยสะสม นอนน้อย ทำงานก็ต้องใช้ความคิดเยอะ ใช้ร่างกายในการเดินทางเยอะ ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรก็ไม่เต็มที่ บางทีก็รู้สึกว่าดูลูกก็ไม่เต็มที่ ทำงานก็ไม่เต็มที่ มีความพะว้าพะวง ตอนทำงานก็ห่วงลูก ในขณะเดียวกันตอนดูแลลูก ก็ห่วงงาน เลยทำให้เรารู้สึกว่าการรักษาบาลานซ์เรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก
ในแง่พฤติกรรม เราพยายามจะแบ่งเวลาให้ชัดเจน อย่างวันจันทร์ถึงศุกร์ ช่วงเวลาทำงาน เราก็เต็มที่กับงาน แต่พอหลังจากเลิกงาน ถ้าเป็นไปได้คือจะปิดคอมพ์ แล้วก็ดูแลลูก พอลูกหลับก็ค่อยกลับมานั่งทำงานอีกที ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่แตะงานเลย จะให้เวลาลูกอย่างเต็มที่ จะพาลูกออกไปเที่ยว ต่อให้เขาจะยังเดินไม่ได้ และไม่รู้ว่าลูกจะรู้เรื่องหรือเปล่า แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้คือเขามีความสุขจริงๆ เวลาที่พาเขาออกไปนอกบ้าน
ส่วนในแง่จิตใจ วิธีการแก้ปัญหาด้านจิตใจก็คือการบอกเล่าให้คนรอบข้างรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอะไร อย่างเราก็จะบอกสามีว่าวันนี้รู้สึกไม่โอเคเลย รู้สึกดาวน์ รู้สึกอยากร้องไห้ รู้สึกเครียดงาน หรือรู้สึกดูแลลูกได้ไม่ดีเลย ลูกผื่นขึ้นอีกแล้ว อะไรแบบนี้ เราก็จะต้องระบายออกไปบ้าง ในขณะเดียวกันคนที่อยู่รอบข้างก็อาจจะต้องให้กำลังใจและไม่กดดันกัน
“บางครั้งเราก็จะห่วงลูกจนกระทบต่อการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ต้องกลับไปทำงานแรกๆ ถึงจะบอกว่าโอเค แต่ก็ไม่อยากทิ้งลูกไว้ที่บ้าน ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน กังวลว่าลูกจะร้องไห้งอแงไหม คุณย่าจะรับมือกับลูกเราได้ไหม”
จุดที่ยากที่สุดของแต่ละบทบาทหน้าที่ ในการทำงานและการเป็นคุณแม่ไปพร้อมๆ กัน
ก็คงน่าจะเป็นเรื่องการจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตัวเราเอง เพราะบางครั้งเราก็จะห่วงลูกจนกระทบต่อการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ต้องกลับไปทำงานแรกๆ ถึงจะบอกว่าโอเค แต่ก็ไม่อยากทิ้งลูกไว้ที่บ้าน ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน กังวลว่าลูกจะร้องไห้งอแงไหม คุณย่าจะรับมือกับลูกเราได้ไหม พอกังวลมากๆ ก็เกิดความเครียด จนบางทีเรื่องงานก็หลุดไปบ้าง หรือคุยกับเพื่อนร่วมงานแล้วจะมีอารมณ์ง่ายนิดนึงโดยไม่รู้ตัว แต่พอรู้ตัวอีกที เราก็จะย้ำกับตัวเองว่าจะไม่ทำแบบนี้อีก
อีกหนึ่งอย่างคือเราเป็นแม่ครั้งแรก เราไม่เคยมีลูกมาก่อน ลูกเราก็ยังเล็กพูดไม่ได้ สิ่งที่เขาทำได้หรือการร้องบอก เราก็เลยต้องมานั่งวิเคราะห์ว่าลูกร้องไห้เพราะอะไร ไม่ใช่แค่เราเองที่ต้องปรับตัว แต่ลูกก็ปรับตัวเหมือนกัน เพราะเราจับสังเกตได้ว่าช่วงหลังเขาเริ่มรู้ว่าวันไหนที่เรากับสามีอยู่บ้าน แล้วก็มีเวลาอยู่กับเขา เขาจะมีความสุข ไม่ค่อยงอแง แต่วันไหนที่เราไม่อยู่ก็มีงอแงบ้าง แต่เขาก็เริ่มปรับตัวที่จะอยู่กับคุณย่าได้
“บางทีก็หงุดหงิดจนต้องระบายลงโซเชียลมีเดียส่วนตัว แต่ก็จะมีคนมาคอมเมนต์ว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ที่เพอร์เฟ็กต์ตลอดเวลาก็ได้ หย่อนๆ บ้าง ลูกชอบอยู่กับแม่ที่มีความสุขมากกว่า แม่ที่ทำทุกอย่างเป๊ะ เราก็เลยกำลังพยายามปรับตัวเองอยู่”
มีอะไรที่ยังกังวลในการพยายามทำหน้าที่ทั้งสองอย่างให้ดีที่สุด
ในแง่ของการทำงาน แรกๆ เรากังวลว่าคนที่ทำงานจะไม่เข้าใจ เช่น มีงานที่ต้องไปต่างจังหวัด เราไปไม่ได้ แต่ก็มีทีมที่พร้อมจะไปแทน หรือหลังเลิกงาน หลัง 6 โมงเย็น เราอาจจะตอบช้าบ้าง หายไปบ้าง แต่เราก็เต็มที่ในการซัปพอร์ตส่วนอื่น ซึ่งเราค่อนข้างโชคดีที่คนที่ทำงานเข้าใจก็เลยไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนในแง่ของการดูลูก เราจะรู้สึกหงุดหงิดตัวเองเวลาที่รู้สึกว่าไม่ได้โฟกัสที่ลูกมากพอ หรืออยู่ๆ มาเห็นว่าลูกมีผื่นขึ้น มีรอยขีดข่วน ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่เขาคันและเกาตามประสา บางทีก็หงุดหงิดจนต้องระบายลงโซเชียลมีเดียส่วนตัว แต่ก็จะมีคนมาคอมเมนต์ว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ที่เพอร์เฟ็กต์ตลอดเวลาก็ได้ หย่อนๆ บ้าง ลูกชอบอยู่กับแม่ที่มีความสุขมากกว่า แม่ที่ทำทุกอย่างเป๊ะ เราก็เลยกำลังพยายามปรับตัวเองอยู่
ในฐานะคุณแม่ที่พนักงานประจำ คิดว่าสวัสดิการหรือสิ่งที่แม่คนหนึ่งได้รับตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
เรารู้สึกว่าการให้ลาคลอดและเลี้ยงลูกได้ 3 เดือน มันน้อยเกินไป สำหรับคนเป็นแม่ เพราะลูกยังอ่อนแอมากเกินไปที่จะอยู่ห่างจากสายตาพ่อแม่ พอต้องกลับไปทำงานมันเลยทำให้เราพะวงจนไม่มีสมาธิในการทำงาน คิดว่า ถ้าได้ลาคลอดสัก 4-5 เดือนน่าจะกำลังดี
แต่ในขณะเดียวกันเราก็เข้าใจบริษัทนะ การที่พนักงานคนนึงหายไป 5 เดือนมันก็คงจะเป็นเรื่องยาก แต่ของเราโชคดีตรงที่ถึงแม้จะกลับมาทำงาน แต่ก็ยังมีวันที่ work from home ได้ แต่เข้าใจว่างานของบางคนก็ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน เลยอยากให้หลายบริษัทหยืดหยุ่นเรื่องนี้มากขึ้น
อีกเรื่องคือ ห้องปั๊มนมก็สำคัญ ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรของเรามีผู้หญิงเยอะ เราก็เลยไม่ได้รู้สึกเขินอายในการปั๊มนมมาก ใช้แค่ผ้าคลุมแล้วก็เดินร่อนได้ (หัวเราะ) แต่ถ้าทุกบริษัทมีห้องปั๊มนมแยกเป็นสัดเป็นส่วนก็น่าจะเป็นเรื่องดี
ถ้าให้รีวิวตัวเองในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา
รู้สึกตัวเองเก่งมากเลย ก็พยายามบอกตัวเองตลอดเวลาเราเก่งมากนะ ไม่ต้องไปกดดันตัวเองมาก และการถูกให้กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เหนื่อยกายนอนก็หาย แต่นี่มันนอนแล้วไม่หาย (หัวเราะ) มันล้าไปหมด เพราะเรายังนอนยาวไม่ได้ ลูกเราก็ยังต้องตื่นกลางดึกอยู่ แล้วเราก็ต้องตื่นเช้าเพื่อมาเตรียมจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนจะไปทำงาน เราก็เลยรู้สึกคุณแม่ที่ทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วยเก่งมากเลย
แต่ในขณะเดียวคุณแม่ฟูลไทม์ก็เหนื่อยอีกแบบนะ และสิ่งที่คุณแม่ฟูลไทม์ควรได้รับการดูแลมากๆ คือเรื่องของจิตใจ การอยู่กับลูก 24 ชั่วโมงมันมีความสุข แต่ก็มีความเครียดเหมือนกัน ซึ่งเรานับถือมาก
COMMENTS ARE OFF THIS POST