การมีลูกคือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งใหญ่ของชีวิต หลายคนเลือกที่จะลาออกจากงานประจำเพื่อที่จะสามารถให้เวลากับลูกได้อย่างเต็มที่ แต่ในขณะที่คุณแม่อีกหลายคนก็ยังจำเป็นต้องที่จะต้องทำงานอยู่
และการที่คุณแม่ต้องรับหลายบทบาทในเวลาเดียวกันนั้น ทำให้เราเกิดความสงสัยว่าการเป็น working mom จะต้องจัดสรรเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดมาทำหน้าที่ทั้งสองอย่างให้ดีที่สุดได้อย่างไร
วันนี้เราเลยชวน คุณแม่นัน—นันทิยา สุขพาดี มาพูดคุยในฐานะเจ้าของธุรกิจและคุณแม่ของลูกวัย 9 ปี ว่ารับมือกับการเป็นคุณแม่ที่ต้องรับผิดชอบธุรกิจไปด้วย ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากอะไรมาบ้าง
“เราเป็นคนสนุกกับการทำงานมาก เป็นคนที่ไม่ชอบอยู่เฉยๆ เราเรียนจบด้านบัญชีมา งานแรกที่เราทำก็คือพนักงานบัญชีในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แรกๆ ก็สนุกกับการทำงานมาก แต่พอเวลาผ่านไปประมาณ 5-6 ปี เราก็เริ่มรู้สึกว่าการใช้ชีวิตแบบนี้มันเหนื่อยจังเลย ต้องเข้างาน 8 โมงครึ่ง ออกจากบริษัทอีกทีคือฟ้ามืดแล้ว รู้สึกเริ่มหมดไฟและไม่มีความสุขกับการทำงานเลย”
จากมมนุษย์เงินเดือน สู่เจ้าของกิจการ
เราเป็นคนสนุกกับการทำงานมาก เป็นคนที่ไม่ชอบอยู่เฉยๆ เราเรียนจบด้านบัญชีมา งานแรกที่เราทำก็คือพนักงานบัญชีในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แรกๆ ก็สนุกกับการทำงานมาก แต่พอเวลาผ่านไปประมาณ 5-6 ปี เราก็เริ่มรู้สึกว่าการใช้ชีวิตแบบนี้มันเหนื่อยจังเลย ต้องเข้างาน 8 โมงครึ่ง ออกจากบริษัทอีกทีคือฟ้ามืดแล้ว รู้สึกเริ่มหมดไฟและไม่มีความสุขกับการทำงานเลย ก็เลยคิดว่าถ้าเรามีธุรกิจเป็นของตัวเองก็คงจะดีนะ น่าจะมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น เราสามารถจัดระเบียบชีวิตของตัวเองได้ แล้วก็น่าจะมีอิสระในการทำงานมากขึ้น แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ลงมือทำจริงๆ
จนมาถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราตัดสินใจเปิดธุรกิจก็คือ พ่อและพี่สาวตกงานพร้อมกันทั้งคู่ เราก็เลยคิดว่าน่าจะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ต้องหาอะไรทำเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ร้านอาหารดีไหม หรือซื้อแฟรนไชส์มาเปิดดี จนสุดท้ายก็คิดได้ว่าครอบครัวเรามีความผูกพันและถนัดเกี่ยวกับเรื่องยานยนต์มาก่อน ก็เลยตัดสินใจที่จะเปิดธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ขึ้น
ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราถนัดงานบัญชี พี่สาวกับพ่อก็มีความรู้เรื่องยานยนต์ น่าจะทำธุรกิจได้ไม่ยาก แต่พอมาทำจริง ก็รู้เลยว่าแม้เราจะมีความถนัดกับเรื่องเหล่านี้ แต่เราไม่ได้มีความถนัดในด้านการบริหารมาก่อน มันค่อนข้างยากและแตกต่างจากที่คิดไว้มาก
หลังจากนั้นจึงตัดสินใจมีลูก
พอทำธุรกิจไปได้ 1 ปี ทุกอย่างเริ่มลงตัวมากขึ้น ช่วงนั้นก็ตั้งท้องพอดี เราคิดว่าเดี๋ยวลูกคลอด ก็คงแบ่งเวลาไปดูแลลูก หรืออาจจะเป็นแม่ฟูลไทม์ไปเลย แต่พอเจอสถานการณ์จริง เราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะยังจำเป็นต้องทำงานอยู่
บริษัททั่วไปให้สิทธิ์คุณแม่ลาคลอดได้ 3 เดือน แต่พอเราทำกิจการเป็นของตัวเอง เรามีความเป็นห่วงตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถทิ้งงานได้นานขนาดนั้น กลายเป็นหลังจากคลอดลูกแล้ว เราใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายประมาณ 1 เดือนครึ่ง ก็ต้องกลับมาทำงานตามปกติ
กลายเป็นได้พักหรือลาคลอดน้อยกว่าการเป็นพนักงานบริษัท แล้วรับมือกับการทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกเล็กไปด้วยอย่างไร
โห ยากมากเลย เรื่องแรก—การให้นม เราเปลี่ยนห้องทำงานเป็นห้องเลี้ยงลูก เพราะเราไม่อยากแค่ปั๊มน้ำนมแล้วให้ลูกใช้ขวดนมอยู่ที่บ้าน แต่เรายังอยากให้ลูกได้รับสัมผัสจากเรา ได้รับรู้ความรัก ความอบอุ่น ความปลอดภัยจากเราด้วย
เรื่องที่สอง—การอดหลับอดนอน การเลี้ยงเด็กทารกไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะช่วง 1-2 เดือนแรก แม่ทุกคนก็ต้องตื่นมาให้นมลูกทุก 2-3 ชั่วโมง กลางคืนเราก็ต้องตื่นมาให้นมลูก ตอนมาที่ทำงานก็ต้องปั๊มนมไปด้วย รู้สึกใช้ชีวิตยากมาก จนส่งผลกระทบต่องานไปด้วย เพราะเราพักผ่อนไม่เพียงพอ
เรื่องสุดท้าย—สภาพจิตใจ คนเป็นแม่ต้องพยายามทำให้สภาพจิตใจแข็งแรงที่สุด เพราะปกติแล้วคนท้องแล้วคลอดลูก ฮอร์โมนจะลดฮวบ สภาพจิตใจก็จะไม่ปกติ แล้วถ้ายิ่งเราต้องห่างลูก ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ก็อาจจะทำให้รู้สึกแย่ได้ แล้วถ้ารู้สึกแย่ก็จะกระทบทุกอย่างไปหมด ก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเอาลูกมาเลี้ยงที่ทำงาน
แล้วก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างนั้นจนลูกประมาณ 6 เดือน พอที่ทำงานเริ่มมีทีมงานมากขึ้น ก็ตัดสินใจเอาลูกกลับไปเลี้ยงที่บ้าน เราจะเป็นคนดูแลหลัก ผลัดเวรกับสามี และมีคุณยายคอยช่วยอีกคน
พอพูดเรื่องนี้ เราก็เห็นใจแม่ที่ต้องทำงานประจำ เพราะพอใช้สิทธิ์ลาคลอดครบกำหนดแล้วก็ต้องกลับไปทำงาน ซึ่งเราคิดว่าเวลา 3 เดือนมันไม่พอ ลูกก็ยังเล็ก แม่ก็ยังต้องเป็นห่วง สภาพจิตใจของแม่ก็ยังไม่พร้อมที่จะกลับไปทำงาน แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นใจผู้ประกอบการด้วย
“การมีทัศนคติที่ไม่ตรงกันก็ทำให้กระทบกระทั่งกันหลายครั้ง จนเริ่มคิดว่าอยากเลิกทำงานแล้วมาลูกเลี้ยงเองเต็มตัว”
แต่หลายครอบครัว มักจะมีปัญหากับการให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงหลาน
เพราะวิธีการเลี้ยงเราแตกต่างกันอย่างชัดเจน ปัจจุบันคุณยายอายุ 80 แล้ว ความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณหลายอย่างก็ใช้ไม่ได้ในยุคนี้ เช่น ตอนที่ลูกอายุ 5 เดือน คุณยายแนะนำว่าให้ลูกกินกล้วยบดสิ กินนมแม่อย่างเดียวไม่อิ่มหรอก เราก็บอกว่ามันกินไม่ได้นะ เพราะมันจะส่งผลต่อระบบย่อยอาหารแล้วก็ระบบขับถ่าย คุณยายก็บอกว่าทำไมจะกินไม่ได้ แม่ก็เลี้ยงเรามาแบบนี้
หรือคุณยายมักจะดัดขาให้หลานหลังอาบน้ำ เพราะเชื่อว่าถ้าไม่ดัด โตไปขาจะโก่ง หรือแม้แต่ไม่ให้ลูกเราใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพราะเชื่อว่าจะทำให้ขาโก่ง ซึ่งการมีทัศนคติที่ไม่ตรงกันก็ทำให้กระทบกระทั่งกันหลายครั้ง จนเริ่มคิดว่าอยากเลิกทำงานแล้วมาลูกเลี้ยงเองเต็มตัว ทั้งที่เข้าใจนะว่าคุณยายหวังดี แต่มันก็เป็นความเชื่อที่ผิด
แล้วแก้ปัญหาอย่างไร
เราก็จะอ่านบทความของคุณหมอ หรือเปิดคลิปที่คุณหมอพูดให้ความรู้ให้คุณยายดู แล้วคอยอธิบายให้ฟังว่าคุณหมอบอกว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะ แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าไร เพราะความเชื่อของคุณยายส่งต่อกันมาหลายรุ่น และเขาก็เลี้ยงเราและลูกอีกหลายคนมาด้วยวิธีเหล่า
นั้น ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร
จนวันหนึ่งเราก็ตัดสินใจพูดกับคุณยายตรงๆ ว่าเราไม่สะดวกให้คุณยายเลี้ยงลูกเราด้วยวิธีเหล่านี้นะ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยเพราะในเมื่อเราก็ต้องการความช่วยเหลือจากเขา ก็ต้องเข้าใจว่าไม่มีอะไรได้ดั่งใจเราทุกอย่าง
อะไรคือความกังวลใจในการเป็นคุณแม่ที่ต้องรับผิดชอบทั้งหน้าที่การงานและการเลี้ยงลูก
ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยได้กังวล เพราะเราเชื่อว่าเราทำหน้าที่ทั้งสองอย่างอย่างดีที่สุด ในแง่ของการทำงาน เราก็พยายามเป็นหัวหน้าที่ดี ไม่ใช่เอาแต่สั่งการ แต่ลงมือทำ และให้เกียรติทุกคนเพื่อให้บรรยากาศขององค์กรเป็นไปได้ด้วยดี ส่วนในแง่ของความเป็นแม่ที่ถึงแม้จะไม่ค่อยมีเวลา แต่เราก็ยังคงให้ความรัก ความอบอุ่นกับลูกอย่างเต็มที่
“แม้ว่าเรากับสามีจะทำงาน 7 วันด้วยกันทั้งคู่ แต่หลังจากที่เลิกงาน เราก็จะให้เวลาลูกอย่างเต็มที่ ไม่แตะงาน ไม่พูดถึงงาน ยิ่งมีเวลาน้อยยิ่งต้องทำให้เวลาของเรากับลูกมีความหมายมากที่สุด”
จากวันนั้น ถึงวันนี้ การเป็นคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกไปด้วยทำงานไปด้วย เป็นเรื่องยากหรือง่ายขึ้นอย่างไร
ตอนนี้ลูกอายุ 9 ขวบ การดูแลก็ง่ายขึ้น เพราะเขาโตพอที่จะรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว มีกิจวัตรประจำวันของตัวเองแล้ว แต่สิ่งที่ยากไปกว่านั้นคือการดูแลจิตใจของเขา เพราะลูกกำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เขาก็จะคิดอะไรที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่เราก็พยายามจะเป็นคุณแม่ในแบบที่ลูกไว้ใจ อยากให้ลูกกล้าพูดคุยและปรึกษาเราทุกเรื่อง
ดังนั้น การให้เวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ว่าเรากับสามีจะทำงาน 7 วันด้วยกันทั้งคู่ แต่หลังจากที่เลิกงาน เราก็จะให้เวลาลูกอย่างเต็มที่ ไม่แตะงาน ไม่พูดถึงงาน ยิ่งมีเวลาน้อยยิ่งต้องทำให้เวลาของเรากับลูกมีความหมายมากที่สุด เพราะเรากลัวว่าถ้าพลาดโอกาสช่วงนี้ไป และลูกโตไปมากกว่านี้เขาจะเปิดใจกับเรายากแล้ว
อย่างช่วงเวลาก่อนเข้านอน หรือช่วงเช้าที่ไปส่งลูกที่โรงเรียน เราจะพยายามทำให้ช่วงเวลานั้นมีความหมายให้ได้มากที่สุด เพราะกว่าเราจะเลิกงาน กลับถึงบ้านก็เกือบสองทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่ลูกก็เตรียมเข้านอนแล้ว เราก็จะกลับมาใช้เวลากับลูกให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การทำกิจกรรมก่อนนอนด้วยกัน พยายามจะเป็นเพื่อนลูกให้มากขึ้น ซึ่งมันทำให้เรารู้เลยว่าการเป็นแม่ที่เข้าถึงใจลูกได้ ไม่ใช่แค่แม่ที่มีเวลาให้ลูกเยอะๆ แต่แม่เป็นแม่ที่รับฟังลูกให้มากที่สุด
“การเป็นแม่ที่เข้าถึงใจลูกได้ ไม่ใช่แค่แม่ที่มีเวลาให้ลูกเยอะๆ แต่แม่เป็นแม่ที่รับฟังลูกให้มากที่สุด”
สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นทั้งเจ้าของกิจการและการเป็นคุณแม่
น่าจะเป็นการบานลานซ์ความสุขของตัวเราเอง ระหว่างการทำงานและการเลี้ยงลูกไปด้วย การเป็น working mom ถ้าเราบาลานซ์ความสุขไม่ได้ เราก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ทั้งอย่างให้ดีไปพร้อมกันได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST