READING

ลูกเรียนหนักเกินไป (Over-scheduled child) : สัญญาน...

ลูกเรียนหนักเกินไป (Over-scheduled child) : สัญญานเตือนว่าลูกวัยอนุบาลเรียนหนักเกินไปแล้ว!

ลูกเรียนหนักเกินไป

พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกเติบโตเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ด้วยการพยายามเตรียมความพร้อมให้ลูกทั้งด้านวิชาการและความสามารถด้านอื่นที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของลูก

แต่ความตั้งใจและปรารถนาดีของคุณพ่อคุณแม่ อาจส่งผลให้ ลูกเรียนหนักเกินไป ดังที่ Alvin Rosenfeld, MD ผู้เขียนหนังสือ The Over-Scheduled Child และอดีตหัวหน้าแผนกจิตเวชที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุว่า ผู้ปกครองยุคใหม่มัก ‘เตรียมตัว’ และ ‘ผลักดัน’ ลูกให้ไปถึงขีดจำกัดของตัวเองอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาล ไปจนถึงเข้ามหาวิทยาลัย จนหลงลืมความสนุกสนานของวัยเด็กไปโดยไม่รู้ตัว

           เช่นเดียวกับ Deb Lonzer, MD ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขากุมารเวชศาสตร์ที่ Cleveland Clinic Lerner College of Medicine แห่ง Case Western Reserve University ระบุว่า เด็กที่มีตารางเวลาอัดแน่นมากเกินไปจะไม่มีเวลาได้เล่นเป็นเด็ก โดยทั่วไปแล้ว เด็กๆ จะนอนหลับสบาย มีเพื่อนเล่นบ้าง เล่นคนเดียวบ้าง กินบ้างไม่กินบ้าง แต่หากคุณพ่อคุณแม่พยายามให้ ลูกเรียนหนักเกินไป หรือจัดตารางชีวิตลูกให้อัดแน่นไปด้วยกิจกรรมส่งเสริมทักษะ เด็กบางคนอาจจะไปได้ดี แต่มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ตรงกันข้าม ทั้งยังมีโอกาสที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลในอนาคตอีกด้วย

แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ลูกต้องเรียนและทำกิจกรรมมากเกินไป โดยไม่ต้องรอให้ลูกเหนื่อยหรือเครียดจนรับไม่ไหวไปเสียก่อน

1. พฤติกรรมของลูกเปลี่ยนไป

Overscheduled_web_1

สัญญาณแรกที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่า ลูกเครียดก็คือ ลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น จากที่เด็กที่ร่าเริง อารมณ์ดี หัวเราะง่าย กลายเป็นเด็กที่มีความกังวลง่าย เบื่ออาหาร และไม่ร่าเริงเหมือนก่อน Dr. Kimberley O’Brien นักจิตวิทยาเด็ก ระบุว่า เด็กโตอาจจะบอกคุณพ่อคุณแม่ได้ว่าตัวเองเครียดหรือรู้สึกอย่างไร แต่เด็กเล็ก หรือลูกในวัยอนุบาล ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก ไม่สามารถบอกหรืออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้จึงแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมรูปแบบต่างๆ เช่น กัดเล็บ แคะผิวหนัง หลงลืมบ่อยๆ หรืออาการเฉยเมยไม่อยากทำอะไร ทั้งหมดคือสัญญาณจากความตึงเครียดที่เป็นผลมาจากตารางเรียนและกิจกรรมที่แน่นจนแทบไม่มีเวลาได้เล่นนั่นเอง

2. ลูกอารมณ์เสียบ่อยขึ้น

Overscheduled_web_2

ความเหนื่อย เครียด และถูกกดดันเป็นเวลานาน จะส่งผลต่ออารมณ์ของลูก และอาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้องไห้งอแง อารมณ์แปรปรวน มีอาการหงุดหงิดเมื่อถึงเวลาต้องไปเรียนหรือทำกิจกรรมเป็นประจำ

Caroline Maguire, ACCG, PCC, M.Ed. โค้ชด้านครอบครัวและผู้เขียนหนังสือ Why Will No One Play with Me? The Play Better Plan to Help Children of All Ages Make Friends and Thrive. ระบุว่า ความเครียดจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ เด็กที่มีเรื่องต้องคิดต้องทำ หรือเรียนมากเกินไป อาจทำให้กลายเป็นคนคิดลบ ขี้หงุดหงิด และแสดงความก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ

3. ลูกไม่ได้หมดสนุก แต่ลูกหมดแรง!

Overscheduled_web_3

เด็กๆ ขึ้นชื่อว่า เป็นมนุษย์จิ๋วที่มีพลังงานล้นเหลือ แต่ถ้าวันหนึ่งลูกเริ่มเฉื่อยชา ไม่ตื่นเต้น และไม่กระตือรือร้นกับกิจกรรมใหม่ๆนั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่า ลูกควรได้ใช้เวลาไปกับการเล่นอิสระหรือพักผ่อนบ้างแล้ว

นอกจากนี้ หากลูกเริ่มป่วยง่าย ไม่สบายบ่อยขึ้น เป็นหวัดติดต่อกัน และมีไข้ต่ำๆ เป็นระยะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าความเครียดได้เข้าโจมตีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของลูกเข้าแล้ว

4. ลูกแสดงพฤติกรรมต่อต้านอย่างหนัก

Overscheduled_web_4

หนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ลูกมีความเครียด ซึ่งอาจเกิดจากการเรียนหรือทำกิจกรรมที่มากเกินไปก็คือ ลูกเริ่มมีพฤติกรรมต่อต้าน ให้ทำอะไรก็ไม่อยากทำ และมักปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่หยิบยื่นให้

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกต้องเหนื่อยหรือเครียดมากเกินไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของลูกว่ายังรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้หรือเปล่าด้วยนะคะ

 

สำรวจพฤติกรรมคุณพ่อคุณแม่ มีส่วนทำให้ลูกเครียดหรือเปล่า?!
อ้างอิง
health.clevelandclinic.org
care.com
chriskresser.com
childpsychologist.com.au

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST