Interview Working Mom Ep. 3 แจม—ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ คุณแม่และส.ส. ที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อลูกและเด็กๆ ของประเทศ

ทนายแจม

เวลาพูดถึง working mom หลายคนอาจนึกภาพคุณแม่นักธุรกิจ หรือคุณแม่สาวออฟฟิศรุ่นใหม่ไฟแรง ที่มุมหนึ่งก็ต้องรับผิดชอบหน้าที่การงานเพื่อความก้าวหน้าของตัวเอง อีกมุมหนึ่งก็ต้องพยายามจัดสรรเวลามารับหน้าที่คุณแม่ที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน

แต่วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ working mom ที่ไม่ใช่ทั้งเจ้าของธุรกิจและไม่ได้มีตารางเวลาทำงานแน่นอนเหมือนพนักงานบริษัท เพราะแจม—ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยในชื่อ ทนายแจม ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขตสายไหม จากพรรคก้าวไกล อีกบทบาทที่นอกเหนือจากการทำงานการเมืองแล้วเธอยังมีบทบาทเป็นคุณแม่ของลูกๆ น้องเปนไท วัย 7 ขวบ และน้องเวลา วัย 5 ขวบ

ภารกิจคุณแม่จะส่งผลต่อการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร หรือหน้าที่การงานที่เธอดำรงตำแหน่งอยู่ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้การเป็นคุณแม่อย่างไรบ้าง

หลายคนคุ้นเคยกับการเรียกทนายแจม จนอยากขอให้เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพทนาย

คุณพ่อของแจมเป็นทนายความ แล้วเราก็เห็นคุณพ่อทำงานมาตั้งแต่เด็ก เลยรู้สึกว่าเท่จังเลย ได้ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน คุณพ่อเคยบอกกับแจมว่าทนายความก็เหมือนอาชีพหมอ หมอได้ช่วยเหลือชีวิตคน แต่ทนายอย่างเราก็ช่วยรักษาความไม่สบายใจ บำบัดทุกข์ ให้กับคนที่มาหาเราได้เหมือนกัน ก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจ และเลือกเรียนด้านกฎหมาย

เมื่อปี 2556 ตอนนั้นเริ่มจากการเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม พอทำงานครบ 1 ปี เราก็เลยไปทำงานกับคุณพ่อสักพัก แต่ปี 2557 ช่วงนั้นเกิดการรัฐประหารพอดี เลยมีคนชวนให้ไปทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยเหลือคนที่ถูกจับกุมจากการแสดงความคิดเห็นหรือคนที่แสดงออกทางการเมือง เราก็รับปากและคิดว่าคงไม่นาน สัก 1-2 ปี ก็คงจะได้เลือกตั้ง แต่ปรากฏว่ามันยาวนาน เราก็เลยทำงานอยู่ศูนย์ทนายความฯ นานถึง 8 ปี พอถึงจุดอิ่มตัวก็เลยตัดสินใจลาออก

จุดเปลี่ยนที่ทำให้มีความคิดเรื่องทำงานการเมือง

น่าจะตอนที่เรามีลูกคนแรก เรารู้สึกว่าประเทศเราไม่ค่อยเอื้อต่อการมีลูกเลย รัฐบาลแทบจะไม่ได้รองรับการมีลูกของเราเลย เราต้องช่วยเหลือตัวเองแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ เริ่มตั้งแต่ตอนตั้งท้องก็ลำบาก การเดินทางไม่สะดวกสบาย พอคลอดลูกก็มีปัญหาซึมเศร้าหลังคลอดด้วย ซึ่งในช่วงนั้นคนยังไม่ค่อยให้ความสนใจกับปัญหาโรคซึมเศร้าเท่าไร แล้วเราก็ไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นอะไร เราแค่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า รู้สึกว่าปรับตัวไม่ได้ พอเริ่มเข้าใจว่ามันมีภาวะนี้ ก็เลยพยายามปรับตัวเองจนผ่านมาได้ ต่อมาก็เจอปัญหาการให้นมลูก หาห้องปั๊มนมยากมาก หรือเวลาที่จะพาลูกออกไปข้างนอกก็ไม่สามารถที่จะเข็นรถเข็นพาลูกไปไหนได้ เพราะทางเท้าขรุขระไม่สะดวก เข็นบนถนนก็อันตราย ทุกอย่างลำบากไปหมดเลย

เรารู้สึกว่าชีวิตถูกผลักให้ไปอยู่ในห้างฯ เพราะเป็นสถานที่ที่มีความพร้อมที่สุดถ้าจะพาลูกออกจากบ้าน และการไปสวนสาธารณะก็เป็นเรื่องยากมาก มีเหตุการณ์ที่พีกมากสำหรับเรา คือตอนลูกเล็กเราหน้าอกคัดน้ำนม เราต้องบีบน้ำนมทิ้งใส่ชักโครก เพราะไม่ที่สำหรับปั๊มนม แล้วรู้สึกว่ามันซัฟเฟอร์มาก กับตอนที่พาลูกไปสวนสาธารณะแล้วลูกอึ ต้องหาที่เปลี่ยนผ้าอ้อม แต่ห้องน้ำไม่มีพื้นที่รองรับ ตอนนั้นเราจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมลูกตรงอ่างล้างมือ ก็มีคนมองเราด้วยสายตาเหมือนเราเป็นคนไร้ความรับผิดชอบ แล้วพอเราเอาลูกเข้าไปในห้องน้ำ ก็ทำลูกหลุดมือลงชักโครก เราร้องไห้และรู้สึกผิดหนักมาก

หลังจากนั้น เราไปไต้หวัน เมืองเขาน่าอยู่มาก ทุกสถานีรถไฟฟ้ามีห้องให้นม มีห้องเปลี่ยนผ้าอ้อม มีขบวนรถสำหรับการให้นมโดยเฉพาะ ซึ่งเรารับรู้ได้ว่าประเทศเขาให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกมาก ทั้งที่อัตราเกิดการก็ต่ำเหมือนกัน แต่เขาทำทุกอย่างเพื่อให้คนอยากมีลูก ซึ่งไม่เห็นต้องถามเหมือนคนไทยเลยว่าทำไปแล้วใครจะใช้ หรือมองว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ

เพราะเอาเข้าจริง แม่ๆ ไม่ต้องการอะไรมากหรอก แค่ขอที่ให้เราใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่ใช่ว่าแค่พาลูกออกนอกบ้านก็ถูกคนในสังคมมองแล้วว่า จะพาออกมาข้างนอกทำไม เอาเด็กมาทรมานทำไม แต่คุณลืมไปไหมว่า เราก็ควรได้ใช้ชีวิตแบบปกติเหมือนกัน

คุณคิดว่าต้องทำงานการเมืองถึงจะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้?

ก่อนหน้านี้ก็เคยไปคุยกับพรรคการเมืองอื่นอยู่บ้าง เราเขียนนโยบายเข้าไปเสนอ อย่างเรื่อง ห้องให้นมบุตรและประเด็นอื่นๆ ที่เราอยากขับเคลื่อน แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเข้าใจเท่าไร เขาบอกว่ามันจับต้องไม่ได้ ไม่เห็นจะเร่งด่วนเลย คนรากหญ้าไม่ซื้อหรอก ปัญหาปากท้องสำคัญกว่า คือหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้สำคัญอย่างไร จนเรานำมาเสนอพรรคก้าวไกล เขาสนใจและถามว่าเราอยากเข้ามาทำเองเลยไหม เราก็เลยคิดว่าถ้าจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังก็คงต้องมาเป็น ส.ส. เพราะน่าจะพูดได้เสียงดังกว่าเดิม เรามองว่าตัวเองสามารถเป็นตัวแทนแม่ๆ ส่วนมากได้ด้วย ซึ่งที่จริงเราพูดเรื่องนี้มา 4-5 ปีแล้ว แต่เพิ่งมามีคนสนใจช่วงที่เราเป็น ส.ส.นี่เอง

“ถ้ารัฐบาลลงทุนสวัสดิการที่เกี่ยวกับเด็กและครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ในอนาคตประเทศเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณไปกับการปราบปรามอาชญากร หรือยาเสพติดจำนวนมากขนาดนี้ก็ได้ เพราะการลงทุนกับเด็กจะก่อให้เกิดสังคมที่ดีในระยะยาว และประเทศไม่ต้องเสียเงินไปกับการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ”

นอกจากปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กเล็กแล้ว คุณแจมมองสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาของเยาวชนอย่างไรบ้าง

ถ้าติดตามแจมอภิปรายในสภา ก็จะเห็นว่าแจมพูดถึงเรื่องเด็กทุกครั้งเลย จนนักข่าวสภาบอกว่าพี่แจมเปิดไมค์รู้เลยว่าต้องพูดถึงเรื่องเด็ก (หัวเราะ) เราพูดได้เลยว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเรา เกิดจากที่รัฐบาลละเลยเด็ก 0-6 ขวบ ตามที่เราได้ดูข่าวเยาวชนใช้ความรุนแรง ทุกคนพยายามไปโทษเด็ก ไปด่าตำรวจ หารู้ไม่ว่า กว่าที่เด็กจะมาถึงจุดนี้ได้ ทุกคนมีส่วนในการสร้างเด็กเยาวชนคนนี้ขึ้นมาเหมือนกัน คุณต้องมองย้อนกลับไปที่สาเหตุว่าแท้จริงแล้วมันเกิดจากอะไร เราต้องคุยกับเด็กเพื่อให้รู้ว่าอะไรที่หล่อหลอมให้เขามาถึงจุดนี้ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด สุดท้ายเราได้คุยกับคนที่ทำงานด้านนี้ เราบอกได้เลยว่าทุกเคสมีปัญหาตั้งแต่ช่วงวัย 0-6 ขวบ ทั้งนั้น และสภาพแวดล้อมระหว่างการเติบโตที่เด็กๆ ต้องเจออีก

เพราะฉะนั้นการเดินทางของเด็กหนึ่งคนมันผ่านอะไรมามาก ซึ่งเวลาที่เด็กทำความผิด เราไม่โทษเด็กเลยนะ เราโทษสังคมรอบข้างว่าอะไรที่กระตุ้นให้เขาทำความผิด ในขณะเดียวกันคนในสังคมต้องยอมรับความจริงก่อนว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นคือเกิดจากพวกคุณส่วนหนึ่ง เราพูดในสภาตลอดว่าถ้าคุณจะโทษเด็ก คุณโทษตัวเองที่อยู่ในสภาก่อน เป็น ส.ส. มากี่สมัยแล้ว เคยคิดที่จะแก้ปัญหาให้เด็กจริงๆ ไหม นอกจากการไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการไปลดอายุรับโทษ หรือเพิ่มหลักสูตรคุณธรรมจริยธรรม แจมพูดตลอดว่าถ้ารัฐบาลลงทุนสวัสดิการที่เกี่ยวกับเด็กและครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ในอนาคตประเทศเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณไปกับการปราบปรามอาชญากร หรือยาเสพติดจำนวนมากขนาดนี้ก็ได้ เพราะการลงทุนกับเด็กจะก่อให้เกิดสังคมที่ดีในระยะยาว และประเทศไม่ต้องเสียเงินไปกับการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

การแก้ปัญหาที่ว่า ต้องแก้ยังไง

ผู้ใหญ่ต้องลดอีโก้ตัวเองและรับฟังเด็กอย่างไม่ตัดสิน สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือผู้ใหญ่พยายามสอนเด็กว่าอันนี้ผิด อันนี้ถูก แต่คุณไม่ได้ฟังเลยว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร คือพอเรามีลูกเองและได้ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนด้วย ภาพที่เราเห็นกับสิ่งที่เราได้คุยกับเขา มันไม่เหมือนกัน เขาไม่ได้ต้องการฟังว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่เขาต้องการให้เรารับฟังแล้วค่อยแก้ปัญหาไปด้วยกัน พอเราฟังก่อนแล้วค่อยแนะนำเขา เขาก็จะรับฟังเราเหมือนกัน และการที่เรารับฟังเขาเยอะๆ เขาจะรู้ได้รู้สึกว่ามีพื้นที่ปลอดภัย

ส่วนตัวแจมก็จะบอกลูกตลอดว่าถ้าเราทำอะไรไม่ดี หนูบอกได้ตลอดเลยนะ  แล้วเราก็ค่อยเรียนรู้และโตไปด้วยกัน เราอย่าเพิ่งไปคิดว่าเราเกิดก่อนแล้วเรารู้มากกว่า

พูดถึงความเป็นแม่ ทนายแจมเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกแบบไหน

เราจะบอกทุกคนในครอบครัวว่าเราจะเลี้ยงลูกแบบไม่ตีเด็ดขาด เพราะการตีลูกคือจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรง การตีลูกคือการที่คุณโมโหและจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และถ้าเราตีลูก แล้วเราจะสอนลูกทำไมว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องไม่ดี นอกจากนี้เราก็จะเลี้ยงลูกด้วยการเป็นตัวอย่างให้ดู และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญเราต้องไม่ใช้อำนาจนิยมกับลูก เราต้องมองลูกให้เหมือนมนุษย์คนหนึ่ง

“เราคิดว่าถึงแม้ว่าเราจะเลี้ยงลูกดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าวันหนึ่งเขาออกไปอยู่ในโลกภายนอก แล้วสังคมมันแย่ สิ่งที่ลูกต้องเจอมันก็แย่อยู่ดี แต่ถ้าเราเปลี่ยนสังคมได้ มันคือการที่เรากำลังสร้างสิ่งที่เราจะต้องไปเจอในอนาคตได้ เราเป็นนักการเมือง เราไม่ได้ปกป้องลูกแค่อยู่ในบ้าน แต่เราปกป้องเขาผ่านสังคม”

ด้วยบทบาทหน้าที่อันหลากหลาย ลูกเข้าใจการทำงานของคุณแจมมากน้อยแค่ไหน

เขาก็รู้ว่าเราทำงานในสภา เรากำลังทำกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก เราก็จะบอกลูกว่าหม่ามี้กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมให้หนูกับเพื่อนๆ อยู่ เขาก็จะชอบถามว่าวันนี้หม่ามี้อภิปรายเรื่องอะไรเหรอ เราก็จะเปิดให้เขาดู เขาก็จะภูมิใจที่เราพูดถึงเขาในนั้นด้วย

เราคิดว่าถึงแม้ว่าเราจะเลี้ยงลูกดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าวันหนึ่งเขาออกไปอยู่ในโลกภายนอก แล้วสังคมมันแย่ สิ่งที่ลูกต้องเจอมันก็แย่อยู่ดี แต่ถ้าเราเปลี่ยนสังคมได้ มันคือการที่เรากำลังสร้างสิ่งที่เราจะต้องไปเจอในอนาคตได้ เราเป็นนักการเมือง เราไม่ได้ปกป้องลูกแค่อยู่ในบ้าน แต่เราปกป้องเขาผ่านสังคม ทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังทำหน้าที่แม่อย่างเต็มที่ ดูแลลูกทั้งในบ้านและนอกบ้านด้วย

คิดว่าอาชีพหรือหน้าที่การงาน ส่งผลต่อการทำหน้าที่แม่ของตัวเองไหม

แจมคิดว่าการจัดสรรเวลาที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเวลาเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้วเอากลับคืนมาไม่ได้  บางทีเห็นลูกก็รู้สึกว่าทำไมลูกโตไวจังเลย เสียดายเวลา อยากกลับไปดูแลลูก มีเวลาให้ลูกอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เด็กลูกไม่เคยลงไปดิ้นกับพื้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่เมื่อไม่นานมานี้ลูกไปกับคุณย่าแล้วเขาลงไปดิ้นกับพื้น คุณย่าโทร.มาหาเราว่าจะทำยังไงดี แจมโทษตัวเองก่อนเลยนะว่าเราไม่มีเวลาให้ลูกมากพอ เราทำอะไรผิดพลาด แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดี แต่สุดท้ายก็มาคิดได้ว่าเราก็กำลังทำเป้าหมายบางอย่างเพื่อลูกเหมือนกัน ตอนนี้ก็เลยต้องกลับมาจัดสรรเวลาและคุยกับตัวเองให้มากขึ้น

เราก็จะจัดสรรเวลาว่าวันจันทร์จะไปส่งลูกที่โรงเรียน คุณย่าก็จะรับส่งวันที่เหลือ แล้ววันศุกร์เราก็จะไปรับ แล้วก็จะอยู่ด้วยกันวันเสาร์อาทิตย์ ถ้าเสาร์อาทิตย์ไหนมีลงพื้นที่ เราก็จะพาลูกไปด้วย เพื่อให้ลูกได้อยู่กับเราทุกสถานการณ์ ซึ่งเราว่ามันเป็นผลดีนะ มันทำให้ลูกเรามีโอกาสได้เห็นปัญหามากขึ้นด้วย ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้สอนเขาผ่านปัญหาที่เราเจอ

อีกอย่างหนึ่งคือเราอยากทำให้หลายคนเห็นว่าผู้หญิงที่มีลูกก็สามารถทำงานการเมืองได้ เราไม่ได้เป็นแค่ไม้ประดับของสภา เราสามารถทำงานได้เหมือนกันกับผู้ชาย และทำได้ดีด้วย

เคยมีประสบการณ์หรือถูกมองว่ามีลูกแล้วจะทำงานได้ไม่เต็มที่หรือเปล่า

เมื่อไม่นานมานี้แจมพูดเรื่องทำแท้ง ซึ่งแจมเคยทำแท้งสมัยตอนเรียนมหาวิทยาลัย สมัยก่อนเราก็ไม่กล้าพูดเรื่องนี้เพราะมองว่าเป็นเรื่องน่าละอายและไม่ควรพูด กลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเรื่องทำแท้งเสรี เขาก็บอกว่าไม่เคยมีนักการเมืองพูดเรื่องนี้เลย เวลาพูดถึงเรื่องทำแท้งเราต้องตัดมายาคติที่ว่า ‘ถ้าทำแท้งถูกกฎหมาย ใครๆ ก็ทำแท้งหมด’ ออกไปก่อน เรามองว่าการทำแท้งคือทางเลือกหนึ่งในการจัดการตัวเอง เราต้องมีสิทธิที่จะจัดการกับร่างกายตัวเองได้ มันจึงควรเป็นทางเลือก มากกว่าข้อห้าม เพราะผู้หญิงโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ทำแท้งก็โดนด่า มีลูกแล้วเลี้ยงไม่ดีก็โดนด่า งั้นก็เลือกทางที่เราสบายใจดีกว่า ซึ่งเราก็เล่าเรื่องนี้ให้ลูกฟัง เขาก็ถามว่าเกิดจากอะไร เราก็บอกว่าเราไม่ได้เพียบพร้อม เราก็เคยมีเรื่องผิดพลาดได้เหมือนกัน

ตอนนี้ได้ทำงานในสภาแล้ว ยังเห็นปัญหาหรืออยากผลักดันเรื่องไหนอีกบ้าง

แจมให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ ค่าเทอมสูงมาก ก็เลยมาคิดว่าทำไมเราต้องมาจ่ายราคาสูงเพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตขนาดนี้ เราก็เลยคิดว่าอยากเปลี่ยนระบบการศึกษาของประเทศไทย เราไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกันมามากพอแล้ว เราอยากปรับปรุงหลักสูตรของเด็กปฐมวัย ความจริงเด็กปฐมวัยไม่ต้องใช้หนังสือสักเล่มด้วยซ้ำ แต่เน้นเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเป็นหลัก และที่สำคัญต้องยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ก่อน เรากดดันให้เด็กเครียดมากเกินไป เด็กควรได้เล่น ได้ใช้ชีวิต พอเขามีทักษะที่แข็งแรงมากพอ ถึงวันหนึ่งที่เขาจะต้องมาเน้นวิชาการ เขาก็จะไปได้รวดเร็วและสบายมาก

สัมภาษณ์วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST