การเล่นกับเพื่อนถือเป็นการพัฒนาทักษะสังคมของลูกในช่วงปฐมวัย นอกจากนั้น วัยนี้เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้และเลียนแบบ ทำให้เพื่อนบางคนยังมีอิทธิพลและส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกได้
แต่ในสังคมใหม่หรือในกลุ่มเพื่อนของลูก อาจประกอบไปด้วยเด็กที่หลากหลายและมีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันออกไป เช่น เด็กบางคนมีนิสัยก้าวร้าว ทำให้ลูกเริ่มซึมซับพฤติกรรมก้าวร้าวกลับมาใช้ที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงอยากช่วย เลือกเพื่อนให้ลูก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมและนิสัยที่ไม่เหมาะสม
Hailey Shafir, LCMHCS, LPCS, LCAS, CCS ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ระบุว่า มิตรภาพที่ไม่ดีอาจจะ ‘ดูแย่’ สำหรับเด็กอนุบาลถึงประถม แต่จะเป็น ‘อันตราย’ เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่ลูกจะให้ความสำคัญและใช้เวลากับเพื่อนมาก หากลูกใกล้ชิดกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมเชิงลบมากเกินไป นอกจากมีโอกาสซึมซับพฤติกรรมที่ไม่ดีแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกชักจูงได้ง่า
แต่การช่วย เลือกเพื่อนให้ลูก ต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ไม่ให้ลูกรู้สึกว่าถูกก้าวก่าย ดังนั้นการเฝ้าสังเกตการณ์และจับตามองสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับเพื่อน (บางคน) ด้วยเทคนิค ดังนี้
1. สังเกตลูกของเราก่อน
Nikki Smith, M.Ed., NCC, NCSC, CSWC ที่ปรึกษาโรงเรียน และผู้จัดการฝ่ายบริการให้คำปรึกษาสำหรับเขตการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า บางครั้งมิตรภาพที่ควรออกห่าง หรือไม่เหมาะสม อาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่แสดงถึงความใจร้ายและไม่มีความเห็นอกเห็นใจให้คนอื่น เช่น ชอบพูดให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี หัวเราะเยาะเวลาที่คนอื่นทำอะไรผิดพลาด หรือทำให้อับอาย
คุณพ่อคุณแม่อาจลองสังเกตว่าลูกเริ่มมีพฤติกรรมแปลกๆ คำพูดแปลกๆ หรือแนวคิดแปลกๆ ที่ไม่น่าเกิดจากคนในบ้านหรือไม่ หรือมีเพื่อนลูกบางคนที่มีพฤติกรรมชวน ‘เอ๊ะ!’ เช่น ก้าวร้าวเกินเหตุ ติดพูดคำสบถ ชอบล้อคนอื่น หรือแกล้งคนอื่นบ่อยๆ
ลองถามลูกเกี่ยวกับเพื่อนว่าเล่นกับเพื่อนคนนี้เป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร เพื่อนคนนี้เคยทำอะไรให้ลูกไม่สบายใจและเคยขอโทษลูกหรือเปล่า และหลังจากขอโทษแล้ว ยังทำผิดซ้ำๆ หรือไม่ เพื่อช่วยประเมินสถานการณ์ระหว่างลูกกับเพื่อนต่อไป
2. สังเกตเพื่อนและวิธีการเล่นของลูก
Michelle Risser, LISW-S นักบำบัดสุขภาพจิต อธิบายว่า เด็กเล็กอาจจะไม่เข้าใจว่า มิตรภาพที่ไม่ดี หรือเพื่อนแบบไหนที่มีพฤติกรรมเชิงลบ และควรออกห่าง แต่คุณพ่อคุณแม่ช่วยสังเกตเพื่อนลูกได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เป็นพิษร้ายแรงที่สุด (toxic behaviors) คือ การที่เด็กคนหนึ่งพยายามแยกคนอื่นออกจากกลุ่ม หรือชวนให้เพื่อนๆ แยกบางคนออกจากกลุ่ม
รวมไปถึงเด็กที่มีลักษณะที่ชอบบงการ ชอบออกคำสั่ง เอาแต่ใจ จนทำให้เพื่อนที่เล่นด้วยรู้สึกอึดอัด ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่หากสังเกตว่า ลูกยังมีความสุข และอยากเล่นกับเพื่อนคนเดิมอีก คุณพ่อคุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือก็ได้
3. เพื่อนที่เป็นผู้นำ : นำเด็กคนอื่นๆ ละเมิดกฎของผู้ใหญ่
พฤติกรรมของเพื่อนที่ไม่น่ารัก มักยุยงให้เด็กคนอื่นฝ่าฝืนหรือละเมิดกฎที่เคยทำมาก่อนส่วนใหญ่พฤติกรรมนี้ มักเกิดขึ้นในกลุ่มที่มีเด็กโตเล่นรวมกับเด็กเล็ก และใช้วิธีเชิญชวนหรือฝ่าฝืนให้ดูเป็นตัวอย่าง
4. มีพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง หรือล้อเลียนผู้อื่นจนเคยชิน
ผู้ใหญ่หลายคนมักเข้าใจว่า เด็กเล่นกันก็ต้องมีทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นธรรมดา พอผู้ใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับการกลั่นแกล้งรังแก เด็กๆ จึงเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าเพื่อนลูก มีการใช้คำพูดล้อเลียน ชอบแกล้งคนอื่น ให้เจ็บตัว เจ็บใจเป็นประจำ คุณพ่อคุณแม่ควรลองให้ลูกพูดคุยกับเพื่อนว่าพฤติกรรมอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ หากเตือนแล้วเพื่อนไม่รับฟัง ลูกก็ควรเว้นระยะห่างกับเพื่อนคนนี้มากขึ้นอีกหน่อย
COMMENTS ARE OFF THIS POST