KonMari กับวิธีการจัดระเบียบลูกน้อย

มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) กูรูเรื่องการจัดบ้าน เจ้าของหนังสือทฤษฎีการจัดบ้านแบบ KonMari ที่นิตยสารไทม์ยกให้เธอเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของโลก เมื่อปี 2015

 

หลังจากเป็นเจ้าของหนังสือเบสต์เซลเลอร์ The Life-Changing Magic of Tidying Up (หรือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น) ชีวิตของเธอก็ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อเธอมีลูกสาวคนแรก… และตามมาด้วยคนที่สอง

เราอาจคิดว่าโลกที่เคยเป็นระบบระเบียบของเธอจะต้องสั่นคลอนเพราะลูกน้อยทั้งสอง แต่…

“ฉันเซอร์ไพรส์เลยแหละ ตอนที่เห็นซัตสึกิเอาพวกสมุด ตุ๊กตาสัตว์ และของเล่นไปเก็บได้ถูกที่กว่าที่ฉันคาดเอาไว้”

สเตตัสที่เธอเขียนถึงซัตสึกิ—ลูกสาววัยสองขวบ กลับทำให้เรารู้ว่า มันก็ไม่แน่เสมอไป

“ลูกยังพยายามจะเลียนแบบวิธีพับผ้าของฉัน แต่ฉันก็เอามาพับใหม่ตอนที่เขาไม่เห็นนะ”

ใช่แล้ว แม้แต่ลูกสาววัยสองขวบของเธอก็ยังรู้จักวิธีการแบบ KonMari

หนังสือต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นของเธอถูกแปลและตีพิมพ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2014 แล้วหนังสือก็ถูกแปลไปเป็นภาษาอื่นๆ และมียอดขายรวมกว่า 8 ล้านเล่มทั่วโลก จนแฟนๆ ยกให้นามสกุล Kondo ของเธอ กลายเป็นคำที่มีความหมายว่า การโละทิ้งสิ่งไม่จำเป็นออกจากบ้าน หรือการพับเสื้อผ้าอย่างพิถีพิถัน

ทฤษฎีการจัดบ้านของเธอได้รับความสนใจจากทั่วโลก เธอบอกให้คนอ่าน รู้จักจัดของให้เป็นหมวดหมู่ และหยิบของแต่ละชิ้นขึ้นมาถามตัวเองว่ามันสำคัญกับเราไหม ถ้าไม่ ก็ส่งของชิ้นนั้นไปยังที่ที่มันควรอยู่เสียเถิด

'ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว' (ภาพจาก www.welearnbook.com)

แต่ไม่นานหลังจากนั้น ทฤษฎีของเธอก็ถูกทดสอบ เมื่อเธอตั้งครรภ์ลูกคนแรก

คนโดะบอกกับ The Wall Street Journal ว่า “ตอนที่พวกเรารู้ว่ากำลังจะมีลูก สามีกับฉันก็ได้เจอกับเทศกาลจัดระเบียบบ้านอีกครั้ง เราต้องปรึกษากันว่าเราต้องการพื้นที่เท่าไหร่ เราควรให้ลูกใช้ลิ้นชักกี่ใบ”

 

เธอยังบอกอีกว่าการเคลียร์บ้านเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับลูก ยิ่งทำให้รู้ว่าบ้านเรามีอะไรมากเกินไปได้ง่ายขึ้น

และสิ่งที่ซัตสึกิทำให้เธอเห็นตั้งแต่ยังเล็กๆ เช่น การรู้ว่าต้องเอาไม้ถูพื้นไปแยงเข้ามุมเพื่อเอาฝุ่นออกมา ทำให้คนโดะมั่นใจว่า เธอสามารถสอนให้ลูกเป็นคนมีระเบียบเรียบร้อยได้ตั้งแต่หนึ่งขวบ หรือเมื่อลูกเริ่มลุกขึ้นเดิน

และมันก็จะถึงตาของมิโกะ—ลูกสาวคนเล็กวัย 10 เดือน ที่น่าจะทำได้แบบพี่สาวในเร็วๆ นี้เช่นกัน

คนโดะบอกว่าเธอไม่ได้เป็นคุณแม่ที่จู้จี้ และเธอก็ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ทำให้ลูกๆ สนุกสนาน

ทาคุมิ คาวาฮาร่า (Takumi Kawahara) สามีวัย 33 ปี ของคอนโดะบอกว่า ก่อนแต่งงานเขาคิดว่าตัวเองเก่งเรื่องงานบ้านไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหนุ่มญี่ปุ่นทั่วไป

“แต่ทักษะพวกนั้นพอมาเจอคนโดะ ก็ต้องขัดเกลาใหม่หมดเลย”

ถึงอย่างนั้น คนโดะบอกว่าทฤษฎีของเธอไม่มีรูปแบบตายตัว และต้องรู้จักปรับให้เข้ากับแต่ละครอบครัว “จากประสบการณ์การเป็นพ่อแม่ครั้งแรก ฉันเรียนรู้ว่าพวกเราไม่มีเวลามากขนาดนั้น”

เธอแนะนำพ่อแม่ว่าให้โฟกัสที่การค่อยๆ จัดการกับสิ่งของเพื่อแก้ปัญหา แม้ว่าปกติเทคนิคของเธอจะบอกว่าการจัดการทั้งหมดให้จบในรวดเดียว จะได้ประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็ต้องเป็นข้อยกเว้นสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็กอยู่ดี

 

คนโดะบอกว่า เธอกำลังคิดจะออกหนังสือภาพสักเล่มที่พูดถึงความมีระเบียบ ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต ประมาณกลางปีหน้า

“เมื่อเด็กๆ ผ่านความเสียใจที่ต้องทิ้งสิ่งของของตัวเองไปได้ เขาจะได้ประสบการณ์ดีๆ จากมัน”

ที่มาของภาพ The Wall Street Journal

เคล็ดลับสำหรับครอบครัวที่มีเจ้าตัวเล็ก จากมาริเอะ คนโดะ

1. ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปที่จะเรียนรู้เรื่องการจัดระเบียบ

คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักการจัดระเบียบสิ่งของได้ตั้งแต่เข้าวัยหนึ่งขวบ

2. คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดการตัวเองให้ได้ก่อน

คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่า บ้านที่มีระเบียบนั้นหน้าตาเป็นยังไง และทำให้ลูกเห็นว่าการจัดบ้านนั้นเป็นเรื่องสนุกสนาน

3. ตัดสินใจว่าจะให้พื้นที่กับลูกมากแค่ไหน

ต้องตระหนักว่าบ้านของตัวเองมีพื้นที่แค่ไหน มีห้องกี่ห้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ซื้อสิ่งของเข้ามามากเกินความจำเป็น แล้วมันจะช่วยให้บ้านของทุกคนเป็นระเบียบได้

4. ลูกต้องรู้ว่าพวกเขามีพื้นที่ของตัวเองเท่าไหร่

ถ้าลูกมีสิ่งของเก็บไว้มากเกินพื้นที่ของตัวเอง ให้พวกเขาเลือกของที่มีคุณค่าต่อจิตใจ หรือของเล่นชิ้นที่ชอบเก็บไว้ และรู้จักเลือกว่าจะต้องทิ้งอะไรออกไปบ้าง

5. สอนลูกพับผ้า

เริ่มจากถุงเท้า เพราะมันพับง่ายที่สุดแล้ว

ที่มาของภาพและข้อมูล
The Wall Street Journal
Cetusnews

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST