เข้าใจธรรมชาติของเด็กอ่อนไหวง่าย

เด็กเซนสิทีฟหรือเด็กที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย คือเด็กที่มีระบบประสาทสัมผัสทั้งห้าตอบสนองไวกว่าเด็กทั่วไป การเปลี่ยนแปลงรอบตัวเพียงเล็กน้อย ก็เป็นแรงกระตุ้นให้เด็กๆ คิดมากและเกิดความเครียด จนทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าลูกเป็นเด็กขี้กลัว ขี้อาย หรือสมาธิสั้น 

แต่หากทำความเข้าใจจะพบว่า แท้จริงแล้วเด็กอ่อนไหวคือเด็กที่มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ และความเอื้ออาทร ไม่ใช่เด็กอ่อนแอ แต่เป็นคนละเอียดอ่อน เด็กเหล่านี้ เมื่อฟังนิทาน ดูละคร ฟังเพลง หรือฟังคำพูดที่ไม่เข้าหู จะรู้สึกเข้าถึงและเข้าใจมากกว่าเด็กทั่วไป

ลักษณะนิสัยของเด็กอารมณ์อ่อนไหวง่าย มีความเสียสละ มีจิตใจดี และปิดบังความรู้สึกของตัวเองเพื่อให้คนรอบข้างมีความสุข รวมถึงระมัดระวังการกระทำหรือคำพูดในการทำให้คนอื่นไม่พอใจหรือไม่สบายใจ

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายด้วยความเข้าใจ เข้าใจพฤติกรรม การแสดงออก รวมไปถึงชื่นชมพฤติกรรมที่ดี เพื่อไม่ให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กขี้อาย วิตกกังวลง่าย หรือโรคซึมเศร้า

1. สื่อสารให้ลูกเข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและเห็นใจกับอารมณ์ของลูก

sensitiveemotion_web_1

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ลูกเองก็อาจเป็นทุกข์ที่ต้องรู้สึกอะไรง่ายดายและมากมายกว่าคนอื่น โดยส่วนใหญ่มักเป็นความรู้สึกในทางลบ เช่น น้อยใจ เสียใจ โกรธ เศร้า คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความเข้าใจว่าลูกไม่ได้อยากเป็นอย่างนี้ เพียงแต่ลูกไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกหรือหาทางออกจากความรู้สึกนี้ได้

หลังจากทำความเข้าใจแล้ว เดินเข้าไปหาลูก ใช้น้ำเสียงที่เข้าอกเข้าใจ เช่น “แม่รู้หนูเสียใจที่แม่ดุ หนูร้องไห้ได้ แม่จะอยู่ใกล้ๆ หนูพร้อมจะคุยเมื่อไรก็หยุดร้อง แล้วเรามาคุยกัน” การพูดแบบนี้ทำให้ลูกหยุดร้องไห้และเปิดใจคุยมากขึ้น

2. ระมัดระวังคำพูดและการกระทำ

sensitiveemotion_web_2

เด็กกลุ่มนี้มีความรู้สึกไวและตีความได้ไกลเกินกว่าที่คุณจะเข้าใจ ดังนั้นคำพูด และการกระทำที่ออกแนวประชดประชัน ตำหนิ ไม่พอใจ เปรียบเปรย หรือความไม่ยุติธรรม ก็อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กกลุ่มนี้ได้แรงกว่าที่คุณจะคาดถึง

คำพูดที่ควรหลีกเลี่ยงคือ “ร้องไห้ทำไม เรื่องนิดเดียวเอง”  “เป็นเด็กขี้แยแบบนี้อีกแล้ว ไม่รู้จักโต” “เอาแต่ร้องไห้แบบนี้ ก็ต้องโดนแบบนี้แหละ” และ “ทำไมขี้แยแบบนี้ ทำไมใจเสาะแบบนี้”

3. อย่าลงโทษลูกด้วยการทิ้งให้อยู่คนเดียว

sensitiveemotion_web_3

การลงโทษด้วยการทิ้งให้ลูกอยู่คนเดียว ยิ่งทำให้ลูกจำและสะสมความไม่พอใจมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อลูกมีพฤติกรรมน่ารัก คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงการรับรู้ถึงสิ่งที่ลูกทำ เช่น การกอด การหอม การขอบคุณ ชื่นชมอย่างพอดี ทำให้ลูกสัมผัสได้ถึงความใส่ใจและได้ใจจากเด็กกลุ่มนี้ไปเต็มๆ สังเกตได้จากมีอาการน้อยใจและงอนคุณพ่อคุณแม่ลดน้อยลง

4. ให้เวลาลูกปรับตัว

sensitiveemotion_web_4

เด็กอารมณ์อ่อนไหวง่ายมักต้องการมีโลกส่วนตัว ชอบเล่นคนเดียว และรักอิสระ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ช่วยให้ลูกปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวได้ ยกตัวอย่างเช่น พาลูกไปสัมผัสธรรมชาติ ร้องเพลง วาดรูป หรือทำกิจกรรมที่ลูกชอบ

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกบ่อยๆ ช่วยให้ลูกมีความรู้สึกมั่นคง เชื่อมั่นในตนเอง และจัดการกับอุปสรรคได้ดี รวมถึงสอนให้ลูกพูดความรู้สึก เช่น “หนูเจ็บ” หรือ “หนูไม่ชอบ” เพื่อระบายความรู้สึกและร้องไห้ลดลง

5. สร้างความภูมิใจและความสุขให้กับลูก

sensitiveemotion_web_5

คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยลูกจัดการกับอารมณ์ เช่น สร้างความภาคภูมิใจ ลดความรู้สึกอับอาย รวมไปถึงสอนให้ลูกรู้วิธีพูดคุยถึงความอ่อนไหว และปลดปล่อยอารมณ์ด้วยวิธีการที่เหมาะสม

 

 

 

อ้างอิง
Gotoknow
Kapook
Kids.everything
Dr.saowapa
Topicstock
Amarinbabyandkids

Panitnun W.

'แพม' ไม่มีลูกเป็นของตัวเอง แต่รักเด็กเป็นชีวิตจิตใจ ว่างไม่ได้ต้องหาคลิปเด็กมาดู ถ้าได้ดูคลิปเด็กก่อนนอนนี่คือจะฟินมาก และที่ชอบมากอีกอย่างคือ แซลมอน ความฝันคือ ถ้ามีเงินจะเปิดฟาร์มแซลมอน

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST