READING

ลูกอ้วน (?) : เด็กอ้วนจ้ำม้ำ เท่ากับเด็กสุขภาพดี จ...

ลูกอ้วน (?) : เด็กอ้วนจ้ำม้ำ เท่ากับเด็กสุขภาพดี จริงเหรอ…

ลูกอ้วน

คุณพ่อคุณแม่หลายคนน่าจะเคยถูกทักเกี่ยวกับความสูงและน้ำหนักตัวของลูก เช่น ทำไมไม่ให้ลูกกินเยอะๆ หรือ ลูกอ้วน แปลว่าแข็งแรง มากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ตามปกติ

แต่ความจริงแล้ว การปล่อยให้ ลูกอ้วน หรืออ้วนง่ายกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นคงทางใจของลูกได้

โรคอ้วนในเด็ก เกิดจากอะไร และคุณพ่อคุณแม่จะปกป้องลูกจากค่านิยมเด็กอ้วนจ้ำม้ำ คือเด็กแข็งแรงและสุขภาพดีได้ เราต้องมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันใหม่อีกครั้งนะคะ

1. ลูกอ้วนเพราะกินเก่งและกินขนมมากเกินไป

fatkids_web_1

#ทุกคนตกอยู่ในวงล้อมของโรคอ้วน Dr.Julie Lumeng ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ทุกคนอยู่ท่ามกลางแวดล้อมของ ‘โรคอ้วน’ เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารสะดวกซื้อ และอาหารจานด่วนวางที่หาซื้อได้ง่าย ในราคาที่ถูกกว่าทำอาหารกินเอง

นอกจากนั้น การกินอาหารพร้อมการดูโทรทัศน์หรือใช้หน้าจอไปด้วยของผู้ใหญ่ ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เด็กเลียนแบบ และเพลิดเพลินไปกับการกิน จนสามารถกินอาหารมากเกินความต้องการของร่างกายได้

 #อาหารที่เด็กชอบคือแหล่งพลังงานไม่ใช่แค่การกินในปริมาณมาก แต่ของกินที่เด็กๆ ชอบมักจะเป็นอาหารที่มีแคลอรีและน้ำตาลสูง เช่น อาหารจานด่วน ขนมกรุบกรอบ ของหวาน ลูกอม ช็อกโกแลต เจลลี่  น้ำผลไม้เข้มข้น น้ำอัดลม ของทอดทั้งหลาย อาหารและขนมเหล่านี้คือ ตัวการสำคัญที่ทำให้ลูกน้ำหนักขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกกินขนมแต่ควรให้ลูกกินขนมที่ชอบในปริมาณที่เหมาะสม และไม่บ่อยจนเกินไป

#กินดีมีความสุขแต่กลับวิ่งไม่ไหว เด็กๆ กินเก่งเป็นเรื่องที่ดี แต่หากขาดการออกกำลังกาย ร่างกายไม่ได้เผาผลาญพลังงานที่กินเข้าไป ก็มีส่วนทำให้ลูกอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ได้มากเช่นกัน

2. พ่อแม่อ้วน มีโอกาสที่ลูกจะอ้วนเหมือนกัน

fatkids_web_2

ความน่าสนใจของการวิจัยเรื่องโรคอ้วนในเด็กของ Dr. Bernard Fuemmeler นักวิจัยโรคมะเร็งในมหาวิทยาลัย Virginia Commonwealth และทีมวิจัย ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคอ้วนในเด็กคือ คุณพ่อหรือคุณแม่เป็นคนอ้วน

งานวิจัยระบุว่า เด็กที่มีพ่อแม่อ้วนทั้งสองคน มีโอกาสอ้วนมากกว่าเด็กคนอื่นมากถึง 10-12 เท่า โดยเฉพาะในช่วงวัยอนุบาลอายุ 3-5 ปี โอกาสที่จะมีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเพิ่มมากขึ้นกว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยมีความเป็นไปได้ว่า พฤติกรรมการกินของพ่อแม่ ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของลูกนั่นเอง

3. ลูกอ้วน ไม่ป่วยง่าย ไม่ใช่เรื่องจริง

fatkids_web_3 (1)

#เสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อชนิดเรื้อรังในเด็ก (NCDs) โรคอ้วนในเด็กส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในวัยเด็ก เรื่อยไปจนถึงวัยรุ่น น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกินเกณฑ์ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อชนิดเรื้อรัง (NCDs) ทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง รวมถึงโรคมะเร็งอื่นๆ

#อาการปวดเข่าและหลังในเด็ก นอกจากนี้ยังพบว่า โรคอ้วนในเด็กมักจะทำให้เด็กปวดหลัง สะโพก เข่า เพราะเกิดแรงกดจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

#เสี่ยงขาดสารอาหาร เด็กที่มีภาวะอ้วน มักเกิดจากการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน จากการเลือกกิน กินแต่อาหารที่ชอบและไม่มีประโยชน์ ทำให้เกิดการขาดวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะเส้นใยอาหาร (จากการไม่กินผัก) สังกะสี และธาตุเหล็ก ทำให้เกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก ส่งผลต่อการเรียนรู้และสติปัญญาของเด็กได้

#เสี่ยงภาวะซึมเศร้า ที่สำคัญโรคอ้วนในเด็ก ยังส่งผลต่อจิตใจ ทำให้ลูกขาดความมั่นใจในตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกบูลลี่และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าในอนาคต

4. ไม่ต้องอ้วนจ้ำม้ำ แต่รักษาน้ำหนักตามเกณฑ์ได้จะดีกว่า

fatkids_web_4

ทางสายกลางของการเลี้ยงลูก คือ การให้ลูกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่  ค่อยๆ ให้อาหารลูกทีละน้อย แต่ถ้าสังเกตว่าลูกยังไม่อิ่มก็สามารถเพิ่มปริมาณอาหารให้ลูกได้ จะดีกว่าการเตรียมอาหารให้ลูกเยอะๆ แล้วบังคับให้กินให้หมด หลีกเลี่ยงการใช้จานขนาดใหญ่ของผู้ใหญ่กับเด็กเล็ก เพราะจะทำให้ลูกกินอาหารมากเกินไป หลีกเลี่ยงขนมของกินที่ให้พลังงานสูงและไม่มีประโยชน์ในเชิงโภชนาการ และกระตุ้นให้ลูกกินผักและผลไม้หลากสีในมื้ออาหารด้วยนะคะ

นอกจากนี้งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าเด็กที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติมักจะแข็งแรง มีสุขภาพดี พร้อมเรียนรู้และมีความมั่นใจในตัวเอง ทำให้ไม่ค่อยถูกรังแก และลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวต่อไป

อ้างอิง
mayoclinic
nytimes
ncbi.nlm.nih.gov
เลี้ยงลูกตามใจหมอ

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST