READING

5 แนวทางอยู่กับลูกในวันที่พ่อแม่ต้องทำงานที่บ้าน ฉ...

5 แนวทางอยู่กับลูกในวันที่พ่อแม่ต้องทำงานที่บ้าน ฉบับจับต้องได้ ทำได้จริง จากคนทำงานด้านเด็ก (3)

ในช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการออกไปทำงานนอกบ้าน มาเป็นการนั่งทำงานอยู่ที่บ้านแทน แถมยังกินเวลายาวนานกว่าสองสัปดาห์ (หรืออาจจะมากกว่านั้น)

 ขณะที่เด็กเอง ก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเช่นกัน เด็กหลายคนที่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงโรงเรียนเปิดเทอม ก็ต้องปรับรูปแบบมาเป็นการเรียนออนไลน์​ ส่วนเด็กที่โรงเรียนปิดเทอมก็จะว่าง ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านก็ไม่ได้ ไหนจะเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ที่ต้องการการเล่นเป็นหลัก แม้จะมีพี่เลี้ยง หรือปู่ย่าตายาย แต่เมื่อเห็นพ่อแม่อยู่ที่บ้านด้วย ก็อดจะเรียกร้อง ชวนคนที่เขารักที่สุดมาเล่นด้วยกันไม่ได้ (แต่พ่อแม่ก็ต้องทำงานไงลูก!?!)

M.O.M จึงไปขอข้อแนะนำและความคิดเห็น จากคุณครู นักจิตวิทยา และคนที่ทำงานด้านเด็ก เชี่ยวชาญด้านการเล่น การจัดกิจกรรม และเข้าใจความต้องการของเด็กๆ เป็นอย่างดี เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปปรับใช้ในช่วงเวลาที่เราต่างก็ยากลำบากกันทุกคนแบบนี้

“ปล่อยให้เด็กๆ เบื่อบ้างก็ได้ แล้วเขาจะคิดได้เอง
ว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง”

ครูใบปอ—อ้อมขวัญ เวชยชัย

ผู้ก่อตั้ง CREAM Bangkok

workfromhome3_web_1

Q: แนวทางสร้างกิจกรรมง่ายๆ สำหรับพ่อแม่และคนที่อยู่บ้านทำร่วมกับเด็กๆ ช่วงที่ออกนอกบ้านไปไหนไม่ได้เลย

ส่วนตัวเชื่อว่า เด็กๆ ยังคงต้องรักษาวิถีชีวิตหรือกิจวัตรประจำวันเอาไว้ให้เหมือนเดิม และถ้ายังไม่เคยมีการจัดระเบียบการใช้เวลาในชีวิต เวลานี้เป็นโอกาสดีที่จะจัดระเบียบใหม่ไปด้วยกัน มันจะช่วยให้เขาผ่านการเปลี่ยนแปลงไปด้วยความรู้สึกมั่นคงในหัวใจ และจะช่วยให้พ่อแม่ ไม่ต้องคอยลงรายละเอียดกับการใช้เวลาในชีวิตลูกอยู่เสมอ ไม่ต้องคอยกระตุ้นเตือน อาบน้ำได้แล้ว กินข้าวได้แล้ว ดื่มนมได้แล้ว นอนได้แล้ว ถ้าเด็กๆ จัดการเวลาในชีวิตของตัวเองได้ดี เราก็จะมีเวลาทำงานของเราได้เต็มที่มากขึ้น

แนวทางทำกิจกรรม เราว่ามี resource ให้เลือกเยอะแยะเต็มไปหมดนะ อย่างในโลกออนไลน์ pinterest ก็ดี หรือตาม facebook ที่เขาแชร์กันก็ดี เราก็หาดูเป็นไอเดียที่เหมาะกับบ้านเราหรือลูกเราน่าจะชอบได้ แต่อย่าลืมสองอย่างที่สำคัญ อย่างแรกคือให้เด็กได้รู้จักเลือกเองบ้าง ให้เขาได้เป็นเจ้าของเวลาในชีวิตตัวเอง ให้โอกาสเด็กได้ตัดสินใจว่าอยากจะใช้เวลายังไง หรือมีอะไรที่อยากจะทำบ้าง ต้องเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เป็น ‘เจ้าโปรเจ็กต์’ เป็นคนที่จะไม่ปล่อยตัวเองให้เบื่อเหงาจนเฉาไป แต่มีพลังที่อยากทำอะไรด้วยตัวเองอยู่เสมอ อยากสำรวจ อยากทดลองอะไรอยู่ตลอดเวลา อยากลงมือสร้างสรรค์อะไรอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี่ก็ทำผ่านการเล่นนี่เอง

จริงๆ เราปล่อยให้เด็กเบื่อบ้างก็ได้ ไม่ต้องคอยหาอะไรให้เขาทำตลอด แล้วเขาก็จะคิดได้ว่า ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เด็กๆ ไม่อับจนหนทางหรอก เขาหาทางไปได้ เดี๋ยวก็จะมีไอเดีย มีโปรเจ็กต์ (การเล่น) สนุกๆ และท้าทายตัวเองได้ แล้วเขาก็สามารถง่วนอยู่กับอะไรสักอย่างตรงหน้าได้ โดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอยเอ็นเตอร์เทน หรือคอยป้อนสิ่งที่น่าสนใจให้ตลอดเวลา

แต่ถ้าลูกยังไม่คุ้นเคยกับอะไรแบบนี้ นี่เป็นโอกาสดีอีกแล้วที่จะเปลี่ยนข้อจำกัดให้กลายเป็นโอกาสในการมองเห็นความมหัศจรรย์ในตัวเด็กๆ เลย

อีกอย่างคือ สภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ มันต้องเอื้อต่อการดูแลจัดการตนเอง ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้ จัดพื้นที่ ที่สร้างโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กๆ และให้เด็กๆ ดูแลตัวเองได้ด้วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศ การจัดระเบียบพื้นที่ เช่น เด็กๆ รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ถ้าอยากได้อันนี้อันนั้นต้องหยิบจากตรงไหน ต้องเก็บตรงไหน มีข้าวของต่างๆ มากมายจัดเตรียมไว้ให้เลือกใช้ มีของประหลาดมหัศจรรย์ที่เชิญชวนให้เด็กๆ อยากสำรวจ ค้นหา ทดลอง ลงมือทำอะไรด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราเชื่อว่าการจัดพื้นที่ในบ้านแบบนี้ช่วยทุกคนได้นะ อยากชวนให้ทุกบ้านมีมุมเขียนเล็กๆ หรือมุม makers’ space สำหรับเก็บอุปกรณ์เครื่องเขียน หรืออย่างข้าวของรีไซเคิล สำหรับให้เด็กๆ ได้หยิบมาใช้ มาวาดเขียน มาประดิษฐ์เป็นอะไรต่ออะไร เพื่อรับใช้ความคิดและจินตนาการของเขา ซึ่งเราว่ามันสำคัญและดีกับหัวใจของเด็กๆ มากๆ เลย

workfromhome3_web_2

Q: พ่อแม่อาจจะเล่นกับลูกตลอดเวลาไม่ได้ เพราะว่ามีงานต้องทำ มีประชุมต้องเข้า เราควรทำอย่างไรดี ให้สามารถบาลานซ์ระหว่างงานกับลูกได้ (โดยไม่รู้สึกผิดกับทั้งสองทาง)

เด็กๆ ต้องเรียนรู้ว่า นี่คือสถานการณ์ไม่ปกติ มันคือ work from home แม่อยู่ที่บ้านก็จริง แต่ก็ต้องทำงานเหมือนอยู่ที่ทำงาน ถ้ามีประชุมก็บอกตรงๆ ว่า แม่ต้องประชุมนะ แต่นั่งเล่นอยู่ใกล้ๆ กันนะ และให้เขารู้ว่า ถึงนี่จะเป็นเวลาทำงานของแม่ แต่ถ้าลูกต้องการอะไร สามารถเรียกหรือถามเราได้เสมอ แต่อย่างที่บอกไป มันก็เชื่อมโยงกับที่พูดไปแล้วว่า เด็กๆ ควรมีโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์ในการดูแลจัดการตัวเอง เป็นเจ้าของเวลาของตัวเอง เพราะมันจะช่วยได้มาก

จริงๆ แล้วทำงานที่ไหนก็คือทำงาน เพียงแต่ทำที่บ้านมันยืดหยุ่นได้มากกว่า เราเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการเวลาของตัวเอง มันเป็นศิลปะเหมือนกันนะ ทำงานที่บ้านกับลูกมันก็มีข้อดีอยู่ คือมันทำให้เราไม่พลาดช่วงเวลามหัศจรรย์ อย่างสมมติเรานั่งทำงานอยู่แต่ว่าหันไปเห็นลูกเพิ่งค้นพบอะไรบางอย่างที่ตื่นเต้นและภูมิใจ เราก็ไปร่วมตื่นเต้นและสนุกไปกับช่วงเวลานั้นกับลูกได้ หรือเราได้นั่งทำงานไปและเฝ้าสังเกตลูก เขาชอบเล่นอะไรยังไง เป็นโอกาสดีสุดๆ

workfromhome3_web_3

Q: หลายบ้านจะไม่เคยให้ลูกดูหรือเล่นหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์มาก่อน แต่เด็กก็จะสนใจตอนที่พ่อแม่วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือหลายโรงเรียนก็ให้เด็กเรียนออนไลน์ มีการส่งกิจกรรมมาให้ทำที่บ้าน ตรงนี้พ่อแม่จะสามารถรู้ได้อย่างไรว่า ให้ลูกใช้หน้าจอเท่าไหร่ถึงจะพอดี ไม่ให้กลายเป็นเด็กๆ หันมาติดหน้าจอในช่วงเวลาแบบนี้ 

ควรมีวินัยในการใช้ แล้วก็ต้องหาจุดที่พอดีให้ได้ ทั้งในเรื่องของระยะเวลาและรูปแบบหรือวิธีใช้ แต่สิ่งที่เราพอทำได้ คือต้องพยายามทำลายข้อจำกัดของการใช้หน้าจอกับเด็กๆ อย่างเช่น พยายามสร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น มีการโต้ตอบ มีการซักถาม มีการให้ฟีดแบ็กกลับไปแบบที่มันมีความหมายจริงๆ มากกว่าแค่ฟีดแบ็กแบบกดแล้วมีเสียง ติ๊ง อะไรแบบนี้ ถ้านั่งอยู่ด้วยกันกับลูกได้ ก็คอยชวนคุยชวนคิดไปด้วยกัน หรือสำหรับคนในจอ ก็ต้องทำให้ตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตให้ได้มากที่สุด ทำเสมือนว่าเราอยู่ด้วยกันตรงนั้นกับเด็กๆ อีกฟากหนึ่งของจอให้ได้มากที่สุด

สิ่งหนึ่งที่หน้าจอให้ไม่ได้คือฟีดแบ็กแบบมนุษย์ที่มันดีกว่ามาก เพราะมันคาดเดาไม่ได้ และมันเฉพาะเจาะจงสำหรับเด็กคนนั้น ณ เวลานั้นด้วย


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST