ถ้าลูกมีไข้ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ลูกจะยังวิ่งเล่นและกินข้าวได้ตามปกติ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรีบให้ยาลดไข้กับลูกทันที เพียงแค่รอดูอาการต่อไปสักระยะ ถ้าอาการลูกแย่ลง เช่น มีไข้สูงขึ้น ซึม ไม่มีเรี่ยวแรง กินอาหารไม่ได้ ไม่ร่าเริงแจ่มใสเหมือนปกติ เวลานั้นต่างหากที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ยาและพาลูกไปพบแพทย์
การใช้ยาโดยเฉพาะยาที่มีส่วนประกอบของพาราเซตามอล (Paracetamol) ที่มากเกินไป อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคหอบหืด ทำลายตับ ไต และหัวใจได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้เด็กๆ ได้รับยาในปริมาณที่มากเกินไป
เมื่อลูกเริ่มมีไข้ต่ำ (37.5-38 องศาเซลเซียส) สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนรีบทำก็คือป้อนยาลดไข้ แต่อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์อลาสเทียร์ ซัตคลิฟฟ์ (Professor Alastair Sutcliffe)—ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) ได้ออกมาเตือนผ่านการให้สัมภาษณ์กับ Sunday Times ว่าพ่อแม่หลายคนมักให้ลูกกินยาพาราเซตามอลมากเกินไป
คำแนะนำในการใช้ยาลดไข้
สถาบันแห่งชาติด้านความเป็นเลิศทางคลินิก (NICE: National Institute for Clinical Excellence) ให้คำแนะนำว่าไม่ควรให้เด็กได้รับยาลดไข้ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งเป็นยาลดไข้สูง หรือพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาลดไข้ปกติ พร้อมกันหรือสลับกันไปมา ควรเลือกให้อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ากินยาชนิดไหนแล้วไข้ไม่ลดค่อยเปลี่ยนชนิดยา โดยไม่สลับกลับมากินตัวเดิมอีก
เมื่อลูกเป็นไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร
1. เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น และให้ลูกนอนพัก

2. ใช้ปรอทวัดอุณหภูมิร่างกาย ถ้าสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
หรือสัมผัสร่างกายแล้วยังร้อนจัด ควรเช็ดตัวซ้ำอีก

3. ถ้าไข้ขึ้นสูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ค่อยให้ลูกกินยาลดไข้

4. พยายามให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อชดเชยการเสียน้ำจากไข้สูง และดื่มน้ำระหว่างเช็ดตัวลดไข้

5. ให้กินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพราะเด็กที่เป็นไข้มักจะเบื่ออาหาร

6. ทำความสะอาดปากและฟัน ป้องกันแผลและการติดเชื้อในปาก
และยังช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ลูกได้อีก

7. ถ้าลูกมีอาการชัก ให้จับนอนตะแคงหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้เสมหะ น้ำมูก และน้ำลายไหลออกมาได้สะดวก ห้ามป้อนยาเด็กในขณะที่ยังมีอาการชักเด็ดขาด หลังจากที่ลูกหยุดชักแล้ว ควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจความผิดปกติอื่นๆ ที่ตามมา

วิธีเช็ดตัวลดไข้
การเช็ดตัวลดไข้คือการนำความร้อนออกจากร่างกาย โดยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นให้เปียกหมาดๆ แล้วเช็ดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ร่วมกับการประคบตามจุดที่เป็นจุดรวมของหลอดเลือดใหญ่ใต้ผิวหนัง เช่น หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับ เพื่อช่วยให้ถ่ายเทความร้อนจากหลอดเลือดมาสู่ผิวหนังและมาสู่ผ้าเปียก ตามลำดับ
ส่วนอุปกรณ์และวิธีการเช็ดตัวลดไข้ที่ถูกต้อง มีดังนี้
• อ่างน้ำ 1 ใบ ใส่น้ำอุ่นประมาณ 2 ลิตร (น้ำควรจะอุ่นกว่าอุณหภูมิห้อง แต่เย็นกว่าความร้อนร่างกายเด็ก)
• ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก 3 ผืน
• ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน
• ปรอทวัดไข้
วิธีเช็ดตัว
1. ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กผืนแรกชุบน้ำ บิดให้หมาด เช็ดบริเวณหน้าและพักผ้าไว้บริเวณซอกคอและหลังหู
2. ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กผืนที่ 2 และ 3 เช็ดบริเวณแขน โดยเริ่มจากปลายแขน เช็ดเข้าหาลำตัวและพักผ้าไว้บริเวณรักแร้ทั้งสองข้าง
3. เปลี่ยนผ้าผืนแรกที่พักไว้บริเวณซอกคอ ชุบน้ำใหม่และบิดหมาดอีกครั้ง เช็ดบริเวณหน้าผากและศีรษะ ก่อนจะพักผ้าไว้บริเวณหน้าผาก
4. เปลี่ยนผ้าผืนที่ 2 และ 3 บริเวณรักแร้ ชุบน้ำใหม่และบิดหมาดอีกครั้ง เช็ดบริเวณลำตัว พักผ้าไว้บริเวณหัวใจ และขาหนีบ
5. เปลี่ยนผ้าบริเวณหน้าผากและขาหนีบ ชุบน้ำใหม่และบิดหมาดอีกครั้ง เช็ดขา โดยเริ่มจากปลายเท้าขึ้นมา และพักผ้าไว้บริเวณข้อเข่าและขาหนีบทั้งสองข้าง
6. หลังจากนั้นให้พลิกตะแคงตัวเด็ก ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด เช็ดตัวด้านหลังตั้งแต่คอจนถึงก้นกบ
การเช็ดตัวสามารถทำซ้ำได้หลายครั้ง หากน้ำที่เตรียมไว้เริ่มเย็นลง ให้เปลี่ยนน้ำอุ่นใหม่ เช็ดเหมือนเดิมจนครบ 15-20 นาที จนรู้สึกว่าอุณหภูมิร่างกายของลูกเย็นลง ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่เช็ดตัวลูกให้แห้งและสวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลังเช็ดตัวเสร็จ 30 นาที วัดอุณหภูมิซ้ำด้วยปรอทวัดไข้ ถ้าไข้กลับขึ้นสูง ค่อยเช็ดตัวซ้ำอีกครั้ง
NO COMMENT