READING

เพราะการหยุดเรียนไม่ได้หมายถึงหยุดเรียนรู้ ทำความเ...

เพราะการหยุดเรียนไม่ได้หมายถึงหยุดเรียนรู้ ทำความเข้าใจข้อเสนอ ‘หยุดเรียนหนึ่งปี’ กับอาจารย์สุมิตร สุวรรณ

หยุดเรียนหนึ่งปี

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีข้อเสนอที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ คือการที่นักวิชาการด้านการศึกษาออกมาเสนอให้ ‘หยุดเรียนหนึ่งปี’ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่สองของเด็กไทยตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ความเคร่งเครียดนี้ไม่ได้ส่งผลต่อแค่ตัวเด็ก แต่ยังหมายรวมถึงคุณครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ปู่ย่าตายาย และใครก็ตามที่อยู่ ‘ หน้างาน ’ และกำลังเผชิญปัญหารายวัน ที่ต้องแบกภาระงานเดิม เพิ่มเติมคือการทำงานรูปแบบใหม่ และดูเหมือนจะเป็นภาระและปัญหาที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร

เมื่อข้อเสนอนี้ถูกเผยแพร่ ก็ได้รับทั้งเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลายคนมองว่าการหยุดเรียนนั้นไม่ช่วยแก้ปัญหา บางคนบอกว่ามันเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทบทวนและสังคายนาระบบการศึกษากันใหม่ มีวงที่พูดคุยเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง ทุกคนมีความเห็นกับเรื่องนี้ เพราะการศึกษามันใกล้ตัวเรามาก อย่างน้อยที่สุด ถึงคุณไม่มีลูก ไม่ใช่ครู แต่เราหลายคนก็เป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาไทยด้วยกันมาบ้าง

M.O.M จึงไปชวน รองศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สุมิตร สุวรรณ จากคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน หนึ่งในผู้เสนอความคิดเห็นให้เด็กๆ ได้ หยุดเรียนหนึ่งปี เพื่อทำความเข้าใจว่า แท้จริงแล้วการ หยุดเรียนหนึ่งปี นั้นมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่

ที่มาของข้อเสนอให้หยุดเรียนหนึ่งปี

ต้องบอกว่าผมพูดถึงปัญหาของการเรียนการสอนออนไลน์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ว่าเรากำลังเจอกับอุปสรรคอะไร และรัฐบาลควรจะช่วยเหลืออะไร เช่น เรื่องใหญ่คือคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เด็กในชนบทหรือแม้แต่เด็กยากจนในเมืองเขาไม่มีทั้งสองอย่างนี้ พอไม่มีสองอย่างนี้เขาก็เรียนไม่ได้ หรืออีกปัญหาคือเด็กเล็ก ถ้าไม่มีผู้ปกครองนั่งด้วยก็เรียนไม่ได้ เพราะวัยของเขายังต้องอยู่กับคนที่คอยดูแล อันนี้คือปัญหาที่เราพูดคุยกัน

ตอนนี้คุณครูเองก็ต้องแก้ปัญหาเท่าที่พอจะแก้กันได้ไปก่อน ทุกคนพยายามทำเท่าที่ทำได้ เพื่อให้เราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ชั่วคราว แต่ทีนี้พอสถานการณ์การแพร่ระบาดมันเริ่มรุนแรงขึ้น ตัวเลขผู้เชื้อใหม่รายวันขึ้นหลักสองหมื่น โดยที่ตัวเลขในความเป็นจริงอาจจะสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ ในส่วนของคนหน้างาน ครู อาจารย์ คนที่ทำงานการศึกษา ที่ได้เจอเด็ก ผู้ปกครอง และครู เรารู้ว่าปัญหาคืออะไร ถ้าโรคระบาดยังรุนแรงไปเรื่อยๆ จนเราเครียดทุกข์ใจกันไปทุกฝ่าย เราจะหยุดเรียนดีไหม หยุดคิดและวางแผนเพื่อที่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เราค่อยกลับไปเรียนต่อ จากนี้จะเอาอย่างไรกันต่อไป น่าจะต้องเริ่มคิดกันได้ตั้งแต่ตอนนี้แล้ว

ซึ่งพอสื่อนำไปพาดหัวและตัดเหลือแค่คำว่า ‘หยุดเรียนหนึ่งปี’ มันเลยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งผมก็ยอมรับนะเพราะมันเป็นวิถีประชาธิปไตย แต่ก็คิดด้วยว่า ที่คนสนใจเรื่องนี้กันมาก เพราะคนเองเริ่มมีความรู้สึกร่วมกับปัญหาเรื่องนี้

หรือมันเหมือนข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้

ผมว่าเราคิดได้นะ เราวางแผนกันได้หลายแบบ เพื่อรับมือกับปัญหาที่เราคาดเดาไม่ได้ เมื่อถึงเวลามันเกิดขึ้นมาจริงๆ เราจะได้พร้อม ผมยกตัวอย่างเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ เราพูดเรื่องนี้กันมาเป็นปีที่สองนะครับ แล้วถามว่าตอนนี้เราพร้อมแล้วหรือยัง เอาแค่เรื่องอินเทอร์เน็ตก่อน เด็กยังต้องวิ่งไปเติมเงินยี่สิบบาทเพื่อมาเรียนออนไลน์อยู่เลย ผมว่ามันไม่ใช่นะ

ได้ข่าวว่าตอนนี้รัฐมีมาตรการช่วยเรื่องอินเทอร์เน็ต มันทั่วถึงจริงไหม

รัฐกำลังให้สำรวจ ซึ่งปีที่แล้วก็ให้สำรวจแบบนี้ สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรมาเลย กลับมาปีนี้ก็ให้คุณครูก็สำรวจกันอีกแล้ว ผมก็ไม่เข้าใจว่าจะสำรวจอะไรกันนักหนา ในเมื่อจำนวนเด็กก็อยู่ในระบบฐานข้อมูลอยู่แล้ว

ผมชอบคำหนึ่งที่ท่านผู้ว่าสมุทรสาคร (นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี) พูด ท่านบอกว่า อย่าให้ระบบระเบียบขั้นตอนมันสำคัญกว่าชีวิตคน วัคซีนเป็นตัวอย่างหนึ่งของความล่าช้าของระบบราชการ และผู้ใหญ่ก็ไม่เคยลงมาเห็นปัญหาจริงๆ ยังเป็นเพียงการรับรายงานที่ส่งกันขึ้นไป การเข้าใจปัญหาสมัยนี้ยังไม่ต้องถึงกับลงที่หน้างานก็ได้นะครับ แค่ในโลกโซเชียลฯ ก็เห็นแล้วว่าคนคิดอย่างไร เรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ก็เป็นอีกเรื่องที่คนพูดถึงกันเยอะ ถ้าได้มาดูก็ต้องเห็น

drsumitr_quote_1

หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น รูปแบบการศึกษาควรเป็นอย่างไร

ถ้าสถานการณ์ยังรุนแรง เราต้องคิดเตรียมกันล่วงหน้าแล้ว ผมไม่เห็นด้วยที่เราจัดการเรียนการสอนแบบเคร่งเครียดอย่างที่ทำกันทุกวันนี้ การวัดประเมินผลแบบเดิมมันเครียดเกินไป แต่ถ้าเราปรับให้การเรียนออนไลน์มันผ่อนคลายขึ้นได้ เนื้อหาบางวิชาเราสามารถให้เด็กเชื่อมโยงกับชีวิต และไปฝึกเองที่บ้านได้ เช่น พลศึกษา การงานอาชีพ ให้ที่บ้านเขาสอนก็ได้ แล้วให้เด็กเรียนวิชาการเฉพาะที่ครอบครัวสอนไม่ได้ เช่น คณิต วิทย์ อังกฤษ ลดเนื้อหาลงมา ไม่ต้องเข้มข้นเหมือนเรียนในห้อง การวัดประเมินผลมันต้องหาวิธีการวัดใหม่ ไม่ใช่แค่การสอบ

 

ผมปรับตัวตั้งแต่ปีแรกเลยนะครับ ผมไม่มีการให้ข้อสอบเลย  คือปกติการสอบปรนัย มันก็มีแค่ตอบถูกตอบผิด คนตอบผิดก็ไม่มีโอกาสได้ A เลย แต่พอเป็นข่วงนี้ผมเลยเปลี่ยนมาใช้วิธีทำงานส่ง ซึ่งมันก็มีปัญหานะ เพราะว่างานมันก็จะเยอะอย่างที่เด็กๆ บ่นกันจริง อาจารย์ก็ต้องฟังเสียงเขาแล้วเอามาปรับ ของผมเองจากเดิมมีใบงานให้เขียนตอบทุกสัปดาห์ เด็กก็สะท้อนมาว่ามันเยอะเกินไป ปีนี้ผมเลยปรับใหม่เหลือแค่ 8 ชิ้น

ด้วยวิธีการแบบนี้ เด็กได้ A เยอะกว่าการสอบแบบเดิมอีกนะ เพราะด้วยความที่มันเป็นข้อเขียน (รายวิชามนุษย์กับสังคม) เด็กเขาก็พยายามคิดพยายามเขียน ใส่ความคิดเห็นของเขาออกมา เราเห็นว่าเขาได้แสดงความเห็น เข้าใจประเด็น เราก็ให้ A แต่ถ้าเป็นข้อสอบปรนัย เขาตอบผิดเราก็ไม่รู้จะช่วยยังไง ผิดก็คือผิด

และเวลาเราเข้าสอนออนไลน์ ผมก็ไม่ได้เน้นการเรียนการสอนตลอดหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่จะเน้นการพูดคุยแลกเปลี่ยน ส่งวิดีโอคลิปให้ไปดูล่วงหน้า แล้วเอามาคุยกันในชั้นเรียน ผมทำวิจัยมา พบว่าเด็กปริญญาตรีมีความอดทนในการนั่งเรียนออนไลน์อยู่ที่ประมาณสามสิบนาที หลังจากนั้นเขาก็ไม่ฟังแล้ว ปิดจอบ้าง ดินไปไหนมาไหนบ้าง ยังไม่ต้องพูดถึงเด็กวัยเล็กกว่านี้เลยใช่ไหมครับ

drsumitr_quote_2

มันจึงต้องเปลี่ยนมากกว่าแค่ยกห้องเรียนมาไว้ในออนไลน์

เราต้องปรับการเรียนการสอนทั้งหมด ปรับเนื้อหา ปรับวิธีการวัดประเมินผลใหม่ เด็กที่มีบ้านมีความพร้อมนั้นมีนะครับ แต่ที่เยอะกว่าคือเด็กไม่พร้อม ลูกศิษย์ผมสอนระดับประถมบอกว่า ห้องเขามีเด็กสามสิบคน แต่มีเด็กเข้าเรียนออนไลน์แปดคนเท่านั้นนะครับ เด็กที่ไม่เข้าเรียนอาจจะไม่มีความพร้อม ไม่มีอินเทอร์เน็ต อาจจะไม่อยากเรียนหรืออะไรก็แล้วแต่ เลยทำให้เขาไม่สามารถเข้าเรียนได้

ทีนี้บางคนอาจจะบอกต่อว่า ถ้าเด็กเข้าเรียนออนไลน์แบบเรียลไทม์เพื่อโต้ตอบกันไม่ได้ ก็มาเรียนผ่าน DLTV สิ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะได้อะไรจากการนั่งฟังอยู่ฝ่ายเดียวหรือเปล่า มันไม่มีปฏิสัมพันธ์ของคนเลย อาจจะคิดแบบปลอบใจไปว่า ในสถานการณ์แบบนี้ ได้เรียนรู้นิดหน่อยจากทีวีก็ยังดี ไม่เป็นไร เอาแบบนั้นก็ได้

 

อันต่อมา ผมคิดว่าคุณครูจะต้องเหนื่อยมากขึ้น คือคุณครูจะต้องไปดูเด็กที่บ้านบ้าง อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง สมมติเส้นทางนี้มีสามคน ก็จัดเส้นทางให้ไปได้ในหนึ่งวัน ซึ่งครูจะต้องเหนื่อยและก็เป็นภาระ รัฐต้องเข้ามาช่วยดูแล เพราะปกติครูสอนแค่ในห้อง แต่นี่เขาต้องเดินทาง รัฐก็ต้องเข้ามาอุดหนุนค่าเดินทางให้

 

ช่วงนี้ผมคิดว่าปัญหาใหญ่มันเกิดจากวัคซีน ก็ไปแก้เรื่องวัคซีนก่อน ถ้าคนฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้  80-90 เปอร์เซ็นต์ เราก็สบายใจได้ แต่ตอนนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น เรามองกันว่าสถานการณ์มันไม่น่าจะดีขึ้น ดังนั้นตอนนี้เราต้องมองไปที่ปี 65 แล้ว ผมไม่คิดถึงเทอมหน้าแล้วนะ เพราะผมคิดว่ามันมีแนวโน้มที่จะยังเรียนออนไลน์อยู่ คำถามคือแล้วจะมีปีที่สามไหม

ผมคิดว่าการที่เราหยุดเรียนในห้องเรียนออนไลน์ ไม่ได้หมายความว่าเราหยุดการเรียนรู้ การเรียนออนไลน์หรือการเรียนในห้องเรียน มันคือการเรียนแบบเป็นทางการ แต่การเรียนรู้ อย่างที่เรานั่งสัมภาษณ์กันอยู่นี่ก็เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง การที่อาจารย์เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยน สอบถามสารทุกข์สุขดิบให้เด็กได้ระบาย นี่ก็เป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตเขา ถ้าครูสามารถทำไหว เราก็เข้าไปติดตามได้ ให้หนังสือไป แล้วก็ติดตามว่าอ่านแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ให้การบ้านไป ก็ไถ่ถามว่าใครติดตรงไหน ตอนเย็นๆ หรือเสาร์อาทิตย์ เราก็เปิดออนไลน์เอาไว้ให้เด็กเข้ามาคุย สามสี่คนก็ยังดี นี่คือข้อดีของออนไลน์ ที่ไม่ว่าจะอยุ่ที่ไหนเราก็พูดคุยกันได้

ได้คุยกับเพื่อนอาจารย์ ในประเด็นที่ว่าจะหยุดหรือจะไปต่อ ข้อเสนอของผมคือ ไปต่อได้ แต่ต้องมีการฉีดวัคซีนให้มากพอสมควรก่อน สองคือต้องจัดหาคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต สามปรับเนื้อหาหลักสูตร ดูว่าอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็น สี่คือปรับการวัดประเมินผลใหม่ เราจะสอบหรือไม่สอบ ถ้าใจผมนะไม่อยากให้สอบ เรียนแล้วเลื่อนชั้นไปเลย

drsumitr_quote_3

เราเลื่อนชั้นกันโดยไม่สอบได้ด้วยหรือ

ในแบบเดิมมันก็มีมาตรฐานการเรียนรู้ตามที่กระทรวงเขากำหนดมาแต่เราก็ต้องกล้าคิดนอกกรอบ ผมถามชีวิตการทำงานของเราใช้เป็นชุดๆ ชั้นๆ แบบนั้นไหม อย่างวิชาคณิตศาสตร์ มันก็มีลำดับความยากง่ายของมัน ไปจนถึงขั้นแคลคูลัส ถามว่าตอนนี้เราเรียนมาตั้งเยอะ เราใช้อะไร บวกลบคูณหาร ร้อยละ ด้วยงานของผม ผมใช้แค่นั้น

เอาอย่างนี้ก่อน กับเด็กเล็กๆ ความจำเป็นมันคืออะไร อนุบาลกับประถม ผมคิดว่าเขาไม่สามารถที่จะอยู่กับโลกออนไลน์ได้มาก แต่ถ้าเป็นเด็กโตเขาไม่มีปัญหา ถ้าตัดเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตออกไป ผมสอนระดับปริญญาโทและเอก เขาสามารถออนไลน์ได้ คุยกันได้ตลอด มันขาดอย่างเดียวคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน สีหน้า แววตา ความรู้สึก อันนี้ขาด เขาขับรถไปเขาก็เรียนได้ แต่ถามว่าสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เขาเรียนไหม ก็ไม่ขนาดนั้น แต่มันก็แก้ปัญหาได้

เด็กเล็กๆ เขามานั่งดูเป็นเรื่องสนุกเหมือนดูทีวี ซักห้าถึงสิบนาทีแบบนั้นพอทำได้ แต่ที่เด็กเจอตอนนี้มันยากกว่านั้น ผมได้เห็นเคสหนึ่งจากเพื่อนอาจารย์ เด็กประถมหนึ่งได้โจทย์คณิตศาสตร์มาว่า 5 + _ = 10 มันค่อนข้างยากสำหรับเด็กป.1 ทั่วไป ถามว่าเด็กอ่านและเขียนได้แล้วหรือยัง เด็กที่เพิ่งขึ้นจากชั้นอนุบาลมาเนี่ย แล้วเมื่อมาเจอการเรียนออนไลน์และการบ้านแบบนี้อีก ให้ทำอย่างไร พ่อแม่ถ้าไม่มีเวลาสอนจะทำอย่างไร บางบ้านเป็นปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นคนอีกยุคหนึ่งเลย จะทำอย่างไร

เด็กเล็กๆ จึงควรเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ใช้ออนไลน์ต่อก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่เสนอไป เพื่อลดความเครียด และที่ต้องเพิ่มขึ้นมาคือ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ

 

ทักษะชีวิตเช่นอะไร เช่น กิจวัตรประจำวัน ตื่นตอนเช้ามาอาบน้ำแปรงฟัน ซักเสื้อผ้า ทำกับข้าวบ้างเล็กๆ น้อยๆ เด็กต้องเริ่มหัดทำ เขาจะได้เลี้ยงชีวิตเขาได้ พ่อแม่หรือใครๆ ก็สอนได้ เพราะมันเป็นทักษะประจำบ้าน ไปว่ายน้ำตามคลองก็เป็นทักษะชีวิต เป็นการออกกำลังกาย วิชาพละมันไม่ต้องมาเป็นการเล่นกีฬาแบบเป็นทางการก็ได้

ทักษะอาชีพ อย่างที่บ้านเดิมผม พ่อแม่ทำอาชีพเกษตร ตอนเด็กๆ ผมก็ไปช่วยท่าน ทุกวันนี้ยามว่างผมก็ทำเกษตร หลายคนสามารถทำเกษตรเป็นอาชีพได้ เด็กที่หน้าปากซอยบ้านผมเขาก็ช่วยพ่อแม่ขายของ เพราะไม่ได้ไปโรงเรียน นี่คือการเรียนรู้วิถีชีวิต ทักษะอาชีพ โดยที่ไม่ต้องสอน

หัวใจของเด็กเล็ก คือต้องให้เขา Play & Learn ให้เขาเล่นสนุกไป แต่ไม่ใช่ให้นั่งเรียนออนไลน์แบบนี้

drsumitr_quote_4

เหมือนว่าการศึกษาของเราไม่ค่อยมีพื้นที่ให้กับทักษะพวกนี้ มีแต่การเรียน

บ้านเราไปมุ่งเน้นกับการสร้างเด็กเข้าสายสามัญมากๆ แม้จะบอกว่ามีการส่งเสริมสายอาชีพ แต่มันไม่เคยมีแรงจูงใจให้ขับเคลื่อนไปทางนั้นได้จริง เมื่อเด็กไปเรียนแต่สายสามัญ ก็ผลิตบัณฑิตออกมาเยอะเกินจนตกงาน

ย้อนกลับมา ถ้าอย่างนั้นเราจะเรียนมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไร เรียนเพื่อให้ได้อะไรสักอย่าง แล้วไปประกอบอาชีพใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นเราพร้อมเมื่อไหร่ก็ค่อยกลับมาเรียนก็ได้ เพราะเขาเปิดต้อนรับตลอดอยู่แล้วตอนนี้มันไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว การเข้ามหาวิทยาลัยไม่มีจำกัดอายุ และมีทางเลือกวันเรียนที่หลากหลาย ราชภัฎเขาเริ่มนำร่องกันไปแล้ว โอกาสมันเยอะขึ้น เพราะเด็กเกิดน้อยลง การแข่งขันมันไม่สูงเหมือนแต่ก่อนแล้ว ยิ่งถ้าไม่ได้ติดค่านิยมเรื่องสถาบัน มีที่เรียนทุกคนอยู่แล้ว

แต่ด้วยค่านิยมแบบบ้านเรา มันเลยไปยัดเยียดการศึกษาให้กับเด็ก ถามว่าเขาชอบไหม มันมีคนที่ไม่ชอบ กลายเป็นเวลาสูญเปล่าอีก กลับมาถอยหลังตั้งสติไหม เขาอยากจะเรียนถึงขั้นนั้นไหม หรือให้วันนึงที่เราอยากจะเรียน เราก็ไปเรียนอะไรก็ได้เดี๋ยวมันก็ไปได้หมด ไม่เห็นจะต้องเร่งเรียนอะไรแบบนั้นเลย

drsumitr_quote_5

แต่สำหรับพ่อแม่ พอได้ยินคำว่า หยุดเรียน มันก็ที่จะกลัวไปต่างๆ นานาไม่ได้

เราต้องทำความเข้าใจว่าการหยุดเรียนอยู่บ้านไม่ใช่การหยุดเรียนรู้ ไม่ใช่ว่าจะไม่เขียนหนังสือเลย นอนอยู่เฉยๆ ไม่ใช่ แต่คือการหยุดเรียนวิชาการมากมายก่ายกองแบบปัจจุบัน แต่อาจจะมีสิบหรือสิบห้านาทีได้คุยกับคุณครู เรียนความรู้พื้นฐานพอให้หล่อเลี้ยงความรู้ ไม่ต้องสอบวัดผล แค่ให้ครูช่วยสังเกตว่าเขาทำได้ไหม เขาเข้าใจไหม ยิ่งกับเด็กวัยประถมมันไม่มีอะไรมากมาย อย่าไปเคร่งมาก สำหรับผมคืออ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น แบบนี้ก็โอเคแล้ว แล้วเดี๋ยวเขาไปต่อได้

แต่ถ้าเราไปทำให้เด็กเบื่อการเรียน ยัดเยียดวิชาการให้เขา เหมือนที่เราเห็นในคลิปผู้ปกครองสอนไปก็ตีเด็กไป เด็กก็ร้องไห้ มันไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ความกลัวไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เด็กไม่มีความสุข ทรมาน แต่ก็เข้าใจผู้ปกครองนะ เพราะเราหวังดีอยากให้ลูกอ่านออกเขียนได้ เราเคร่งเครียดกับผลของมันมากเกินไป เพราะหวังจะให้ลูกเลื่อนชั้นสูงๆ ขั้นไป เข้ามหาวิทยาลัยต่อไป เรียนเก่งๆ ได้เกรดดีๆ  

การศึกษามันเหมือนกับการปลูกต้นไม้ ไม่ใช่การยัดเยียดใส่ปุ๋ย เอาให้โตเร็วๆ ไว้ก่อน การตัดชำต้นมาปลูก แบบนั้นโตเร็วจริง แต่อาจไม่แข็งแรงเท่าการเพาะเมล็ดพันธุ์ ให้เขาค่อยๆ โต ค่อยๆ อยากรู้อยากเห็นตามพัฒนาการของเขาไป แต่ถ้าเร่งด้วยการกวดวิชา เรียนพิเศษ มันก็เหมือนเอากิ่งชำมาปลูก มันโตเร็วจริง แต่ลองออกข้อสอบที่ต่างจากที่เขารู้มา เขาทำไม่ถูกหรอกครับ เพราะว่าติวเตอร์สอนเทคนิคให้หาคำตอบได้เร็วที่สุด เช่น วิชาคณิตศาสตร์ เราเรียนเพื่อฝึกการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล แต่เวลาติวเตอร์สอน จะไปเน้นการหาคำตอบให้เร็วที่สุด ให้เอาคำตอบไปแทนค่าในสมการ มันอาจจะไม่ได้กระบวนการคิดเลย

เราต้องคิดให้รอบด้าน มีคนที่พร้อมจะไปต่อ แต่เราก็ทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้ เราจะอยู่กันแบบใครมือยาวสาวได้สาวเอาไม่ได้ ผมไม่ค่อยเห็นด้วย ทีนี้จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาฯ ที่ต้องศึกษา ต้องพูดคุย และเตรียมการเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ปรับพูดคุยกันเพื่อให้เราเข้าใจกันมากขึ้น

มองว่าในอนาคต รูปแบบของโรงเรียนจะเปลี่ยนไปไหม และบทบาทของครูควรเป็นอย่างไร

ตอนนี้ที่คณะกำลังทำเรื่องรูปแบบการเรียนการสอนในอนาคต เพื่อนำเสนอแนวทางกันอยู่ ซึ่งถ้าถามผมในฐานะผู้ตอบงานวิจัย ผมคิดว่าในอนาคตอันใกล้ การศึกษาจะเป็นแบบผสมผสาน คือมีทั้งในชั้นเรียนและออนไลน์ และไปดูให้เหมาะกับเด็กในช่วงวัยที่แตกต่างกัน เช่นเด็กเล็กเรียนในห้องให้เยอะ ออนไลน์น้อย และเด็กโตขึ้นจะสวนทางกัน

เช่น เด็กเล็กเรียนในห้อง 90 เปอร์เซ็นต์ อาจจะมีการออนไลน์เอาไว้ไต่ถามเวลาเด็กไม่ได้เข้าเรียน หรือวันเสาร์อาทิตย์ให้เด็กได้แลกเปลี่ยนคุยกับครู ใช้มันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ ถ้าเป็นเด็กโต ปริญญาตรีชั้นปลายๆ หรือปริญญาโทและเอก บางวิชาที่เป็นวิชาบรรยาย มันเรียนออนไลน์ได้ ผมยังคิดอยู่ว่าจะเปิดหลักสูตรปริญญาโทแบบผสมผสานแบบนี้ ที่เรียนออนไลน์ครึ่งหนึ่ง และเข้ามาพบกันบ้างที่มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน มันช่วยแก้จุดดีจุดด้อยของบางระบบไป

ในตอนนี้ ครูเองก็เริ่มทำความคุ้นเคยกับระบบและการใช้เครื่องมือเทคโนโลยี เด็กรุ่นใหม่เขาค่อนข้างคุ้นเคยก็จะไม่มีปัญหา แต่สำหรับคนวัยผม ปีแรกเราก็ติดขัดและเครียดพอสมควร

บางคนบอกผมจบปริญญาเอกต้องรู้ทุกเรื่อง แต่จริงๆ แล้วยิ่งเรียนยิ่งฉลาดลึกโง่กว้าง (หัวเราะ) อย่างเทคโนโลยีพวกนี้ผมก็ไม่ถนัด แต่ผมไม่อายที่จะถามเด็ก อย่างเฟซบุ๊กผมก็ให้ลูกศิษย์ช่วยสอนผม ผมก็เรียนรู้จนใช้เป็น กลับไปที่เราตอนสอนออนไลน์ เราก็พยายาม ให้เจ้าหน้าที่มาสอน ทั้งเรียนออนไลน์และไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ไม่ค่อยมีคนเรียน เข้ามาก็ไม่ค่อยฟัง (หัวเราะ) ทำหลายช่องทางเพื่อให้เด็กได้เรียน

พอเทอมสามก็ปรับอีก เอาวิดีโอให้ดูก่อนล่วงหน้า ดูก็ดู ไม่ดูก็ไม่เป็นไร พอถึงเวลาก็เข้ามาเจอกัน ใช้โปรแกรม Web-X มาแลกเปลี่ยนกันกับประเด็นเรื่องนี้ไหม บวกกับงานวิจัยเรื่องเวลาเฉลี่ยที่เด็กจะมีสมาธิคือสามสิบนาที ผมก็ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องสอนให้อยู่ในเวลาเท่านี้ ยกเว้นว่าเขามีเรื่องที่จะคุยกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาคุยกันชั่วโมงสี่สิบ เพราะมันเป็นเรื่องที่เขาสนใจ เราก็รับฟังเขาได้ทุกเรื่อง

 คำถามที่ใหญ่มากกว่าแค่เรื่องเทคโนโลยีคือ คุณธรรม เราจะสอนกันอย่างไร สมเด็จพระเทพฯ ท่านเคยบอกว่า “ไม่มีเทคโนโลยีอะไรแทนครูได้” เพราะเทคโนโลยีมันแค่อำนวยความสะดวกให้เราได้เรียนรู้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ดีขึ้น แต่เรื่องคุณธรรมนั้น วิธีสอนให้ดีที่สุดคือการ “อยู่ให้เห็น ทำให้เป็นตัวอย่าง” การที่เรามาเรียนในชั้นเรียน มันไม่ใช่แค่เรียนวิชาการ แต่เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เด็กกับเด็ก เด็กกับครู มันได้แลกเปลี่ยน พูดคุย เรียนรู้กัน ได้เห็นตัวอย่าง มองเห็นแววตาความรู้สึกกัน พวกนี้มันเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีไม่ได้ เนื้อหาในตำรา วันหนึ่งมันก็เรียนทันกันหมด แต่โอกาสที่เด็กเสียไปคือเรื่องคุณธรรม และทักษะสังคม

เราคงยังต้องอยู่ด้วยการพึ่งพาตัวเองกันไปอีกนาน ถ้าอย่างนั้น ครูและผู้ปกครองช่วยอะไรเด็กได้บ้าง

ครูต้องปรับวิธีการสอนให้เหมาะสมกับทั้งเด็กที่เรียนได้และเรียนไม่ได้ ถ้าเขาไม่ได้จะต้องทำอย่างไร ต้องไปดู ไปเยี่ยมที่บ้าน โทรศัพท์ไถ่ถาม ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ เนื้อหาตรงไหนที่ยากและรอได้ก็ตัดออกบ้าง

พ่อแม่ สำหรับคนที่ฐานะพร้อม เวลาพร้อม ก็ช่วยนั่งประกบเท่าที่เราจะช่วยดูได้ ถ้าทำไม่ได้ แต่พอจะมีสตางค์ ก็จ้าง หาคนมาช่วย จ้างคนมาสอนหนังสือที่บ้าน แต่กับคนที่ไม่พร้อม ยากจน ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ครูก็ต้องเข้ามาช่วย

แต่สิ่งที่พ่อแม่ทำได้แน่ๆ คือ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ อย่าโยนให้ครูทั้งหมด ฝึกลูกตัวเองให้มีระเบียบวินัย ดูแลชีวิตตัวเองได้ เป็นคนดี ซื่อสัตย์​ อันนี้ไม่ต้องหวังโรงเรียนสอน เพราะครูไม่ได้เจอทุกวันเหมือนพ่อแม่ ดังนั้นตรงนี้พ่อแม่ต้องทำ ต้องสอนวินัยขึ้นพื้นฐานได้

นอกจากนี้โรงเรียนและพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันเรื่องการวัดประเมินผล ผมยืนยันว่าเกรดไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ความรู้ต่างหากที่สำคัญกว่า เกรดเป็นแค่กุศโลบาย หลายคนไปติดกับเรื่องเกรด ต้องได้ A เท่านั้น เด็กก็ครียดไปหมด เราต้องทำความเข้าใจใหม่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาแบบนี้ ต้องคิดใหม่

ผู้บริหารเองก็ต้องตัดสินใจฉับพลันทันทีได้แล้ว เพราะนี่เข้าปีที่สองสู่ปีที่สามแล้ว อะไรที่เห็นว่าเป็นปัญหาก็ต้องกล้าตัดสินใจ อย่าบอกว่าไม่มีงบประมาณ ต้องมีครับ


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST