จำนวนเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จากการคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในเวลาไม่ถึงสิบปีในสหรัฐอเมริกา
จากงานวิจัยล่าสุด ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Pediatrics พบว่า จำนวนเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จากการคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในเวลาไม่ถึงสิบปี
ในปี 2008 มีเด็กในสหรัฐฯ ร้อยละ 0.66 ของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ที่เกิดจากการพยายามฆ่าตัวตาย หรือมีความคิดจะฆ่าตัวตาย ขณะที่ในปี 2015 ตัวเลขดังกล่าวกลับพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 1.82 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย
และที่น่าสนใจคือ นักวิจัยยังสังเกตเห็นความคิด และความพยายามฆ่าตัวตายอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มมากขึ้นในช่วงเปิดการศึกษา ซึ่งตรงกันข้ามกันกับผู้ใหญ่ ที่อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นสูง ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน
เพื่อให้บรรลุข้อวินิจฉัยนี้ นักวิจัยจึงดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลสุขภาพสำหรับเด็ก (Pediatric Health Information System) ออกมา ซึ่งติดตามจากห้องฉุกเฉินของเยาวชนและการเข้ารับการรักษาตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และจากฐานข้อมูลแสดงให้เห็นว่า เด็กๆ มีการคิดหรือพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า 115,800 ครั้ง ในช่วงระยะเวลาการศึกษาเจ็ดปี
ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ยังแสดงให้เห็นว่า จำนวนวัยรุ่นที่กำลังจะตายด้วยการฆ่าตัวตายก็เพิ่มสูงขึ้น
การที่อัตราการฆ่าตัวตายของเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างหนักนั้น อาจมีความเกี่ยวข้องกับอัตราการเพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้า และความโดดเดี่ยวในหมู่คนหนุ่มสาว ซึ่งกุมารแพทย์พบเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต และต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นในโรงพยาบาล
“ความแพร่หลายของสื่อสังคมออนไลน์ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการพยายามและการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น” ดร.เกรกอรี เพลมมอนส์—รองศาสตราจารย์กุมารเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแพทย์แวนเดอร์บิลต์ และผู้นำวิจัยฉบับล่าสุดนี้กล่าวกับผู้สื่อข่าว NBC
“ฉันไม่มีคำตอบที่วิเศษอะไรที่อธิบายได้ว่า ทำไมผลจึงออกมาเป็นเช่นนี้” ดร.เกรกอรีกล่าว “เรารู้ว่าความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งบางกลุ่มก็มีทฤษฎีที่เชื่อว่า สื่อสังคมออนไลน์อาจมีบทบาททำให้เด็กไม่รู้ว่าจะเชื่อมต่อกับคนด้วยกันเองอย่างไร”
การฆ่าตัวตายยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งเคยมีรายงานลงในวารสาร British Medical แสดงถึงอายุขัยเฉลี่ยที่ลดลงของคนอเมริกัน ซึ่งเกิดจากการฆ่าตัวตาย พร้อมกับการเสพยาเสพติดและแอลกอฮอล์
ถ้าคุณหรือคนที่คุณรู้จักคิดฆ่าตัวตาย ลองปรึกษากรมสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย โทร. 02-713-6793
NO COMMENT