READING

5 อันดับคำพูดที่เด็กไทยอยากและไม่อยากได้ยินที่สุด ...

5 อันดับคำพูดที่เด็กไทยอยากและไม่อยากได้ยินที่สุด จากคนในครอบครัว

คำที่ไม่อยากได้ยิน

ไปตายซะ / จะไปไหนก็ไป 521 คน

เลว / ระยำ / ชั่ว 487 คน

แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย 419 คน

สร้างแต่ปัญหา / ตัวปัญหา 310 คน

ดูลูกบ้านอื่นสิ 293 คน

และคำอื่นๆ ที่เด็กๆ ไม่ต้องการได้ยินจากคนในครอบครัวคือน่ารำคาญ ตัวซวย น่าเบื่อ ไม่ต้องมายุ่ง และเชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง ตามลำดับ (รวมกัน 510 คน)

คำที่อยากได้ยิน

เหนื่อยไหม 525 คน

รักนะ 454 คน

มีอะไรให้ช่วยไหม 442 คน

คำชมเชย 380 คน (เช่น ภูมิใจ / เก่งมาก / เยี่ยมมาก)

ไม่เป็นไรนะ 258 คน

และคำอื่นๆ ที่เด็กๆ อยากได้ยินจากคนในครอบครัวคือสู้ๆ นะ ทำได้อยู่แล้ว คิดถึงนะ ขอโทษนะ และขอบคุณนะ ตามลำดับ (รวม 694 คน)

*สำรวจโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ประจำปี 2560 หัวข้อ ‘คำที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว’ จากผู้ตอบจำนวน 2,540 คน และ ‘คำที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว’ จากผู้ตอบ จำนวน 2,753 คน

วิธีหยุดการทำร้ายจิตใจเด็กโดยไม่ตั้งใจ

จากข้อมูลข้างต้น เรามาหยุดคำพูดทำร้ายจิตใจเด็กกันเถอะ โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างความมั่นใจ ความไว้ใจ ความเข้าใจ และความเห็นใจให้เด็กๆ ก่อน เพื่อไม่ให้พวกเขาทำพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การดุด่าหรือลงโทษรุนแรงโดยไม่ได้ตั้งใจ

เพราะจากจำนวนผู้ให้ข้อมูล 2,280 ครัวเรือนจากการสำรวจของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในปี 2560 ส่วนใหญ่เกิดจากการทำความรุนแรงด้านจิตใจ โดยการดูถูก บังคับ พูดจาด่าทอ และทำให้อับอาย ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดถึง 32.3%

 

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเลิกใช้ ‘ด้านลบ’ ในการเลี้ยงดูลูก ไม่ว่าจะเป็นการดุด่า ตะคอก ตะโกน การข่มขู่ให้หวาดกลัว ดูถูก เปรียบเทียบ เพิกเฉย หรือการทำร้ายร่างกาย เช่น หยิกหรือเฆี่ยนตี

การตีหรือดุด่าอาจทำให้ลูกเชื่อฟังและทำตามคำสั่งในระยะสั้น แต่มันจะสร้างความวิตกกังวลและโกรธให้กับลูกๆ ซึ่งในระยะยาวจะทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูก ทำให้ลูกยิ่งดื้อหรือต่อต้านมากยิ่งขึ้น

ขณะที่การใช้ ‘ด้านบวก’ เพื่ออบรมสั่งสอน จะทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีกำลังใจในการใช้ชีวิต มีความมั่นใจในตัวเอง รู้จักใช้เหตุผล เคารพผู้อื่น รู้สึกมีคุณค่า รู้สึกเป็นที่รัก นำไปสู่ชีวิตที่มีจิตใจเข้มแข็ง กระตือรือร้น และพากเพียรที่จะเรียนรู้อย่างแท้จริง

 

มีวิธีการดังนี้

1. ให้ความมั่นใจ

เปลี่ยนจากการใช้วิธี ‘จับผิด’ มองหาแต่ส่วนบกพร่อง มาเป็นการ ‘จับถูก’ มองหาสิ่งดี เมื่อเห็นลูกทำได้ดีก็แสดงความชื่นชม เมื่อลูกผิดพลาดก็ให้กำลังใจไม่ซ้ำเติม เด็กจะมั่นใจและภูมิใจในตัวเองมากขึ้น

5words_3

2. ให้ความไว้ใจ

ไม่ตัดสินใจแทนลูกมากเกินไป แต่ช่วยให้ลูกได้คิดหาทางเลือกต่างๆ ในการแก้ปัญหาอย่างฉลาด รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่เขาอยากทำในบางเรื่อง เพื่อให้เขาได้เติบโตเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเอง

5words_4

3. ให้ความเข้าใจและสนใจ

พยายามเข้าใจสถานการณ์จากมุมมองของลูก พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูก เรียนรู้กันให้มากที่สุดในเวลาปกติ และเมื่อเกิดปัญหาก็หาวิธีแก้ไขร่วมกันโดยไม่บังคับ เพราะการบังคับหรือดุด่าอาจทำให้เด็กหลีกเลี่ยงที่จะพูดความจริง

เช่น หากลูกกลับบ้านดึกเกินเวลา คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงความเป็นห่วง ขอฟังเหตุผล แสดงความเข้าใจ แล้วช่วยลูกคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะไม่มีปัญหาแบบนี้อีก

5words_5

4. ให้ความเห็นใจ

เข้าให้ถึงความคิดและความรู้สึกของลูก ลองมองสถานการณ์จากมุมมองของลูก เพราะเด็กก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความคิดและความรู้สึก เราจึงควรปฏิบัติต่อเขาอย่างให้เกียรติ และเคารพในศักดิ์ศรีของลูกเสมือนเขาคือผู้ใหญ่คนหนึ่ง

5words_6

5. ให้ความสงบ

สอนลูกๆ และตัวเองให้รู้จักสงบ ควบคุมอารมณ์ให้เป็น ใช้สติคิดก่อนที่จะลงมือทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะรู้สึกโกรธหรือผิดหวังแค่ไหนก็ต้องมีสติ เพราะความรุนแรงไม่ใช่วิธีเดียวในการแก้ไขปัญหา แล้วเมื่อลูกโตขึ้นก็จะรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วย

5words_7

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST