สำหรับเด็กๆ แล้ว ‘นิทาน’ คงเปรียบเสมือนโลกใบหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยรสชาติแห่งความสนุก รสชาติแห่งคติแง่คิด และรสชาติแห่งจินตนาการที่หอมหวานอย่างไม่มีวันรู้จบ โดยหากให้พูดถึงข้อดีของหนังสือนิทาน เชื่อว่าวันนี้คงบอกไม่หมดแน่ เพราะมันมีมากมายจนไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี
ในปัจจุบันนิทานที่หาได้ง่าย และมักถูกผลิตออกมาในรูปแบบของหนังสือภาพสักส่วนใหญ่ แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะ ว่าจริงๆ แล้วนิทานยังถูกทำออกมาหลายรูปแบบ มีลักษณะและวิธีการเล่าที่แตกต่างจากปกติ ซึ่งมักซุกซ่อนตัวอยู่ตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศและภูมิภาค
ในวันนี้เอง M.O.M จึงอยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ มาทำความรู้จักกับ ‘คามิชิไบ’ ศิลปะการเล่านิทานของประเทศญี่ปุ่น ที่แม้จะมีอายุร่วมกว่าร้อยปี แต่เมื่อถูกหยิบยกมาแสดงแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือเด็กก็ต่างใจจดใจจ่อดูการแสดงอย่างไม่ละสายตากันเลยค่ะ
คามิชิไบ (Kamishibai) คืออะไร
• คามิชิไบ คือ ศิลปะการเล่านิทานด้วยกระดาษของประเทศญี่ปุ่น โดยการใช้กล่องไม้ที่มีบานพับและเล่าเรื่องด้วยการดึงภาพนิทานที่ซ้อนกันอยู่ออกทีละรูป เหมือนการดูเรื่องเล่าผ่านโรงละครกล่องไม้นั่นเอง
ความเป็นมาของคามิชิไบ
• ในประเทศญี่ปุ่น ช่วงศตวรรษที่ 12 พระสงฆ์ใช้วิธีเล่าธรรมะด้วยภาพวาดเพื่อสื่อสารกับกับคนที่อ่านหนังสือไม่ออก
• คามิชิไบเป็นที่นิยมอย่างมากในปี 1930 เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้กลุ่มคนว่างงานเริ่มผันตัวมาเป็นนักเล่านิทานคามิชิไบตามท้องถนน เมื่อแสดงจบก็จะขายขนม ลูกอม หรือของกระจุกกระจิกต่างๆ
• กระทั่งในปี 1950 โทรทัศน์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจนได้รับฉายาคามิชิไบไฟฟ้า จึงทำให้คามิชิไบแบบเดิมเสื่อมความนิยมลงในที่สุด
• ในปัจจุบันคามิชิไบถือเป็นรูปแบบการเล่านิทานเก่าแก่ มีการนำไปใช้ในการเรียนการสอน และตามเทศกาลงานศิลปะต่างๆ
เสน่ห์และจุดเด่นของคามิชิไบ
• ด้านหน้าของนิทานเป็นรูปภาพ ส่วนด้านหลังเป็นตัวหนังสือ จะแตกต่างกับหนังสือภาพที่ทั้งตัวหนังสือและภาพอยู่หน้าเดียวกัน
• คามิชิไบเป็นนิทานที่เล่าไปทีละแผ่น เมื่อเล่าจบจะดึงแผ่นเดิมออก จึงทำให้ผู้ฟังมีสมาธิจดจ่อมากขึ้น
• นิทานคามิชิไบบางเรื่องต้องอาศัยการพูดคุยโต้ตอบกับคนฟัง เป็นเหมือนการช่วยผลักให้เรื่องราวไปต่อ จนเกิดความรู้สึกร่วมกันระหว่างผู้เล่าและผู้ฟัง
นิทานคามิชิไบที่น่าสนใจ
• ookiku ookiku ookiku naare kamishibai (เรื่องและภาพ: โนริโกะ มัตซึอิ, สำนักพิมพ์ โดชินฉะ)
• Ahiru No Osuma (เรื่อง: เซซิ โฮริโอะ, ภาพ: เซโซ ทาจิมะ, สำนักพิมพ์ โดชินฉะ)
• Yasashii Mamono Bappa (เรื่อง: เอ็ตซึโกะ โนซากะ ภาพ: ยาสุโยชิ โบตัน, สำนักพิมพ์ โดชินฉะ)
COMMENTS ARE OFF THIS POST