หนึ่งเดือนพบกันที ขออนุญาตรีแคปก่อนทุกครั้งนะคะ ยังคงอยู่กับหัวข้อที่ว่า การเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือน การเล่นสนุกนั้นเป็นอย่างไร แล้วโรงเรียน (หรือพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ) ที่เห็นคุณค่าของการเล่นสนุก หน้าตาเป็นแบบไหน และมีอยู่จริงหรือเปล่า

เราเองก็ยังคงครุ่นคิดอยู่กับโจทย์นี้อยู่ทุกวัน แม้เชื่อสุดหัวใจว่ามันต้องมีสิ แม้คิดว่าตัวเองก็พอจะได้ประสบพบเจอมาแล้วไม่น้อย และมันก็ทำงานกับหัวใจของเรามากพอ จนงเราอดไม่ได้ที่จะใช้ทุกพลังงานที่มีไปกับการพยายามสร้างสรรค์การเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือน การเล่นสนุก ที่สุด
แต่พอถึงเวลาที่จะต้องบอกเล่าและเอามาสื่อสารต่อ กลับพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะการเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุก สำหรับเรา มันเต็มไปด้วยชีวิตชีวา มันมีหน้าตาที่ไม่จำเพาะเจาะจงเลยว่าต้องเป็นไหน เหมือนกับการเล่น คือมันแสนจะอิสระ และไม่มีอะไรตายตัว ดังนั้นเราถึงต้องหาหัวใจของมันให้เจอ แล้วจับยึดไว้ให้มั่นไม่หวั่นไหว
ทบทวนจากย่อหน้าสุดท้ายของตอนที่แล้ว การเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือน การเล่นสนุก คงจะเป็นการเรียนรู้ที่จะสามารถดูแลหัวใจของนักเรียนรู้ให้ยังคงเต้นระทึกตึ้กตั้กและหิวกระหายอยู่ตลอดเวลาได้ เปิดโอกาสให้เราพึ่งพาเซ้นส์และสัญชาตญาณในการ ‘หาหนทางของเราไปจนได้’ และเข้าใจจังหวะ เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งไม่มีใครเหมือนใคร (และไม่จำเป็นต้องเหมือนเลยสักนิด)
และไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ต่อให้พบเจอกับภารกิจหรือสิ่งที่ยากลำบากแค่ไหน นักเรียนรู้ก็จะรู้สึกท้าทาย รู้สึกอยากที่จะเอาชนะข้อจำกัดทั้งหมดให้ได้ เหมือนเวลาเราเล่นเกมตะลุยด่านนั่นแหละ ไม่รู้เอาพลังงานจากไหนมาเยอะแยะ แต่ก็จะพยายามหาหนทางเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายของการเรียนรู้นั้นได้ด้วยพลังทั้งหมดที่มี (อันนี้เกมเมอร์คงเข้าใจดี เพราะถึงไม่มีก็จะหามาให้มีจนได้) ลืมเหนื่อย ลืมหิว ลืมร้อน ลืมนอนกลางวันไปเลยก็ยังได้ (แต่ถึงอย่างนั้น นักเรียนรู้ตัวจิ๋วก็ควรนอนกลางวัน แล้วค่อยตื่นมาสู้ใหม่นะ)
ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร ถ้ามันเกิดไปทำงานกับหัวใจ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือไปจุดไฟในใจเข้าแล้ว นักเรียนรู้ของเราก็จะง่วนอยู่กับสิ่งนั้น พลังงานข้างในมันสูบฉีด หัวใจมันเต้นเร็วและแรง รู้สึกตื่นเต้นและมหัศจรรย์ข้างในใจ จนหยุดคิดถึงสิ่งนั้นไม่ได้เลย ไม่ว่ากำลังทำอะไร หรือพูดคุยบอกเล่าอะไร ก็จะวกเวียนไปที่เรื่องนั้นอยู่เสมอ
การเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุกยังอนุญาตให้เราฝันกลางวัน อนุญาตให้เราอ้อยอิ่งอยู่ในโลกจินตนาการ ในโลกที่ทุกอย่างที่เราเห็นอาจไม่ได้ปรากฏจริงตรงหน้า (และเพราะแบบนั้น มันถึงต้องใช้ความสามารถอันมหาศาลให้ ‘นึกจินตนาการ’ ขึ้นมาได้) เพราะเราไม่ได้ต้องอยู่กับโลกที่มีทุกอย่างเท่าที่เรามีใบนี้อยู่ตลอดไป อะไรที่เราจินตนาการขึ้นมาได้ ก็อาจเป็นจริงได้ ถ้านักเรียนรู้ยังคงหมกมุ่นครุ่นคิดและง่วนอยู่กับสิ่งนั้นไปจนถึงวันที่เขาเติบโตขึ้นมา และพอมีแรงมีพลังมากขึ้นกว่าตอนเป็นเด็กๆ
การเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุกจึงจำเป็นต้องมาคู่กับอิสรภาพทางความคิด คือทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กๆ ได้คุ้นชินกับการได้คิดอย่างอิสระ และมองเห็นความเป็นไปได้นับร้อยนับพัน มาพร้อมกับใบอนุญาตให้เลือก ให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ให้สร้างสรรค์ สื่อสาร บอกเล่า ผ่านหนทางที่หลากหลาย นักเรียนรู้ก็จะกล้าที่จะออกแบบหรือตั้งโจทย์ต่างๆ ด้วยตัวเองได้ ริเริ่มได้โดยไม่ต้องรอให้ใครมาป้อนอะไรให้เลย
เหนือสิ่งอื่นใด การเรียนรู้แบบนี้มักจะให้ความสำคัญกับการที่นักเรียนรู้ได้รู้จักตัวเอง เพื่อที่จะสนุกได้ในจังหวะและธรรมชาติของตัวเอง เพราะการทู่ซี้ไปด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ในหัวเรื่องที่ใครอาจสนบ้างไม่สนบ้าง (หรือไม่ก็มองไม่เห็นความเชื่อมโยง ไม่เห็นคุณค่า เห็นความหมาย ว่าจะเรียนรู้ไปเพื่ออะไรบ้าง) อาจไม่ได้ให้ประโยชน์อะไร แถมยังจะทำลายหัวใจของนักเรียนรู้ได้ดื้อๆ
เพราะเด็กๆ คือมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด คือทุกอย่างที่เราเคยมี เคยเป็น แม้กระทั่งเคยกล้าหาญแบบนั้น เคยตื่นเต้นและมองเห็นความมหัศจรรย์ในทุกอย่าง เห็นศักยภาพในทุกอย่าง และอยากรู้ อยากลอง อยากพัฒนาตัวเองไปเสียทุกอย่าง แต่กาลเวลา ประสบการณ์ สังคม และวัฒนธรรม แม้กระทั่ง บางครั้งการศึกษา ก็ทำให้เราต้องละทิ้งอะไรหลายอย่างไประหว่างทาง และเป็นหลาย อย่างที่กู้คืนกลับมาไม่ได้อีกแล้ว
การเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุกจึงเป็นการเรียนรู้ที่เคารพในมนุษย์คนหนึ่งมากๆ แม้ว่าเขาจะตัวเล็กนิดเดียว แต่เราพร้อมจะเชื่อในตัวเขา ว่าเขาจะนำพาการเล่นสนุกที่ดูสะเปะสะปะและต่างจากการเรียนในแบบที่เราคุ้นเคยกันไปได้ไกลแสนไกล และเขาจะเก็บรักษามันไว้ในใจ ให้หยั่งรากลึกลงไป เป็นสิ่งที่จะประทับอยู่ในใจและจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต

ฟังดูเพ้อฝัน ดูเหมือนไม่ใช่งานง่ายๆ และต้องอาศัยกำลังภายในและความเชื่ออย่างมหาศาล ก็จริงอยู่เหมือนกัน แต่ก็ขอยืนยันว่าเราทำได้และเริ่มได้ทันที แค่มองเห็นมันในมุมใหม่เท่านั้น
ไม่ต้องรอให้ถึงมือคุณครูหรือโรงเรียนหรอก แต่ผู้ใหญ่ที่เข้าใจและจับหัวใจของการเล่นได้ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ผู้ใหญ่มหัศจรรย์คนนั้นก็สร้างให้พื้นที่นั้นให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนกับการเล่นสนุกได้ รู้จักฉกฉวยทุกเวลาทุกโอกาสในการเล่นอย่างมีความหมายเพื่อสร้างตัวตนนักเรียนรู้ได้ ถ้ามองไปรอบๆ ตัวก็จะเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่หลายๆ บ้านก็ทำได้อย่างดีแสนดี เป็นธรรมชาติและเหมาะกับวิถีแห่งบ้านนั้นๆ เพราะคุณพ่อคุณแม่เองรู้จักเด็กๆ ดีกว่าใครทั้งหมดในโลกใบนี้
โรงเรียนมหัศจรรย์หลายๆ ที่ก็พยายามซ่อมแซมและเติมแง่มุมที่ขาดหายไปในระบบการศึกษา พยายามทำให้เด็กๆ และนักเรียนรู้มองเห็นว่า การเรียนรู้นั้นมีอยู่จริงในโลกทั้งใบ และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาเล่น (เพราะฉะนั้น ถ้าถามเด็กๆ ว่าไปโรงเรียนวันนี้เรียนอะไร เด็กๆ ก็จะบอกว่า ไปโรงเรียนวันนี้น่ะ ได้เล่นและเล่นสนุกทั้งวัน)
โรงเรียนอาจเริ่มจากการที่กล้าจะเล่นสนุกซุกซนกับความคิดของตัวเอง และมองเห็นโลกใบนี้ด้วยสายตาของนักเรียนรู้เหมือนกับเด็กๆ คือตื่นเต้นและสนใจไปหมดทุกอย่าง อยากรู้ไปหมดทุกอย่าง และพยายามฉกฉวยทุกหนทางเพื่อสร้างให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง นั่นคือทำหน้าที่แค่จุดประกายไฟ โหมไฟ เติมเชื้อไฟที่ใกล้มอด แล้วรอจนไฟกองนี้จุดติดขึ้นมา เหมือนเวลาที่เด็กๆ อยู่ในภวังค์แห่งการเล่น ถึงเวลานั้น เราก็แค่ร่วมเฉลิมฉลองและอยู่ข้างๆ เขาในแต่ละย่างก้าว
โรงเรียนอาจสละละทิ้งซึ่งคอนเทนต์หรือเนื้อหา แต่มามุ่งให้ความสำคัญกับแพสชั่นหรือแรงขับเคลื่อนจากภายใน เพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจของผู้กล้าที่อยากเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่เก่งขึ้น เจ๋งขึ้น มหัศจรรย์ขึ้นไปคนนี้เสมอ เมื่อนั้น การเรียนรู้ก็จะเหมือนกันกับการเล่น คือมีเป้าหมายที่ไกลกว่าว่าจะสอนให้เด็กๆ รู้อะไร แต่ตั้งเป้าหมายระยะยาวว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ กลายเป็น passionate learner หรือนักเรียนรู้ที่จะ ‘สนุก’ กับการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ทำอย่างไรให้เด็กๆ มองเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ที่กำลังจะเกิดกับตัวเองให้ได้
เพราะเขาเป็นคนเดียวที่จะพาตัวเองไปได้ไกลเท่าใจคิดในการผจญภัยแสนสนุกนี้
อาจต้องใช้เวลาหมดไปกับการเล่นที่ไม่เป็นสาระ (จริงๆ สาระน่ะมีอยู่ แต่หลายครั้งเป็นเราเองที่มองข้ามไป) ทั้งหมดก็เพื่อให้เด็กๆ ได้ค้นหาสิ่งที่เขารัก หาสิ่งที่ชุบชูใจ อาจจะได้เจอแม้กระทั่งสิ่งที่ไม่ได้ชอบเท่าไหร่ แต่รู้แน่ว่าต้องได้ใช้ หรือเจออีกหลายสิ่งที่จะติดตัวเขาไป แล้วไปขยายคุณค่าต่อให้กับผู้อื่นได้อีก
เหล่านี้คือคุณค่าที่เมื่อเด็กๆ หามันเจอแล้ว เขาจะอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง แบบที่ไม่ต้องคอยเคี่ยวเข็ญกันอีกเลย
นี่อาจจะเป็นการให้ความหมายของการเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุกของเรา คือการเล่นที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ระทึกใจ ความท้าทาย ความยั่วเย้าให้อยากรู้อยากลอง ความอิ่มเอมเมื่อได้เข้าใจอะไรบางอย่าง สามารถเชื่อมโยงความคิดเองได้ สร้างสรรค์อะไรได้เอง และเมื่อได้อยู่ในพื้นที่หรือท่ามกลางผู้คนที่เต็มไปด้วยพลังงานแห่งการเรียนรู้ อะไรแบบนี้แหละที่เรารู้สึกอยู่เสมอเวลาที่กำลังเล่น
ใครเคยได้เห็นหรือประสบพบเจอเจ้าการเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุกในแบบของตัวเองแล้ว ต้องตะครุบไว้เลยนะคะ จับยึดไว้ให้มั่น อย่าให้อะไรมาทำลายหรือทำให้มันจากนักเรียนรู้ของเราไปได้เลย
แล้วตอนหน้ามาคุยเรื่องนี้กันต่อนะคะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST