เด็กๆ จำเป็นต้องใช้ทักษะที่หลากหลาย เพื่อการเติบโตทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์รวมถึงการมีทักษะที่หลากหลายและจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่
โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ หนึ่งในทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ทักษะการสื่อสาร (Communication skill) ที่ควรได้รับการฝึกและปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็ก Mary L. Gavin กุมารแพทย์ และบรรณาธิการด้านการแพทย์แห่ง KidsHealth.org อธิบายว่า เด็กเล็กวัย 4-5 ปี เป็นวัยที่กำลังมีความสามารถด้านการพูดเป็นอย่างดี สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน เป็นนักเล่าเรื่องที่น่ารัก มีความจำดี และสามารถเล่าเรื่องเดิมซ้ำได้ไม่มีเบื่อ นอกจากนั้น เด็กวัยนี้ยังสามารถเป็นผู้ฟังที่ตั้งใจอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ ทักษะการสื่อสาร ไม่ได้หมายถึงความสามารถในการพูดออกเสียง แต่เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารให้เป็น แบ่งปันความคิดของตัวเองให้กับผู้อื่น รวมถึงรับฟังคนอื่นด้วยความเข้าใจที่สำคัญก็คือ การสื่อสารที่ดี จะเป็นนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กๆ กับสังคมรอบตัว
1. คุณพ่อคุณแม่ ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี
Meghan Fitzgerald นักการศึกษา และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Tinkergarten แนะนำว่า ก่อนที่ลูกจะเป็นนักสื่อสารตัวน้อยที่น่ารัก คุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะการฟังคือ กุญแจสำคัญที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สอนลูกได้ง่ายขึ้น ลูกทำตามได้ดีขึ้น และเรียนรู้ได้มากขึ้น
นั่นหมายความว่า คุณพ่อคุณแม่ลองแปลงร่างเป็นโทรศัพท์ รับฟังลูกด้วยความตั้งใจ ด้วยการวางมือทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้า นั่งลงในระดับเดียวกับลูก และสบตาลูก อาจแสดงท่าทางเพื่อสื่อให้เห็นว่า คุณพ่อคุณแม่รับรู้ เช่น พยักหน้า ยิ้ม หรือพูดว่า แม่เข้าใจ ใช่แล้วล่ะ แม่เห็นแล้วว่า… เป้าหมายคือเพื่อให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังทำความเข้าใจสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสาร
ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ลูกสนใจในวิธีการพูดของตัวเอง เรียนรู้ที่จะหาวิธีสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ โดยไม่ต้องกังวลใจ เพราะลูกจะรับรู้ว่า คุณพ่อคุณแม่เห็นคุณค่าของเขานำไปสู่การเห็นคุณค่าของตัวเอง และสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง
ข้อดีอีกด้านคือ เมื่อลูกเรียนรู้ที่จะฟังคนอื่นอย่างตั้งใจก็คือ ลูกจะสามารถทำตามคำแนะนำ ตั้งคำถาม และตอบคำถาม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดียิ่งขึ้น
2. ชวนลูกพูดคุยอย่างสนุกสนาน
เด็กวัยอนุบาล เป็นวัยที่ช่างพูดช่างเจรจา แต่เพื่อส่งเสริมให้ลูกเป็นนักสื่อสารที่ดี รู้วิธีการพูดที่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือ ชวนลูกคุยเป็นประจำ สลับกันเป็นผู้ตั้งคำถามและเป็นผู้ตอบ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ชัดเจนมากขึ้น ช่วยสร้างคลังคำศัพท์ใหม่ๆ รวมถึงเรียนรู้วิธีสร้างประโยคเพื่อพูดกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักการพูด เพื่อบอกความต้องการของตัวเองอย่างเหมาะสม ตัวอย่างสถานการณ์ ลูกอยากขอเล่นใช้ไฟฉายในโทรศัพท์มือถือของคุณแม่ แต่คุณแม่กำลังใช้งานโทรศัพท์อยู่
หากลูกรู้จักวิธีการสื่อสารที่ดี ลูกจะรู้จักใช้รูปประโยคคำขอและรอคอย เช่น “คุณแม่ครับ หากคุณแม่ใช้โทรศัพท์เสร็จแล้ว ผมขอยืมมาใช้เปิดไฟฉายได้ไหมครับ” แทนที่จะพูดความต้องการออกมาเฉยๆ ว่า “ขอโทรศัพท์แม่หน่อยได้ไหมครับ”
3. เติมคลังคำศัพท์ และเพิ่มทักษะการสื่อสารด้วย ‘การอ่านนิทาน’
การอ่านนิทานให้ลูกฟังยังคงเป็นวิธีที่ใช้พัฒนาทักษะรอบด้านให้กับลูกได้โดยเฉพาะทักษะการสื่อสาร เพราะการอ่านคือทางลัดที่ทำให้ลูกมีคลังคำศัพท์ขนาดใหญ่ เรียนรู้วลีใหม่ๆ และวิธีการพูดเชิงบวก ผ่านตัวละครที่ลูกชอบในหนังสือนิทานเล่มที่ใช่ นอกจากนี้การอ่านนิทานยังช่วยให้ลูกได้เจอกับแนวความคิดใหม่ๆ ทัศนคติใหม่ๆ ซึ่งเป็นรากฐานของการทำความเข้าใจโลกภายนอกและโลกภายในของตัวเอง เมื่อลูกเข้าใจ ก็จะเกิดความมั่นใจ และกล้าที่จะสื่อสารออกไปได้อย่างเหมาะสม
เทคนิคการอ่านเพื่อสร้างนักสื่อสารตัวยงในอนาคต – อ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน อย่างน้อยวันละ 15 นาที ช่วงเวลาก่อนนอนคือ นาทีทอง ตั้งเวลาอ่านหนังสือให้เป็นประจำ เพื่อสร้างนิสัยการอ่านที่ดีให้กับลูก อ่านหนังสืออะไรก็ได้ที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับเด็กตามวัย และอย่าลืมให้ลูกเลือกหนังสือด้วยตัวเอง
ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสนใจกับการอ่านนิทานอย่างเต็มที่ แสดงความรู้สึกร่วมไปเรื่องราวในนิทาน รวมไปถึงแสดงออกว่า คุณพ่อคุณแม่มีความสุขและสนุกไปกับการอ่านนิทานด้วยกันกับลูก
4. ภาษากาย คือศาสตร์แห่งการสื่อสารที่ลูกต้องเริ่มทำความรู้จัก
Albert Mehrabian นักวิจัยภาษากายคนแรกที่แจกแจงองค์ประกอบของการสนทนาแบบเห็นหน้ากัน ระบุว่า กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของการสื่อสารเริ่มต้นด้วยการไม่ได้ใช้คำพูด และที่สำคัญการใช้ภาษากายยังมีบทบาทสำคัญต่อการสื่อสารเป็นอย่างมาก
Allan และ Barbara Pease หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากาย และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับภาษากาย ระบุว่า ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การสื่อสารแบบอวัจนภาษา เพื่อทำความเข้าใจคนที่พบเจอเป็นครั้งแรก ภาษากาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาและการสานความสัมพันธ์ที่ดี เพราะจะช่วยสร้างความประทับใจได้ตั้งแต่แรกเห็นโดยที่ไม่ต้องพูดกันแม้แต่คำเดียว
เช่นเดียวกับ Dr. Carol Kinsey Goman ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากาย อธิบายเพิ่มเติมว่า ท่าทางที่แสดงออกระหว่างการสื่อสาร เช่น ท่าทางของมือ สีหน้า น้ำเสียง ท่าทางการยืน การพูดเพื่อขยายความคิดให้ชัดเจนขึ้น พูดด้วยประโยคที่กระชับมากขึ้น ยังทำให้การพูดในแต่ละครั้งมีความน่าสนใจ และน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย
การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ผู้คนชอบคนที่สบตา และยิ้มเก่ง ภาษากายทั้งสองแบบนี้ จะช่วยให้การสื่อสารในแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกฝนในลูกเรียนรู้การใช้ภาษากายเชิงบวก เช่น การสบตาเวลาพูดกับคนอื่น การส่งยิ้มก่อนเพื่อแสดงความเป็นมิตรต่อเพื่อนใหม่ การผายมือแทนการชี้นิ้ว การพยักหน้าแทนพูดตอบรับที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ควรระวังการแสดงภาษากายเชิงลบต่อหน้าลูก โดยเฉพาะเมื่อการพูดออกมาเป็นเรื่องยาก เช่น การใช้สายตามอง การกอดอก หรือการปิดประตูเสียงดัง เวลาที่ไม่พอใจ เพราะลูกกำลังเฝ้าสังเกตวิธีการสื่อสารแบบไม่ต้องพูดของคุณพ่อคุณแม่ และพร้อมที่นักลอกเลียนแบบตัวน้อยอยู่ตลอดเวลา
เมื่อลูกได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะการสื่อสารตั้งแต่ยังเล็ก จะสามารถเข้าใจผู้อื่นและแสดงออกได้อย่างชัดเจน พฤติกรรมนี้จะนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างเพื่อนและผู้ใหญ่ ที่จะส่งผลดีต่อตัวลูกเองในอนาคต โดยเฉพาะการเข้าสังคม การใช้ชีวิต และการสร้างอาชีพในวัยผู้ใหญ่
COMMENTS ARE OFF THIS POST