READING

6 เหตุผลสำคัญ ว่าทำไมลูกถึงดื้อนักดื้อหนา!...

6 เหตุผลสำคัญ ว่าทำไมลูกถึงดื้อนักดื้อหนา!

ถึงคุณพ่อคุณแม่จะพอทำใจได้ว่า เด็กกับความดื้อและซุกซนเป็นเรื่องธรรมชาติ  แต่เมื่อได้เจอความดื้อและซนในแบบของลูกตัวเองแล้วละก็ ต้องมีเผลอเหนื่อยใจกันบ้าง เพราะคงไม่ดีแน่ถ้าจะปล่อยให้ลูกทั้งดื้อและซน ห้ามปรามอะไรไม่ได้ และเริ่มหาทางไม่เคารพกฎหรือไม่ทำตามข้อตกลงมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ความจริงแล้ว ทุกพฤติกรรมของลูกล้วนมีที่มาที่ไปกันทั้งนั้นค่ะ จริงๆ แล้วพฤติกรรมดื้อ ซน และชอบแหกกฎของลูก นอกจากจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูกแล้ว ยังอาจเป็นสัญญาณที่ลูกต้องการบอกว่าเขากำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบางอย่างอยู่เช่นกัน

แต่จะเป็นเพราะอะไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่ต้องลองมาเปิดใจและติดตามไปพร้อมกันค่ะ

1. ลูกอยากเรียกร้องความสนใจ

misbehaves_web_1

พฤติกรรมดื้อสุดเหวี่ยงของลูก บางครั้งก็มาจากการที่ลูกกำลังรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกถูกทอดทิ้ง และไม่ได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ จึงแสดงออกมาเป็นความดื้อและซน เพื่อเป็นการเรียกร้องความสนใจของคนรอบข้างมาที่ตัวเอง

ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่เริ่มรู้สึกว่าลูกมีพฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน หรือพยายามหาทางฝืนกฎทุกอย่าง อาจต้องลองย้อนกลับมาดูตัวเองว่ามีเวลาให้ลูกน้อยเกินไปหรือเปล่า เพราะวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูกได้ดีที่สุดก็คือการที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาให้ลูกอย่างเพียงพอ

2. ลูกกำลังพยายามทดสอบขีดจำกัดของตัวเองและคนอื่น

misbehaves_web_2

เด็กเป็นช่วงวัยแห่งความสงสัยใคร่รู้ ด้วยความที่ยังไม่รู้จักตัวเองและคนรอบข้างดีเท่าที่ควร เด็กจึงอยากรู้และอยากลองว่าอะไรที่ตัวเองทำได้หรือทำไม่ได้ ยิ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ห้ามแล้ว เด็กก็ยิ่งต้องการที่จะทดสอบขีดจำกัดของตัวเอง เพื่อดูว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลองปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน และเมื่อลูกได้เห็นผลเสียของการดื้อหรือไม่ทำตามข้อตกลงด้วยตัวเอง เขาก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองได้ในที่สุด

3. ลูกขาดทักษะบางอย่าง

misbehaves_web_3

บางครั้งพฤติกรรมและนิสัยที่ไม่น่ารักของลูก เกิดจากการที่ลูกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แสดงออกอย่างไร หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร เช่น เมื่อลูกอยากเล่นกับเพื่อน แต่ไม่รู้และไม่มีทักษะในการเข้าสังคมที่ดี  ลูกก็เลยใช้วิธีตรงเข้าไปแย่งของเล่นเพื่อนก่อน

สิ่งที่ควรทำก็คือการสอนให้ลูกรู้ว่าเขาควรทำอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ  ไม่ควรปล่อยให้ลูกต้องรับมือหรือแก้ปัญหาไม่ถูกวิธีต่อไปเรื่อยๆ

4. ลูกต้องการเป็นอิสระมากขึ้น

misbehaves_web_4

เด็กในช่วงวัยหัดเดินจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะเผลอขัดใจลูกด้วยการยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ทำให้ทุกอย่าง รวมถึงการคอยบอกว่าลูกต้องทำอะไรและไม่ทำอะไรมากเกินไป

ทางที่ดีคือคุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีให้โอกาสลูกเป็นคนตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น เสนอตัวเลือกที่อยู่ในเงื่อนไขที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ เช่น วันนี้หนูอยากใส่รองเท้าสีชมพู หรือสีขาวคะ หนูอยากกินนมรสจืดหรือรสหวาน การทำแบบนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ในการตัดสินใจและไม่จำเป็นต้องพยายามต่อต้านคุณพ่อคุณแม่มากเกินไป

5. ลูกยังจัดการอารมณ์ไม่เป็น

misbehaves_web_5

เมื่อลูกถูกขัดใจหรือถูกทำให้เสียใจ อาจจะเป็นเพราะความเด็กจนไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้

 ทำให้ลูกมักจะแสดงออกมาเป็นการร้องไห้และกรีดร้องเสียงดัง หรือลงไปนอนดิ้นนอนกองอยู่ที่พื้น ดังนั้นการสอนให้ลูกรู้วิธีการรับมือและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ลูกสามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองได้ดีขึ้น

6. ลูกเคยได้รับรางวัลจากความดื้อ

misbehaves_web_6

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่รู้ตัวว่า ตัวเองเคยตอบสนองกับพฤติกรรมดื้อของลูกอย่างไร เช่น ลูกไม่เชื่อฟังและร้องไห้งอแง แต่คุณแม่ใช้วิธีซื้อขนมให้เพื่อต่อรองให้ลูกหยุดร้องไห้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีแบบนี้เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูก ก็จะทำให้ลูกเข้าใจว่าวิธีการดื้อและไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ จะทำให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

อ้างอิง
canr
lifehack
mother
verywellfamily
parenting

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST