READING

Unplugged Coding : ฝึกทักษะการคิดเป็นขั้นตอนด้วยกา...

Unplugged Coding : ฝึกทักษะการคิดเป็นขั้นตอนด้วยการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding

Unplugged Coding

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเขียนโค้ด หรือ Coding เป็นหนึ่งในทักษะที่เด็กเจเนชั่นอัลฟ่าจำเป็นต้องเรียนรู้ แม้จะฟังดูเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่หลายคน แต่เด็กก็สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจเทคโนโลยีนี้ได้ ด้วยการเรียนแบบ Unplugged Coding หรือแนวคิดการเขียนโค้ดที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แต่ใช้วิธีการเล่น ทำกิจวัตรประจำวัน และทำกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะการคิดคำนวณร่วมด้วยเพื่อส่งเสริมให้ลูกรู้จักการคิดอย่างคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและสร้างสรรค์ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี

Paige Bestoff คุณครูฝ่าย Digital Tech จากโรงเรียน E Raymond Appleby ระบุว่า การเรียนแบบ Unplugged Coding นอกจากจะเป็นการวางรากฐานเรื่องการเขียนโค้ดให้กับเด็กปฐมวัยแล้ว ยังทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องความความสำเร็จ และมองเห็นว่าความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ดี มีพื้นที่ให้ได้แก้ไข ทดลองและเรียนรู้จากความผิดพลาด ทั้งยังทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะอันมีค่าต่อชีวิต เช่น ความอดทน ความบากบั่น รวมถึงความมั่นใจในตัวเองอีกด้วย

คุณพ่อคุณแม่จึงควรปลูกฝัง ทักษะชีวิต ที่สำคัญให้กับลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding แสนสนุกดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ฝึกการคิดแบบอัลกอริทึมจากกิจวัตรประจำวัน

UnpluggedCoding_web_1

ตัวอย่างที่สามารถทำได้ง่ายๆ เลยก็คือ #ให้ลูกแต่งตัวด้วยตัวเอง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากการตั้งคำถามว่าหลังจากลูกอาบน้ำเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องแต่งตัวลูกจะใส่เสื้อผ้าชิ้นไหนก่อนและมีการเรียงลำดับอย่างไร หรือจะเริ่มตั้งแต่ให้ลูกรู้จักการวางแผนกิจกรรมในห้องน้ำของตัวเอง เช่น ให้ลูกคิดว่าควรจะเรียงลำดับการอาบน้ำ สระผม และแปรงฟันอย่างไร เพื่อฝึกให้ลูกรู้จักการคิดเป็นขั้นตอนและทำตามเป้าหมายได้สำเร็จด้วยดีนั่นเอง

2. ถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์แล้ว ‘จงเล่น’

UnpluggedCoding_web_2

Bradley Davies คุณครูและหัวหน้าฝ่าย EdTech แห่ง Kämmer International Bilingual ระบุว่า การทำกิจกรรมผ่าน Unplugged Coding ด้วยการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติและเล่นด้วยตัวเอง จะทำให้เด็กเกิดทักษะการคิด การวางแผน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ช่วยฝึกฝนทักษะการเข้าสังคม และการทำงานร่วมกันได้อย่างประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แต่ทั้งนี้ การเล่นแบบ unplugged จะต้องเป็นกิจกรรมที่สนุก และใช้ความคิด ผ่านการตั้งโจทย์ที่มีกฎกติกาง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่มีการคำนวณที่น่าตื่นเต้น และต้องเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ค้นพบได้ง่าย การเล่นแบบนี้จะทำให้ลูกสามารถใส่ไอเดียได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังทำให้ลูกเกิดความรู้อยากจะคิด และคิดมากขึ้น เพื่อเล่นให้สนุกสุดๆ ได้ด้วยตัวเอง

#เกมล่าสมบัติ คือตัวอย่างกิจกรรม Unplugged Coding ที่สนุกได้ทั้งครอบครัว วิธีเล่นง่ายๆ เพียงแค่ให้คุณพ่อคุณแม่วางสิ่งของที่สมมติว่าเป็นสมบัติล้ำค่าไว้รอบห้อง จากนั้นวาดแผนที่เพื่อกำหนดจุดเริ่มต้น เช่น เดินไปข้างซ้ายสองก้าว ก้าวทางขวาสองก้าว ลอดใต้โต๊ะ แล้วเดินต่อไปทางซ้ายสามก้าว จนไปถึงจุดวางสมบัติที่ซ่อนไว้

และอย่าลืมเพิ่มกติกาว่า หากก้าวผิดกติกา จะต้องย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นใหม่ เกมนี้จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ทักษะการแก้บั๊กส์ (bugs) หรือการแก้ไขจุดบกพร่องแบบเบื้องต้นสำหรับการก้าวไปสู่การเรียนเขียนโค้ดในชั้นประถมอย่างจริงจัง

3. สนับสนุนให้เกิด ‘นักประดิษฐ์น้อย’

UnpluggedCoding_web_3

#สร้างหุ่นยนต์จากตัวต่อ ด้วยการกำหนดโจทย์ของการต่อแต่ละครั้ง เพื่อเพิ่มความสนุก เรียนรู้เรื่องอัลกอริทึ่ม การจัดลำดับ และส่งเสริมกระบวนการคิด เช่น กำหนดจำนวนของตัวต่อ กำหนดสีที่ต้องใช้ สำหรับต่อให้เป็นหุ่นยนต์ตามจินตนาการ จากนั้นให้คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ สร้างโจทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปเรื่อยๆ

#สร้างมอนสเตอร์น้อยของจากของเหลือใช้ เช่น แก้วพลาสติก แกนกระดาษทิชชู่ หลอดพลาสติก เริ่มต้นด้วยการชวนลูกออกแบบอวัยวะต่างๆ ของมอนสเตอร์ลงบนกระดาษก่อน โดยให้ลูกเรียงว่าจะต้องวาดอวัยวะอะไรก่อน อะไรหลัง อวัยวะเหล่านั้นควรอยู่ตรงไหน ใช้ทำอะไรบ้าง แล้วค่อยวาดอวัยวะเหล่านั้นลงบนแก้วพลาสติก หรือแกนกระดาษทิชชู่ ทีละใบ แล้วนำมาซ้อนต่อกันให้เกิดเป็นรูปร่างตามจินตนาการ

 นอกจากจะช่วยส่งเสริมการคิดอย่างสร้างสรรค์แล้ว การเล่นแบบนี้ยังสามารถช่วยส่งเสริมแนวคิดเชิงนามธรรม (abstraction) ให้กับลูกได้อีกด้วย

4. ชวนลูกสร้างเรื่อง (Storytelling)

UnpluggedCoding_web_4

การกระตุ้นให้ลูกเล่าเรื่องราวสมมติ คือวิธีที่ดีที่จะช่วยให้ลูกเรียนรู้การคิดเป็นขั้นเป็นตอน และยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทักษะการเขียนโค้ดในวัยประถม

มีงานวิจัยพบว่า การทำงานของสมองที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่าเหตุการณ์สมมตินั้นเกือบจะเหมือนกับสมองที่ทำงานตอนที่ลูกเห็นสถานการณ์จริงได้ ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ฟังดีๆ จะพบว่า จากเรื่องสมมตินั้น ทำให้ลูกเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้วิธีแก้ไขอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร และต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจช่วยให้คำแนะนำที่ลูกสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงต่อไปได้

นอกจากจะชวนลูกเล่าเรื่องแบบปากเปล่าแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถพัฒนาทักษะลูกขึ้นไปอีกได้ด้วยการแบ่งเรื่องราวจากการเล่าของลูกออกเป็นตอนๆ แล้วชวนลูกเขียนเป็นคำ หรือ วาดภาพง่ายๆ ใส่กระดาษแยกเป็นชิ้นๆ จากนั้นให้ลูกทำสิ่งที่เขียนใส่กระดาษมาต่อให้เป็นเรื่องราว ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบอย่างถูกต้อง กิจกรรมนี้จะช่วยฝึกการคิดอย่างมีเหตุผล คิดวิเคราะห์ แยกแยะ และเรียบเรียงลำดับให้ถูกต้องนั่นเอง

อ้างอิง
codemonkey.com
sphero.com
plookpanya

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST