READING

การนอนของเด็กไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย: คุยกับพลอย—ศิรา...

การนอนของเด็กไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย: คุยกับพลอย—ศิราฐิณีย์ สุขชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนในเด็ก (Certified Pediatric Sleep Specialist)

การนอนของเด็ก

คุณพ่อคุณแม่น่าจะเข้าใจดีว่าการนอนหลับพักผ่อนนั้นสำคัญสำหรับลูกมากแค่ไหน เพราะไม่ได้หมายถึงแค่เวลาที่คุณพ่อคุณแม่พอจะได้พักผ่อนไปด้วย แต่ การนอนของเด็ก ยังเป็นหนึ่งในขั้นตอนของกระบวนการเจริญเติบโตของเด็กอีกด้วย

แต่แม้จะรู้ดีกว่าการนอนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่ต้องเผชิญกับปัญหา การนอนของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นลูกไม่ยอมนอน ลูกนอนหลับไม่สนิท หรือลูกตกใจตื่นขึ้นมากลางดึก

นอกจากปัญหาการนอนของลูกจะมีผลต่อสุขภาพของลูกแล้ว ยังสร้างความหนักใจให้คุณพ่อคุณแม่ ที่ไม่รู้ว่าสาเหตุคืออะไร แล้วจะรับมือและแก้ไขอย่างไร

เราจึงได้ชวน พลอย—ศิราฐิณีย์ สุขชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนของเด็ก (Certified Pediatric Sleep Specialist) ที่ได้รับใบรับรองจากโปรแกรม Sleep sense ประเทศสหรัฐอเมริกา มาคุยเรื่องความสำคัญของการนอน และปัญหา การนอนของเด็ก ที่อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่พลอยนอนไม่หลับไปด้วย

Certified Pediatric Sleep Specialist

เวลาที่เราไปลงคลาสเตรียมความพร้อมเป็นคุณพ่อคุณแม่ ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงเรื่องการเตรียมตัวหลังคลอดว่าจะต้องทำยังไง เช่น ให้นมลูก เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำ แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงธรรมชาติการนอนของเด็กเลย ทั้งที่มันสำคัญมาก

ทำไมถึงสนใจเรื่องการนอนของเด็ก และลงเรียนเกี่ยวกับการนอนของเด็กได้

พลอยได้ทุนสถานทูตมาเรียนต่อปริญญาโทที่ฝรั่งเศส จริงๆ มาเรียนทางด้าน data analysis คือวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แล้วก็ทำงานมีครอบครัวอยู่ที่นี่มาสิบปีแล้ว

ลูกนี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเรื่องการนอนของเด็ก เพราะว่าลูกพลอยมีปัญหาเรื่องการนอนมาก่อน

ด้วยความที่เราเรียนสายข้อมูลมา ช่วงแรกๆ ที่รู้สึกว่าลูกมีปัญหา ก็พยายามจดข้อมูลการนอนของลูกมาวิเคราะห์ว่าทำไมบางวันลูกนอนได้ดี บางวันลูกก็นอนได้ไม่ดี พยายามหาข้อมูลเยอะมากๆ เพื่อลองฝึกกับลูกเองอยู่หลายรอบ แต่ถึงจะสำเร็จ การนอนของลูกก็ยังไม่เพอร์เฟ็กต์นะ มันก็ยังมีบางวันที่เขานอนได้ดีมากและบางวันไม่ยอมนอนเลยหรือยังต้องกล่อมอยู่ เราเองก็ไม่เข้าใจว่ามันเกิดจากอะไร

จากการหาข้อมูลเยอะๆ ก็เริ่มสังเกตว่า ในต่างประเทศเขามีโปรแกรมเพื่อผลิต sleep specialist มานานกว่า 25 ปีแล้ว ก็เลยลองหาว่าที่เมืองไทยมีคนไทยที่ทำงานด้านนี้ไหม  ด้วยความที่เราเป็นคนไทย คิดว่าคุยกับคนไทยด้วยกันคงโอเคกว่า สื่อสารได้ตรงใจกว่า ปรากฏหาข้อมูลยังไงก็ไม่มี ก็เลยตัดสินใจลงเรียนโปรแกรมนี้ไป

Sleep sense เป็นโปรแกรมการฝึกนอนจากประเทศอเมริกา ตัวโปรแกรมนี้ได้รับการยอมรับจากกุมารแพทย์ในอเมริกาแล้วว่าได้ผลสูงกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ เราก็เลยลงเรียน และคิดว่าจะได้นำความรู้มาช่วยคุณพ่อคุณแม่คนไทยที่ไม่มีความรู้ด้านการนอนของเด็กด้วย

การนอนของเด็กมันเป็นอะไรที่ใกล้ตัวมาก แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่าไร เวลาที่เราไปลงคลาสเตรียมความพร้อมเป็นคุณพ่อคุณแม่ ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงเรื่องการเตรียมตัวหลังคลอดว่าจะต้องทำยังไง เช่น ให้นมลูก เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำ แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงธรรมชาติการนอนของเด็กเลย ทั้งที่มันสำคัญมาก เวลาเจอปัญหาลูกไม่นอน ลูกร้องไห้ พ่อแม่ส่วนใหญ่จะรับมือไม่ถูก กลายเป็นตอบสนองการร้องไห้ของลูกไม่ถูกทาง สร้างนิสัยการนอนที่ไม่ดีให้กับลูกทางอ้อมไปในตัว

ทั้งที่จริง ปัญหาการนอน ไม่ได้เกิดจากตัวเด็กโดยตรงซะทีเดียว ส่วนใหญ่ที่เจอก็มักมาจากการที่พ่อแม่ไม่รู้จะจัดการการนอนของลูกยังไงและไม่เข้าใจธรรมชาติการร้องไห้ของเด็ก พอลูกร้องไห้คุณพ่อคุณแม่ก็คิดว่าทำยังไงก็ได้ให้ลูกหยุดร้อง ให้จุกหลอกบ้าง เอาเข้าเต้าบ้าง ให้ขวดนมบ้าง ซึ่งจริงๆ การร้องไห้ของลูกมันมาจากสาเหตุที่หลากหลายมาก ถ้าพ่อแม่ไม่หยุดฟังเสียงลูกก่อน ก็จะไม่รู้เลยว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน

โปรแกรม Sleep sense สอนอะไรบ้าง 

สอนเกี่ยวกับความสำคัญของการนอน ในเด็ก ผลเสียของการที่เด็กไม่ยอมนอนมีอะไรบ้าง วิธีการสังเกตปัญหาการนอน วิธีการฝึกเด็กให้มีนิสัยการนอนที่ดี และธรรมชาติการนอนของเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 6 ขวบ

ซึ่งในส่วนที่พลอยเรียน ก็จะมีการสอนด้วยว่าเราจะทำยังไงให้เด็กนอนได้ดีตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัย toddler ที่มักจะไม่ยอมนอน เริ่มงอแงเพราะอยากนอนดึก ก็จะมีวิธีจัดการว่าต้องทำยังไง

แสดงว่าในต่างประเทศค่อนข้างใส่ใจและให้ความสำคัญการนอนของเด็กมาก

ใช่ค่ะ เขาให้ความสำคัญกับการนอนของเด็กมากกว่าประเทศไทยมาก พลอยคิดว่าอาจจะเป็นเพราะหมอเด็กในเมืองไทยรวมถึงเมืองนอกเองก็ตามมักจะเรียนเฉพาะเจาะจงเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ พัฒนาการเด็ก แต่ในเรื่องการนนอนคุณหมอจะไม่ได้เรียนลงลึก ทำให้ในต่างประเทศสายงานด้าน sleep specialist จึงเกิดขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับหมอเด็กในกรณีที่เด็กมีปัญหาการนอน และคุณหมอหลายท่านจะแนะนำคุณพ่อคุณแม่ที่ถามปัญหาเรื่องการนอนของลูกให้ไปคุยกับ sleep specialist เพราะคุณหมอมักจะให้คำตอบที่เฉพาะเจาะจงไม่ได้ว่าจะต้องแก้ปัญหาการนอนของเด็กอย่างไร ใช้วิธีไหน หรือคุณหมอบางท่านอาจจะบอกว่าโตแล้วก็นอนเป็นเอง ทำให้คุณพ่อคุณไม่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องฝึกยังไง ไม่รู้ว่าการนอนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องที่สอนลูกได้

การนอนหลับยังเป็นพื้นฐานของช่วงเวลาที่เราตื่นด้วย ว่าอารมณ์ของเราจะเป็นยังไง จะจัดการกับอารมณ์ได้ดีแค่ไหน 

การนอนสำคัญกับเด็กอย่างไรบ้าง

จริงๆ การนอนมันสำคัญสำหรับทุกคนไม่ใช่แค่สำหรับเด็กนะ พอได้เรียนก็เลยรู้ว่าการนอนมันสำคัญมาก ไม่ต่างจากน้ำและอากาศเลย

มีงานวิจัยค้นพบว่าในช่วงที่ผู้ใหญ่อย่างเรานอน ร่างกายจะมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ส่วนในเด็กก็จะมีการหลั่ง Growth hormone และการจัดการข้อมูลในสมอง ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำ การจัดเรียงข้อมูลต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่าการนอนหลับยังเป็นพื้นฐานของช่วงเวลาที่เราตื่นด้วย ว่าอารมณ์ของเราจะเป็นยังไง จะจัดการกับอารมณ์ได้ดีแค่ไหน

คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจเผชิญกับปัญหาลูกงอแงบ่อย รู้สึกว่าลูกเลี้ยงยากซึ่งจริงๆ สาเหตุมันอาจมาจากการนอนไม่พอ ทำให้เขาไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ของตัวเองได้ตอนตื่นนอน ลูกอาจจะหงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย รวมถึงมีผลต่อ IQ อีกด้วยนะ มีงานวิจัยแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเด็กที่นอนได้ดี ถูกฝึกการนอนตั้งแต่ยังเล็ก กับอีกกลุ่มที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลยเรื่องการนอน อยากนอนตอนไหนก็นอน ปรากฏว่าเด็กที่นอนได้ดีมี IQ สูงกว่าเด็กที่นอนได้ไม่ดี

พลอยเลยอยากเปลี่ยนมุมมองคุณพ่อคุณแม่ เวลาหิวลูกก็ยังได้กินข้าว เวลานอนพักผ่อน ลูกก็ควรจะได้นอนหลับอย่างเพียงพอด้วย อยากให้คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการนอนไม่ต่างอะไรกับการกิน หรือพัฒนาการด้านอื่นๆ

ต่างประเทศเขาให้ความสำคัญเรื่องการแยกห้องนอนกับลูก ซึ่งตรงกันข้ามกับคนไทยที่ส่วนใหญ่จะให้ลูกนอนห้องเดียวกับพ่อแม่จนโต จริงๆ แล้วการนอนห้องเดียวกับลูกมันไม่ได้ส่งผลดีต่อการนอนของเด็กเลย การแยกห้องนอนมีผลดีกว่าด้วยซ้ำ

อย่างแรกคือการนอนของลูกกับพ่อแม่จะไม่รบกวนกัน อย่างที่สองคือเมื่อลูกอายุได้ 2-3 ขวบ เขาจะเริ่มชอบทำอะไรด้วยตัวเอง เลยถือเป็นช่วงวัยและเวลาที่ดีที่จะเริ่มแยกห้องนอน เป็นนาทีทองที่จะสอนให้ลูกรู้ว่าเขาสามารถทำสิ่งนี้เองได้นะ เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

บางทีพ่อแม่จะกลัวว่าการแยกห้องนอนจะทำให้ลูกรู้สึกขาดความอบอุ่นไหม จริงๆ มันเป็นทางตรงกันข้ามเลยนะ การแยกห้องนอนในวัยที่เหมาะสม ผลที่ได้จะดีทั้งกับตัวเด็กและพ่อแม่อย่างมหาศาลเลย

บางทีพ่อแม่จะกลัวว่าการแยกห้องนอนจะทำให้ลูกรู้สึกขาดความอบอุ่นไหม จริงๆ มันเป็นทางตรงกันข้ามเลยนะ การแยกห้องนอนในวัยที่เหมาะสม ผลที่ได้จะดีทั้งกับตัวเด็กและพ่อแม่อย่างมหาศาลเลย

แล้วถ้าไม่สะดวกหรือไม่สามารถแยกห้องนอนได้ สามารถทำอะไรทดแทนได้บ้าง 

ก็อาจจะหาอะไรมากั้น เพื่อแยกพื้นที่กันให้ชัดเจนเลยว่าโซนนี้เป็นของลูกโซนนี้เป็นของพ่อแม่ เด็กวัยสองขวบขึ้นไป เราสามารถสอนและอธิบายให้เขาเข้าใจได้แล้ว ว่าการนอนสำคัญกับเขายังไง ถ้าเขาไม่นอนเราก็ควรจะมีวิธีการรับมือด้วย เพราะเด็กวัยนี้ธรรมชาติของเขาคือการทดลอง และหาลิมิตว่าเขาคือแค่ไหน พูดตรงๆ ว่ามันเป็นงานหลักของเขาเลยก็ว่าได้ หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่เลยเป็นการทำให้ลูกรู้ลิมิตของตัวเอง ไม่ใช่แค่การนอนอย่างเดียวนะ แต่หมายถึงทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะการกิน การนอน การแต่งตัว คือจะต้องสอนให้ลูกรู้ว่าอะไรที่เขาทำได้ และอะไรที่เขาทำไม่ได้

เด็กในช่วงวัยนี้ ชอบอะไรที่เป็นกิจวัตรประจำวัน อะไรที่เขาสามารถเดาได้ รู้ว่าต้องทำอะไรอย่างแรก ลำดับต่อไปต้องทำอะไร การทำทุกอย่างเป็นกิจวัตรจะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการปล่อยให้ลูกทำอะไรก็ได้เป็นการให้อิสระกับเขา แต่จริงๆ แล้วการทำแบบนั้นไม่ต่างอะไรกับการโยนลูกลงทะเล แล้วปล่อยให้เขาเคว้งเลย

การให้อิสระกับลูกทำได้ แต่เราจะต้องทำให้ถูกทาง อย่างเช่น กิจวัตรก่อนเข้านอน เราอาจจะถามลูกว่า เอ… เรามาทำอะไรกันดีนะ ไหนลองคิดสิว่าหนูอยากทำอะไรก่อนนอน คือให้เขาได้มีส่วนร่วมในการวางกิจวัตรประจำวันของตัวเองด้วย โดยผ่านการไกด์จากพ่อแม่ เพื่อให้ลูกรู้ว่าลิมิตของเขาว่าอยู่ตรงไหน

ตามธรรมชาติแล้ว นาฬิกาชีวิตของเด็กจะต้องตื่นเช้าและเข้านอนเร็ว ตอนเช้าเริ่มได้ตั้งแต่หกโมงเช้า และไม่ควรจะเกินเจ็ดโมงครึ่ง และกลางคืนของเด็กเริ่มได้ตั้งแต่หกโมงเย็นและไม่ควรเกินสองทุ่ม ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกง่วงตั้งแต่หกโมงเย็น ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะมันเป็นธรรมชาติของเขา

แล้วถ้าลูกต่อรองเรื่องเวลานอน เช่น ขอขยับเวลาออกไปเรื่อยๆ อยากทราบว่าลิมิตควรอยู่ตรงไหน และผลเสียของการให้เด็กนอนดึกเป็นอย่างไร

ให้เราลองนึกภาพผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานกะดึกดู คือต้องตื่นเวลาที่ไม่ควรจะตื่น และนอนเวลาที่ไม่ควรจะนอน ถามว่าหลับไหมก็หลับนะ แต่ถามว่าตื่นมาสดชื่นไหม ก็ไม่

ตอนกลางคืนร่างกายเราจะมีฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่จะหลั่งตอนประมาณหกโมงเย็น เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายคนเราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ฮอร์โมนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงเที่ยงคืนหลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ดรอปลง การที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกนอนดึก หมายความว่าร่างกายของลูกแทบจะไม่ได้พักผ่อนเลย เพราะได้รับฮอร์โมนเมลาโทนินจริงๆ เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น พอหลังจากเที่ยงคืนไปแล้วร่างกายก็จะเริ่มหลั่งฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งตอนเราเกิดความเครียดและความตื่นเต้น เป็นไปตามกระบวนการเพื่อปลุกให้ร่างกายเราตื่น

จริงๆ ร่างกายเด็กเริ่มเรียนรู้เรื่องของกลางวันกลางคืนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว เพราะตอนที่เขาอยู่ในครรภ์ คุณแม่ก็มีการหลั่งเมลาโทนินทำให้ลูกซึมซับความแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืน แต่เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว การนอนของเขายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ทำให้คุณพ่อคุณแม่ยังต้องให้การช่วยเหลืออยู่ ด้วยการทำให้เขาได้รู้จักกลางวันกลางคืนในชีวิตจริง

แต่ไม่ใช่ว่าการสอนกลางวันกลางคืนจะเพียงพอต่อการสร้างนิสัยการนอนที่ดีให้กับลูก เด็กทุกคนเกิดมาด้วยทักษะการนอนที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากสมองส่วนที่พัฒนาการนอนมาตั้งแต่เกิดไม่เท่ากัน บางคนเกิดมาก็นอนได้ดีไม่มีปัญหา บางคนก็มีปัญหาการนอนเยอะ จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนเรื่องนิสัยการนอน สอนวิธีการนอนให้ลูก ช่วยให้ลูกสามารถกล่อมตัวเองให้หลับได้ หรือที่เรียกว่า Self Soothe ซึ่งหากลูกไม่มีทักษะตรงนี้ ก็จำเป็นที่ต้องพึ่งคุณพ่อคุณแม่กล่อมนอนทุกครั้ง

คราวนี้คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะเอาที่ตัวเองสะดวก คิดว่าลูกนอนดึกก็ไม่เป็นไร ค่อยให้ลูกตื่นสายแทน ซึ่งจริงๆ มันขัดกับนาฬิกาธรรมชาติของมนุษย์ ตามธรรมชาติแล้ว นาฬิกาชีวิตของเด็กจะต้องตื่นเช้าและเข้านอนเร็ว ตอนเช้าเริ่มได้ตั้งแต่หกโมงเช้า และไม่ควรจะเกินเจ็ดโมงครึ่ง และกลางคืนของเด็กเริ่มได้ตั้งแต่หกโมงเย็นและไม่ควรเกินสองทุ่ม ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกง่วงตั้งแต่หกโมงเย็น ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะมันเป็นธรรมชาติของเขา

  ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เองจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงไม่ควรให้ลูกนอนดึก  เพราะมันเชื่อมโยงกันไปหมด หนึ่งคือนาฬิกาชีวิตรวน อย่างที่สองคือลูกจะไม่ได้รับฮอร์โมนที่ช่วยในการพักผ่อนเลย อย่างที่สามคือการสร้างนิสัยและวินัยการนอนที่ไม่ดีให้กับลูก

ความสำคัญของการนอน

เด็กแต่ละคนจะมีความสามารถในการกล่อมตัวเองไม่เหมือนกันใช่ไหม

ใช่ค่ะ โดยส่วนใหญ่เด็กมักจะดูดนิ้วแล้วหลับไป เพราะการดูดเป็นทักษะที่เขาเรียนรู้มาตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่แล้ว ตอนไปทำอัลตร้าซาวด์บางทีก็อาจจะเห็นลูกในท้องดูดนิ้ว แต่ก็จะมีเทคนิคอื่นๆ ด้วย เช่น ส่ายหัวไปมา ดูดผ้า หรือไม่เขาก็จะหาวิธีการเพื่อกล่อมให้ตัวเองนอนหลับได้

แต่ถ้าให้ลูกเข้านอนตามเวลาไม่ได้ การปล่อยให้ลูกนอนดึกตื่นสาย พอจะทดแทนการนอนเร็วตื่นเช้าได้ไหม

ตอบได้ไม่เต็มปาก ว่าสามารถทดแทนกันได้ไหม แต่ก็ดีกว่าไม่ได้นอนเลย คล้ายๆ กับที่พลอยยกตัวอย่างว่าผู้ใหญ่ทำงานกะดึก นอนเวลาที่ไม่ควรนอน ตื่นเวลาที่ไม่ควรตื่นมันก็จะคล้ายกัน ในระยะยาวก็จะมีเรื่องของความเหนื่อยสะสมที่เด็กจะได้รับผลกระทบ และก็ในเรื่องของการเรียนรู้ที่สมองไม่สามารถเปิดรับข้อมูลได้เต็มที่

ความจริงผู้ใหญ่เองก็ไม่ต่างกัน จันทร์ถึงศุกร์เราต้องตื่นไปทำงานก็จะนอนเร็ว พอศุกร์เสาร์เราก็นอนดึกตื่นสาย ช่วงแรกๆ ก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่พอนานเข้าก็เริ่มรู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลีย บางคนก็บอกว่าเป็นเพราะอายุมากขึ้น ซึ่งจริงๆ ไม่เกี่ยวกันเลย มันเป็นเพราะร่างกายของเราเหนื่อยสะสมจากการนอนไม่เป็นเวลามากกว่า

เราคุ้นเคยว่าเด็กจะต้องนอนกลางวัน ความจริงแล้วการนอนกลางวันกับการนอนกลางคืนเหมือนกันหรือเปล่า และประโยชน์ของการนอนกลางวันคืออะไร

การนอนกลางวันไม่ได้ต่างอะไรจากการนอนกลางคืนเลย เพราะมันจะมีช่วงหลั่ง growth hormone แล้วก็ช่วงการจัดเตรียมข้อมูลของสมองเหมือนกัน เพียงแค่ว่าการนอนกลางวันก็ต้องยาวนานเพียงพอให้ร่างกายเกิดกระบวนการเหล่านี้ได้ด้วย

เด็กทารกยังมี sleep pressure คือการตอบสนองของร่างกายที่ต้องการนอน หรือแรงกดดันที่ทำให้อยากนอนสูง เพราะฉะนั้นเขายังจำเป็นต้องนอนกลางวันเพื่อไม่ให้ร่างกายเหนื่อยมากเกินไป การที่เด็กเหนื่อยเกินไปหรือตื่นเป็นระยะเวลานานมากๆ มันจะเพิ่ม sleep pressure ให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นช่วงเวลานอนกลางวันของลูกก็จะช่วยปรับให้ sleep pressure ลดต่ำลงมา

ในช่วงแรกเกิด เด็กจะนอนกลางวันหลายรอบ หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงมา พอช่วงประมาณหนึ่งขวบก็จะลดลงอยู่ในระดับที่จัดการได้แล้ว พ่อแม่จะเริ่มเห็นว่าลูกต้องการนอนกลางวันเพียงรอบเดียว ซึ่งการนอนรอบเดียวก็ควรจะให้เพียงพอด้วย คือประมาณ 1-3 ชั่วโมง พอลูกเริ่มเข้าวัย 2-3 ขวบ เด็กบางคนอาจแสดงสัญญาณว่าไม่อยากนอนกลางวันแล้ว  หรือมีความพร้อมที่ไม่ต้องนอนกลางวันแล้ว แต่จะต้องดูด้วยว่าการที่ลูกไม่นอนกลางวัน มีผลเสียต่อการนอนกลางคืนตามมาไหม อย่างเช่น มีการตื่นกลางคืน หรือตื่นเช้ามืด ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็หมายความว่าลูกอาจจะยังไม่พร้อมที่จะลดรอบนอน

ไม่ใช่อยู่ๆ คิดว่าพอสองขวบครึ่งแล้วจะให้เลิกนอนกลางวันไปเลย แบบนี้ก็ไม่ใช่ อาจจะมีเด็กบางคนที่พร้อมในช่วงวัยนี้ เด็กบางคนอาจจะพร้อมตอนสามขวบครึ่งหรือสี่ขวบ ถึงจะลดการนอนกลางวันไปแบบถาวรได้

นอกจากการไม่ยอมนอน อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับอื่นๆ มีอะไรที่พ่อแม่ต้องกังวลเป็นพิเศษหรือเปล่า

อาการผิดปกติที่พ่อแม่ส่วนใหญ่รู้จักจะเป็น SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) คือการที่ทารกหลับและเสียชีวิตไปเลย ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นก็จะลดลงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เลยเป็นเหตุผลที่ WHO แนะนำให้พ่อแม่นอนกับลูกอย่างน้อยจ 6 เดือน และถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะให้ลูกนอนด้วยจนถึง 1 ขวบ ซึ่งโรคนี้ ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่สันนิษฐานว่ามันเกิดจากยีนในร่างกายของคนเราเอง

ถ้าในครอบครัวเคยมีคนเสียชีวิตด้วยโรคนี้ รุ่นต่อมาก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตด้วยโรคนี้เช่นกัน จึงมีคำแนะนำให้ลดความเสี่ยงต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กแทน เช่น ไม่สูบบุหรี่ใกล้เด็ก ให้เด็กนอนในเตียงที่ไม่มีผ้าห่ม หรือไม่มีวัตถุที่จะอุดจมูกเด็ก สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด SIDS ได้

แล้วก็มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ อันนี้ต้องสังเกตดีๆ ว่า ลูกหลับไปแล้ว อยู่ดีๆ ก็ตัวตื่นหายใจเฮือกเหมือนขาดอากาศหายใจหรือเปล่า แต่ต้องบอกก่อนว่าอาการนี้เปอร์เซ็นต์การเจอประมาณ 1-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และก็จะมี Parasomnia หรือพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ อย่าง Sleep walking, Sleep terrors, Nightmare ที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ค่อนข้างเยอะ แต่ก็ไม่ได้มีอันตรายขนาดนั้น เพราะการที่เด็กลุกขึ้นมาเดิน หรืออยู่ดีๆ ก็กรี๊ดขึ้นมาระหว่างหลับ ต้องเข้าใจว่าลูกกำลังหลับอยู่ในเฟสที่ลึกมาก ส่วนใหญ่พ่อแม่เห็นแล้วก็จะพยายามไปปลุกลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำนะ

แต่หากลูกมีอาการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ควรดูเรื่องความปลอดภัยภายในบ้านก่อนเป็นอันดับแรก เช่น บ้านของเรามีบันไดหรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องหาอะไรมาปิด ดูประตูว่าล็อกเรียบร้อยดีหรือยัง เพื่อกันไม่ให้ลูกเดินออกจากบ้านไป

แต่สิ่งสำคัญคืออาการเหล่านี้มักจะรุนแรงขึ้นหากพ่อแม่ให้ความสนใจ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานานก็สามารถกระตุ้นให้เด็กเกิดอาการได้เช่นกัน

แสดงว่าหนึ่งในสาเหตุของอาการผิดปกติระหว่างนอนหลับ ก็มาจากการนอนที่ไม่เพียงพอ

ใช่ค่ะ ถามว่ามันเป็นอะไรที่เป็นอันตรายสำหรับเด็กไหม มันไม่ได้อันตรายถึงชีวิตในทางตรงนะ ยกเว้นลูกเริ่มมีการทำร้ายตัวเองขณะหลับ อันนี้อาจจะต้องเข้าไปปรึกษาคุณหมอ ต้องทำ sleep test อาจจะต้องใช้ยาหรือต้องมีการรักษาต่างๆ แต่ถ้าเป็น sleep walking ทั่วไป อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการนอนที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ก็ sleep cycle ด้วย เพราะเวลาที่คนเราหลับจะไม่ได้หลับยาวไปทั้งคืน ร่างกายเราจะมีวัฏจักรการนอนที่เป็นช่วงเป็นช่วงแล้วต่อไปเรื่อยๆ เวลาที่ไซเคิลหนึ่งจบ ก็จะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาช่วงเวลานิดนึง ด้วยความที่ผู้ใหญ่มีทักษะการนอนที่สูงแล้ว ทำให้ตื่นไม่กี่วินาทีก็นอนต่อได้ และบางทีก็จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตื่นขึ้นมาตอนไหน แต่ทักษะการนอนของเด็กยังพัฒนาไม่ดีพอ ช่วงที่เปลี่ยนไซเคิล เด็กก็อาจจะร้องไห้ขึ้นมา แต่พอผ่านไปสักพัก เขาก็จะสามารถนอนต่อได้ เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้จึงเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กมากๆ

แล้วการทำ sleep test จำเป็นกับเด็กหรือไม่ หรือพ่อแม่จะมีวิธีแก้ไขเรื่องการนอนของลูกได้อย่างไร

หลักๆ ก็จะมาจากการสังเกตของพ่อแม่ก่อน เพราะรูปแบบการนอนของเด็กที่ยังจัดการได้ และยังไม่มี Sleep disorders หรือโรคต่างๆ เกี่ยวกับการนอนมากนักส่วนใหญ่ปัญหาการนอนของเด็กมักจะเกิดจากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้สร้างนิสัยการนอนที่ดีให้กับลูกตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ว่าควรทำยังไงในการสร้างวินัยการนอนที่ดีให้กับลูก หรือมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็อาจมีกระทบต่อการนอนได้

 เช่น เด็กบางคนเป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งกรดไหลย้อนจะกระทบการนอนโดยตรง ถ้าจะให้การนอนดีขึ้น ก็ต้องไปรักษาโรคนี้ให้ดีขึ้นก่อน

แต่บางทีพอเราเริ่มลงรายละเอียดและติดตามไปเรื่อยๆ มันก็มีสัญญาณบางอย่างที่บอกว่าน้องมีปัญหาการนอนที่เกี่ยวข้องกับ Sleep disorders ซึ่งพลอยก็จะแนะนำให้ไปปรึกษากับคุณหมอ

sleep disorders ในเด็กอาจจะไม่ชัดเจน แต่ก็สามารถเป็นปัญหาในระยะยาวได้

ใช่ค่ะ เพราะว่าเด็กที่เป็น sleep disorders ตั้งแต่เกิดมีน้อยมาก แต่มักจะมีสาเหตุจากอะไรบางอย่าง อย่างผู้ใหญ่ที่นอนไม่หลับ ส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากการจัดการความเครียดได้ไม่ดี การใช้หน้าจอก่อนนอน หรือไม่มีกิจวัตรก่อนนอนที่ดีก็ล้วนส่งผลต่อการนอนได้

ส่วนเด็กเองก็เหมือนกัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่วางพื้นฐานการนอนที่ดีให้ ในระยะยาวก็อาจจะแสดงสัญญาณปัญหาการนอนตามมา

ปัญหาการนอนของเด็ก

แต่ปัญหาโลกแตกของพ่อแม่ โดยเฉพาะลูกในวัยเด็กเล็ก คือการที่ลูกไม่ยอมนอน แล้วทำไมเด็กถึงไม่ชอบนอน และจะทำอย่างไร

สิ่งสำคัญที่พลอยจะบอกคุณพ่อคุณแม่เสมอ คือเด็กมีหน้าที่ทดสอบลิมิตของตนเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำคือความสม่ำเสมอ เพราะเด็กเขาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่สม่ำเสมอ เด็กก็จะเข้าใจว่าเขายังไปต่อได้อีก เพราะฉะนั้นคำว่าสม่ำเสมอเลยสำคัญมาก

อย่างที่สองคือการกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจน เราให้อิสระกับลูกได้ แต่จะต้องคุยกับเขา มาช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ร่วมกัน เช่น กิจวัตรก่อนนอน เรากำหนดกับเขาว่าทำอะไรก่อน ทำอะไรต่อ และ ลำดับต่อไปเราจะนอน เพื่อให้เขาเห็นภาพและเกิดความเข้าใจร่วมกัน

ข้อต่อมาเป็นเรื่องการเตือน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการดุ แต่หมายถึงการบอกล่วงหน้า เช่น อีกห้านาที เราไปแปรงฟันกันนะ เดี๋ยวอ่านหนังสือกันอีกหนึ่งหน้าแล้วไปนอนนะ นี่คือการบอกล่วงหน้าให้เขารู้ก่อน จะทำให้ลูกเตรียมตัวเตรียมใจและพร้อมที่จะปฏิบัติตาม

สิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือการสอนให้ลูกรู้จักผลลัพธ์ของการที่เขาไม่ทำตามที่ตกลง สมมติลูกไม่ยอมกินข้าว คุณแม่ก็อาจจะเตือนว่าถ้าหนูไม่กินข้าว หนูจะไม่ได้กินอะไรเลยจนกว่าจะถึงเวลาของว่างในมื้อถัดไป ซึ่งคุณแม่ก็ต้องจริงจัง เพื่อให้ลูกรู้ว่าผลลัพธ์ที่เขาจะได้เป็นอย่างไร

รูปแบบการนอนของเด็กกับผู้ใหญ่แตกต่างกันหรือไม่

เด็กจะมีรูปแบบการนอนที่ต่างกับผู้ใหญ่ลิบลับในช่วงแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตว่าสามเดือนแรกลูกนอนได้ดี แต่พอเข้าเดือนที่สี่ ลูกจะเริ่มตื่นบ่อย เพราะรูปแบบการนอนของเด็กเริ่มคล้ายกับของผู้ใหญ่มากขึ้น มีช่วงที่รู้สึกตัวตื่นได้ง่าย และเด็กยังไม่มีทักษะกล่อมตัวเองได้ดีพอที่จะหลับต่อได้โดยง่าย และพอเข้าสู่ช่วงหนึ่งขวบ รูปแบบการนอนของเด็กก็จะใกล้เคียงกับผู้ใหญ่มากขึ้น

แม่ๆ ส่วนมากจะรู้จักการเอาลูกเข้านอนด้วยเทคนิค Cry it out อยากทราบว่ามีเทคนิคอื่นๆ เป็นทางเลือกอีกหรือไม่

ทฤษฎีการฝึกลูกนอนมีเยอะมากๆ และส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่ก็มักฝันถึงวิธีที่ลูกจะเข้านอนได้โดยไม่ร้องไห้ เพราธรรมชาติของพ่อแม่ เมื่อได้ยินเสียงลูกร้องไห้ ฮอร์โมนความเครียดจะสร้างขึ้นมาอัตโนมัติ คือได้ยินเสียงลูกคนอื่นร้องไห้ยังไงก็ไม่เหมือนกับลูกตัวเองร้องต้องอธิบายก่อนว่าการร้องไห้ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก เด็กสามารถร้องไห้ด้วยสารพัดสาเหตุ ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติการร้องไห้ของเด็ก ก็จะตอบสนองการร้องไห้ของลูกไม่ถูกวิธี

สิ่งที่พลอยแนะนำคือ คุณพ่อคุณแม่ควรหยุดฟังก่อน และลองสังเกตดูว่าการร้องแต่ละครั้งของลูกร้องเหมือนกันหรือเปล่า ไม่ใช่ลูกร้องก็รีบเอานมให้ หรือเอาเข้าเต้าทันที การทำแบบนี้จะปิดการสื่อสารกับเด็ก โดยงานวิจัยจากต่างประเทศบอกว่า การทำอย่างนั้นจะทำให้เด็กที่เคยร้องด้วยโทนเสียงที่ต่างกันในแต่ละสาเหตุ เลือกที่จะร้องโทนเสียงเดียวกันหมด เพราะเด็กคิดว่า ไม่ว่าจะร้องด้วยโทนแบบไหนยังไงผลลัพธ์ก็ได้แบบเดิมอยู่ดี เลยไม่รู้จะสื่อสารกับพ่อแม่ยังไง

ซึ่งจริงๆ การร้องไห้มันเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นการบำบัดตัวเอง ไม่ใช่ว่าพลอยสนับสนุนให้ปล่อยให้ลูกร้อง แต่อาจจะต้องเข้าใจใหม่ว่าเราควรจะหยุดฟังลูกสักนิดหนึ่งก่อนว่าเขาน่าจะร้องด้วยสาเหตุอะไร

องค์กร American academy of pediatrics (AAP) เขาก็ได้วิจัยหาเหตุผลการร้องไห้ของเด็กว่ามีการเชื่อมโยงอะไรกับการนอนหรือเปล่า เพราะเด็กมักจะร้องไห้ก่อนนอนประมาณ 1-2 นาที ถึงจะหลับได้ ซึ่งเขาบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนเด็กรับข้อมูลในช่วงที่ตื่น และเป็นข้อมูลที่เยอะมาก เด็กเลยจำเป็นต้องทำให้ตัวเองสบายก่อนถึงจะหลับได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ปล่อยให้เขาร้องไห้นานต่อเนื่องยาวนาน ติดต่อกันหลายวัน ก็ไม่ได้มีผลเสียอะไรกับลูกอยู่แล้ว

ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าวิธีการไหนที่เราควรใช้ เรามักจะเลือกวิธีที่เราสบายใจมากที่สุด ซึ่งวิธีที่สบายใจมันอาจจะใช้ไม่ได้ผลกับลูกของเรา เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมมีสายงานนี้เกิดขึ้นมา เพื่อจะช่วยวิเคราะห์ว่าเด็กนิสัยแบบนี้ วิธีการฝึกแบบไหนน่าจะใช้ได้ผล เพื่อช่วยซัปพอร์ต และตอบคำถามด้วยงานวิจัยต่างๆ ยืนยันกับพ่อแม่ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันมีประโยชน์ต่อลูกจริงๆ

 

หากคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนสนใจอยากปรึกษาเรื่องปัญหาการนอนของเด็ก สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://snoozecoaching.com เพื่อพูดคุยและปรึกษาจากคุณพลอยได้เลยค่ะ

 

สัมภาษณ์วันที่ 8 กรกฎาคม 2564

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST